ฟอสโฟมัยซิน (Fosfomycin)

ฟอสโฟมัยซิน (Fosfomycin)

Fosfomycin (ฟอสโฟมัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งที่แพทย์ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) มีภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ (Urinary Tract Infection) หรือโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะชนิดอื่น โดยยาจะทำงานโดยการออกฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรียและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ทั้งนี้ แม้ยาฟอสโฟมัยซินจะเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรีย แต่ยานี้ไม่สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสได้ เช่น โรคไข้หวัด (Common Cold) และโรคไข้หวัดใหญ่ (Flu)

ฟอสโฟมัยซิน (Fosfomycin)

เกี่ยวกับยา Fosfomycin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ กำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานและยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ผู้ที่ต้องใช้ยา Fosfomycin จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

คำเตือนในการใช้ยา Fosfomycin

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Fosfomycin ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • ก่อนใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะยานี้
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตขั้นรุนแรง และผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในช่วงฟอกไตไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) หรือผู้ที่มีโรคที่ต้องควบคุมการบริโภคน้ำตาล หรือแอสปาร์แทม (Aspartame) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจ ตับ ไต หรือมีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะระดับฮอร์โมนแอลโดสเตอโรนสูง (Aldosterone) ภาวะโซเดียมในร่างกายสูง หรือมีของเหลวสะสมอยู่ในปอด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
  • ในระหว่างที่ได้รับยานี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางคนจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง 
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้
  • เด็กที่ใช้ยานี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย
  • ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนขณะใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ผู้ใช้ยานี้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟันควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบก่อน
  • ผู้ที่ใช้ยานี้แล้วเกิดอาการในลักษณะ ปวดบริเวณสีข้าง ปวดหลังบริเวณเอว มีไข้ และหนาวสั่น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ยา Fosfomycin อาจส่งผลให้ผู้ใช้เกิดอาการเวียนศีรษะ ผู้ที่ใช้ยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะต่าง ๆ หรือการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Fosfomycin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Fosfomycin จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

การติดเชื้อบริเวณกระดูกและข้อต่อ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะแบบซับซ้อน (Complicated Urinary Tract Infection) การติดเชื้อปอดบวมจากสถานพยาบาล และกระดูกอักเสบ

ตัวอย่างการใช้ยา Fosfomycin เพื่อรักษาการติดเชื้อบริเวณกระดูกและข้อต่อ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะแบบซับซ้อน (Complicated Urinary Tract Infection) การติดเชื้อปอดบวมจากสถานพยาบาล และกระดูกอักเสบ ได้แก่

ผู้ใหญ่ ในกรณีที่แพทย์เห็นว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาขั้นเบื้องต้น แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 12–24 กรัม/วัน โดยจะแบ่งปริมาณเป็น 2–3 ครั้ง แต่จะไม่เกิน 8 กรัม/ครั้ง ทั้งนี้ ระยะเวลาการรักษาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ชนิดของเชื้อ และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย

เด็กที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่น้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมเป็นต้นไป แพทย์จะให้ยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่

เด็กที่อายุ 1–12 ปี ที่น้ำหนักตัวระหว่าง 10–40 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200–400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3–4 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่อายุระหว่าง 1–12 สัปดาห์ ที่น้ำหนักตัวต่ำกว่า 10 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200–300 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่อายุระหว่าง 40–44 สัปดาห์ โดยนับอายุตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่อายุต่ำกว่า 40 สัปดาห์ โดยนับอายุตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 2 ครั้ง/วัน

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial Meningitis)

ตัวอย่างการใช้ยา Fosfomycin เพื่อรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย ได้แก่

ผู้ใหญ่ ในกรณีที่แพทย์เห็นว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาขั้นเบื้องต้น แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 16–24 กรัม/วัน โดยจะแบ่งปริมาณเป็น 3–4 ครั้ง แต่จะไม่เกิน 8 กรัม/ครั้ง ทั้งนี้ ระยะเวลาการรักษาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ชนิดของเชื้อ และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย

เด็กที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่น้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมเป็นต้นไป แพทย์จะให้ยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่

เด็กที่อายุ 1–12 ปี ที่น้ำหนักตัวระหว่าง 10–40 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200–400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3–4 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่อายุระหว่าง 1–12 สัปดาห์ ที่น้ำหนักตัวต่ำกว่า 10 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200–300 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่อายุระหว่าง 40–44 สัปดาห์ โดยนับอายุตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 3 ครั้ง/วัน

เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่อายุต่ำกว่า 40 สัปดาห์ โดยนับอายุตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แพทย์จะฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำในปริมาณ 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแพทย์จะแบ่งปริมาณยาและให้ยา 2 ครั้ง/วัน

ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบฉับพลันที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ตัวอย่างการใช้ยา Fosfomycin เพื่อรักษาภาวะภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบฉับพลันที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

เด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ แพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณ 3 กรัม เพียงครั้งเดียว

การป้องกันภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ตัวอย่างการใช้ยา Fosfomycin เพื่อป้องกันภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ ได้แก่

ผู้ใหญ่ แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาในปริมาณ 3 กรัม ก่อนการผ่าตัดหรือการตรวจบริเวณทางเดินปัสสาวะ 3 ชั่วโมง และอาจให้รับประทานยาอีกครั้งในปริมาณ 3 กรัม หลังจากการผ่าตัดหรือการตรวจบริเวณทางเดินปัสสาวะ 24 ชั่วโมง

การใช้ยา Fosfomycin

ผู้ที่ใช้ยา Fosfomycin ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่เพิ่มหรือลดปริมาณยาเอง และไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาชนิดรับประทาน ผู้ป่วยควรรับประทานยาในตอนที่ท้องว่าง หรืออย่างน้อย 2–3 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร หรือหากเป็นไปได้ อาจเลือกรับประทานยาเป็นช่วงก่อนเข้านอน แต่ควรเป็นช่วงหลังจากที่ปัสสาวะแล้ว

หากลืมรับประทานยา ให้ผู้ป่วยรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไปได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากลืมรับประทานยาบ่อย ๆ

ควรเก็บยา Fosfomycin ให้พ้นมือเด็ก เก็บรักษาไว้ในที่แห้ง หลีกเลี่ยงความร้อน แสง และความชื้น และไม่ควรใช้ยาหากยาหมดอายุ

ปฏิกิริยาระหว่างยา Fosfomycin กับยาอื่น

ก่อนใช้ยา Fosfomycin ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากกำลังใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ยาดอมเพอริโดน (Domperidone) ยาเบททานีคอล (Bethanechol) ยาซิซาไพรด์ (Cisapride) และยาต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการท้องผูก

ทั้งนี้ ยังมียาชนิดอื่น ๆ เช่นกันที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของยา Fosfomycin ดังนั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ และยารักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ อยู่ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเช่นกัน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Fosfomycin 

การใช้ยา Fosfomycin อาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนเกิดผลข้างเคียงได้ โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และคันช่องคลอด ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากพบอาการดังกล่าวและอาการไม่ดีขึ้นหรือหายไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากใช้ยาแล้วเกิดอาการรุนแรง เช่น

  • อาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น เวียนศีรษะรุนแรง หายใจไม่ออก หรือบริเวณใบหน้า ลิ้น และคำคอเกิดอาการบวมหรือคัน
  • ท้องเสียรุนแรงอย่างเรื้อรัง หรืออุจจาระปนเลือด ที่เกิดร่วมกับอาการปวดท้องและมีไข้ 
  • ปวดท้องรุนแรง
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • ผิวหนังและดวงตาเป็นสีเหลือง
  • ขาและข้อเท้าบวม
  • อ่อนเพลียรุนแรง
  • อาการต่าง ๆ ที่เกียวกับการมองเห็น