COVID-19 กับสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทราบ

COVID-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกอาจทำให้คุณแม่มือใหม่กังวลเรื่องสุขภาพทั้งตนเองและลูกในท้องอยู่ไม่น้อย รวมทั้งอาจสงสัยในหลายประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตรในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19

โดยทั่วไปแล้ว เชื้อไวรัส COVID-19 สามารถแพร่กระจายผ่านการสูดเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสปะปนจากผู้ติดเชื้อที่จามหรือไอออกมา หรือสัมผัสพื้นผิวและสิ่งของที่ปนเปื้อนไวรัสจากผู้ติดเชื้อ หากเกิดการติดเชื้อจะส่งผลให้เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต แล้วความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์และคุณแม่ให้นมบุตรนั้นแตกต่างจากบุคคลทั่วไปหรือไม่

2541-COVID-19-pregnant-women

คุณแม่ตั้งครรภ์เสี่ยงติด COVID-19 มากกว่าคนปกติหรือไม่ ?

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่มีข้อมูลค่อนข้างจำกัด แต่จากการศึกษาไวรัสในตระกูลเดียวกับ COVID-19 และไวรัสที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายอย่างเชื้อไข้หวัดใหญ่พบว่า ผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงได้สูงหากเกิดอาการติดเชื้อ และการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงขณะตั้งครรภ์มีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อบางชนิด อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ที่กำลังตั้งครรภ์มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนหรือมีความรุนแรงของโรคมากกว่าคนทั่วไปหรือไม่

โดยทั่วไป อาการหลักของผู้ติดเชื้อ COVID-19 จะมีไข้ ไอแห้ง อ่อนเพลีย ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 2-14 วัน แต่บางรายก็อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจไม่อิ่ม เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว น้ำมูกไหล ท้องเสีย อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น หายใจลำบาก เจ็บหรือแน่นบริเวณหน้าอกอย่างต่อเนื่อง ไข้สูง หรือรู้สึกมึนงง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

คุณแม่ตั้งครรภ์ติด COVID-19 เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือไม่ ?

ข้อมูลอ้างอิงจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา (CDC) ยังไม่พบว่าเชื้อไวรัส COVID-19 นั้นเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตรหรือเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างความพิการของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่าการได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะเป็นสาเหตุสำคัญของการคลอดก่อนกำหนด

จากการศึกษาการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกับเชื้อโควิด-19 เช่น เชื้อไวรัสซาร์ส (SARS) หรือเชื้อไวรัสเมอร์ส (MERS) คาดว่าแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้สูง อย่างการคลอดก่อนกำหนด แต่ด้วยข้อมูลที่มีจำกัดอาจไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด และการติดเชื้อไวรัส COVID-19 อาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรงได้เช่นกัน

คุณแม่ตั้งครรภ์ติด COVID-19 จะทำให้ลูกจะติดด้วยไหม ?

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามารดาตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยโรคโควิด 19 สามารถส่งผ่านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์หรือทารกขณะทำการคลอด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจทารกที่เกิดจากผู้ป่วยโควิด 19 พบว่าทารกไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และไม่พบไวรัสในตัวอย่างของน้ำคร่ำหรือน้ำนม แต่เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ยังคงต้องรอการศึกษาในคนจำนวนมากเพิ่มเติมต่อไป

คุณแม่ที่ติด COVID-19 ให้นมลูกได้หรือไม่ ?

โดยปกติการให้นมบุตรในคุณแม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแม่ ร่วมกับครอบครัวและแพทย์เพื่อความปลอดภัย โดยในขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาที่พบการปนเปื้อนเชื้อไวรัสในน้ำนมของมารดาหรือการแพร่เชื้อไวรัสผ่านการให้นม แต่หากมารดาได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นผู้ป่วย COVID-19 หรือเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สงสัยต้องเฝ้าระวังต้องการให้นมแม่ด้วยตนเอง ควรป้องกันการแพร่เชื้อสู่ทารกด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสลูกน้อยเพื่อให้นมแม่ ก่อนการสัมผัสบรรจุภัณฑ์หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการปั๊มนม รวมไปถึงการทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยวิธีที่ถูกต้องตามคำแนะนำ หากเป็นไปได้ควรให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงป้อนนมที่ปั๊มเก็บไว้แก่ทารก

คุณแม่ตั้งครรภ์กับการรับมือ COVID-19

ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสและป้องกันการแพร่เชื้อได้ ดังนี้

  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาทีหลังกลับจากสถานที่สาธารณะหรือหลังการสั่งน้ำมูก ไอ และจาม หากไม่สะดวกในการล้างมือด้วยวิธีดังกล่าวสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่า 60% ทำความสะอาด โดยชโลมให้ทั่วมือและถูจนกว่าจะแห้ง
  • ขณะไอหรือจาม ควรปิดปากและจมูกด้วยทิชชู่หรือข้อพับแขนของตนเอง หลังจากนั้นทิ้งทิชชู่ลงในถังขยะและล้างมือทันที
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา ปาก หรือจมูกก่อนการทำความสะอาดมือ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรืออยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
  • เว้นระยะห่างระหว่างตนเองและผู้อื่นหากกำลังมีการระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่
  • หากมีอาการไอหรือไข้หวัดที่ไม่รุนแรง ควรงดการออกจากบ้านและหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น
  • ควรดื่มน้ำและพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง

ทั้งนี้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีไข้ ไอ เป็นผู้ที่อาศัยอยู่หรือเพิ่งกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายและเพื่อให้แพทย์สามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจและการวินิจฉัยได้

อย่างที่ทราบกันดี ไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบ คุณแม่ควรติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำ พร้อมศึกษาวิธีการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และข้อมูลอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์