ทำความรู้จัก Asexual บุคคลผู้ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ

Asexual เป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศหรือไม่ปรารถนาที่จะมีเพศสัมพันธ์กับใคร บางคนอาจไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ (Sexual Attraction) เลยหรืออาจมีน้อย โดย Asexual เป็นรสนิยมทางเพศรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกันกับเกย์ เลสเบี้ยน หรือไบเซ็กชวล Asexual จึงเป็นตัวแทนของตัวอักษร A ในกลุ่มบุลคลที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIA+ 

หลายคนในสังคมเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์และชีวิตคู่เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ คนที่ไม่ฝักใฝ่ในเรื่องเพศอย่าง Asexual จึงอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจเนื่องจากถูกตัดสินว่ามีความผิดปกติหรือบกพร่องในเรื่องทางเพศ บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลที่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนของ Asexual มากยิ่งขึ้น รวมถึงคำแนะนำสำหรับชีวิตคู่และความสัมพันธ์ของ Asexual

ทำความรู้จัก Asexual บุคคลผู้ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ

Asexual คืออะไร

ผู้ที่เป็น Asexual อาจมีความสนใจในการมีความสัมพันธ์ทางเพศน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งเป็นรสนิยมทางเพศแบบหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อาการป่วย หรือความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจแต่อย่างใด 

แม้ Asexual จะไม่ฝักใฝ่ในเรื่องทางเพศ แต่ Asexual บางคนก็อาจยังมีความรู้สึกในเชิงโรแมนติกกับคนอื่นและปรารถนาที่จะมีคนรัก ซึ่งความสัมพันธ์ทางกายรูปแบบอื่นนั้นสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ Asexual แทนได้เช่นกัน เช่น การกอด หรือการสัมผัส ในขณะที่ Asexual บางคนอาจไม่สนใจทั้งเรื่องเซ็กส์และเรื่องรักเลย โดยอาจสบายใจที่จะอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัวมากกว่ามีคนรักหรือครอบครัว

อย่างไรก็ตาม คนที่เป็น Asexual ยังมีความต้องการทางเพศได้ตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งบางคนอาจใช้วิธีการช่วยตัวเองเพื่อจัดการกับอารมณ์ทางเพศ หรือบางคนก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ อาจเพราะต้องการมีลูก สร้างความพึงพอใจให้กับคนรัก หรือเหตุผลอื่น ๆ สิ่งสำคัญคือ Asexual แต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน บางคนอาจไม่สนใจเรื่องเซ็กส์ แต่บางคนก็อาจรู้สึกเพลิดเพลินกับมันได้เช่นกัน

สุขภาพจิตของ Asexual 

คู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตเคยให้ข้อมูลไว้ว่าภาวะขาดความต้องการทางเพศถือเป็นอาการป่วยรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 2013 ได้มีการแก้ไขข้อมูลใหม่ว่า ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจิตแม้จะไม่มีความต้องการทางเพศก็ไม่ถือว่าเป็นอาการป่วยแต่อย่างใด แต่ข้อมูลเก่ายังคงมีผลต่อความเชื่อของคนในปัจจุบัน ว่าบุคคลที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่นหรือ Asexual เป็นคนที่มีความบกพร่องทางเพศ 

จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ Asexual บางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเยาวชนได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีผลสำรวจพบว่ากลุ่ม Asexual ต้องประสบกับภาวะเครียด ความวิตกกังวล ความไม่มั่นใจในตัวเอง ความรู้สึกแปลกแยก รวมไปถึงความคิดอยากฆ่าตัวตาย ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือบางคนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเพศ เช่น การข่มขืน เนื่องจากผู้กระทำผิดคิดว่าเซ็กส์สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนรสนิยมทางเพศได้ 

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือหน่วยบริการทางสุขภาพจิตสำหรับเพศหลากหลายยังมีน้อยและเข้าถึงได้ยาก ทำให้ปัญหาดังกล่าวยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มมีการพัฒนาคลินิกสุขภาพสำหรับเพศหลากหลายให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น โดยสามารถเข้ารับบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตได้ที่

  • คลินิกสุขภาพเพศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร. 0-2256-5286
  • คลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร. 0-2201-2799
  • คลินิกสุขภาพเพศหลากหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) โรงพบาบาลในสังกัดของสำนักการแพทย์

แนวทางสำหรับ Asexual เพื่อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

เพื่อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน การพูดคุย ทำความเข้าใจ และกำหนดขอบเขตในความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญและส่งผลดีต่อคู่รักทั้งสองฝ่าย เช่น Asexual บางคนอาจเต็มใจที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนรักได้โดยกำหนดความบ่อยตามความสบายใจของทั้งสองฝ่าย บางคนอาจสบายใจแค่การสัมผัสร่างกายกันอย่างเดียว หรืออาจกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันของทั้งคู่

นอกจากนี้ เรื่องเพศเป็นประเด็นที่ไม่ได้เปิดกว้างนักสำหรับบางครอบครัว พ่อแม่บางคนอาจยังไม่เข้าใจและมีความกังวลหรือเป็นห่วงหากพบว่าลูกเป็น Asexual จึงอาจค่อย ๆ เริ่มอธิบายให้ครอบครัวหรือคนรอบตัวฟัง เพื่อให้พวกเขาสบายใจว่าการไม่มีแรงดึงดูดทางเพศนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หากพูดคุยแล้วแต่ยังรู้สึกเครียด หรือมีความกังวล อาจลองไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาที่เหมาะสม