8 โทษของกัญชาที่ควรรู้เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

โทษของกัญชาต่อสุขภาพมีหลายประการ ถึงแม้ว่ากัญชาจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลาย ๆ ด้าน แต่กัญชาก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพบางประการได้ เช่น ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับสมอง หัวใจ ทางเดินหายใจ จึงควรใช้กัญชาอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันโทษที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

กัญชาเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) กว่าหลายร้อยชนิด เช่น สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) และสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol: CBD)โดยในปัจจุบัน กัญชามักถูกนำมาใช้ในหลาย ๆ ด้าน รวมไปถึงการถูกนำมาใช้รักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่นลดอาการปวด โรคลมชัก โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)

7 โทษของกัญชา

โทษของกัญชาต่อสุขภาพที่ควรรู้

ในปัจจุบันกัญชาถูกปลดล็อกออกจากรายชื่อยาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประชาชนจึงสามารถปลูก สูบ หรือใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นกัญชา รวมทั้งกากและยางกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่การใช้สารสกัดกัญชาที่มีสาร THC เกิน 0.2% และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอางหรืออาหาร ไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นยาเสพติด

นอกจากนั้น ห้ามไม่ให้จำหน่าย จ่าย แจกกัญชาให้แก่เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร ผู้ที่ฝ่าฝืนอาจมีความผิดตามกฎหมายได้

ทั้งนี้ แม้ว่าการใช้กัญชาภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายจะสามารถทำได้แล้วในประเทศไทย แต่ผู้ใช้ควรพิจารณาการใช้กัญชาอย่างระมัดระวังเพราะอาจก่อให้เกิดโทษของกัญชาตามมาได้ ซึ่งโทษของกัญชาต่อสุขภาพมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และมีหลากหลายด้าน ดังนี้

1. ทำให้เกิดอาการเมากัญชา

อาการเมากัญชาอาจเป็นโทษของกัญชาที่ควรระวัง โดยร่างกายอาจดูดซึมสาร THC จากกัญชาเข้าสู่เลือด เมื่อเลือดไหลเวียนไปที่สมองหรืออวัยวะอื่น ๆ อาจทำให้เกิดอาการเมากัญชาได้ ซึ่งอาการเมากัญชามักเกิดขึ้นในระยะสั้นและแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เช่น 

  • มีปัญหาด้านการทรงตัว
  • ตอบสนองช้าลง มีปัญหาด้านความจำและการตัดสินใจ
  • คลื่นไส้
  • สับสน มึนงง ง่วงซึม
  • วิตกกังวล หวาดระแวง
  • ความดันโลหิตลดลง
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ตาแดง
  • มองเห็นภาพหลอน

2. เพิ่มความรุนแรงของความผิดปกติทางจิตใจต่าง ๆ

การใช้กัญชาอาจทำให้อาการความผิดปกติทางจิตใจรุนแรงยิ่งขึ้นสูง โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการของโรคจิตเภทยู่แล้ว ซึ่งโรคจิตเภทเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางความคิด โดยกัญชาอาจส่งผลให้ความรู้สึกต่าง ๆ รุนแรงขึ้น เช่น หวาดระแวง หูแว่ว แยกไม่ออกระหว่างความจริงและภาพหลอน โดยโทษของกัญชาในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้กัญชาในปริมาณมากเป็นประจำ

นอกจากนี้ การใช้กัญชายังอาจทำให้อาการโรคทางจิตเวทอื่น ๆ รุนแรงขึ้นเช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือการพยายามฆ่าตัวตาย

3. เสพติดกัญชา

อีกหนึ่งโทษของกัญชาคือการเสพติดกัญชา โดยอาการเสพติดกัญชามักเกิดในผู้ที่เริ่มใช้กัญชาตั้งแต่วัยรุ่น หรือผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำ เมื่อไม่ได้ใช้กัญชาระยะหนึ่ง อาจก่อให้เกิดอาการถอนยาต่าง ๆ เช่น หงุดหงิด เบื่ออาหาร หรืออารมณ์แปรปรวน

นอกจากนี้ การใช้กัญชาหรือการเสพติดกัญชาอาจเพิ่มโอกาสในการติดสารเสพติดอื่น ๆ อีกด้วย

4. พัฒนาการของสมองลดลง

การใช้กัญชาหรือการสูดดมควันจากกัญชาในเด็กและวัยรุ่นที่สมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ อาจเกิดโทษของกัญชาต่อพัฒนาการของสมองได้ โดยอาจส่งผลให้การทำงานของสมองลดลง เช่น มีปัญหาด้านความจำ เรียนรู้ได้ช้า โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในระยะยาว หรืออาจเกิดขึ้นนานตลอดชีวิตก็ได้เช่นกัน

5. เกิดปัญหาเกี่ยวกับความจำ สมาธิ และการตัดสินใจ 

การใช้กัญชาอาจส่งผลให้เกิดโทษของกัญชาในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับความจำ ไม่มีสมาธิ ความสามารถในการจดจ่อและการตัดสินใจลดลง โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้กัญชาติดต่อกันเป็นเวลานาน และใช้กัญชาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่น ๆ

6. เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

การใช้กัญชาผ่านการสูบอาจก่อให้เกิดโทษของกัญชาเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ โดยอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อปอดและลำคอ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับปอด เช่น หืด หลอดลมอักเสบ หรือถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ การใช้กัญชายังอาจมีสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นสารก่อมะเร็ง และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้ 

7. เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจวาย

โรคหัวใจวายอาจเป็นหนึ่งในโทษของกัญชาที่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสาร THC ในกัญชาอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว และลดระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจวายหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน รวมไปถึงโรคหลอดเลือดสมองได้ 

นอกจากนี้ การใช้กัญชายังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน 

8. ส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์

การใช้กัญชาในช่วงตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ได้ สารเคมีต่าง ๆ ในกัญชา โดยเฉพาะสาร THC อาจเข้าสู่ร่างกายของทารกในครรภ์ผ่านรก และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ เช่น น้ำหนักแรกเกิดน้อย คลอดก่อนกำหนด ระบบประสาทผิดปกติ สมาธิสั้น มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ และปัญหาด้านพฤติกรรมอื่น ๆ เมื่อเด็กเติบโตขึ้น 

ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ รวมไปถึงผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาเพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ 

ถึงแม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์ต่อการรักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ แต่ก็ยังคงมีโทษของกัญชาต่าง ๆ ที่ควรระมัดระวัง ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการใช้กัญชาหรือกำลังมีปัญหาสุขภาพใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้กัญชา โดยแพทย์อาจช่วยแนะนำปริมาณหรือวิธีการใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ที่ต้องการใช้กัญชา