น้ำมันกัญชา เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการใช้ทางการแพทย์

น้ำมันกัญชา (CBD Oil) เป็นสารสกัดจากช่อดอกกัญชาประกอบด้วยสารแคนนาบินอยด์  (Cannabinoid) และเทอร์ปีน (Terpene) ที่มีความเข้มข้น และใช้ตัวทำละลายเป็นน้ำมัน เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน และน้ำมันถั่วลิสง 

ในปัจจุบันมีการนำน้ำมันกัญชามาใช้รักษาผู้ป่วยบางกลุ่มตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากกัญชาประกอบด้วยสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) หลายชนิด โดยสารสำคัญที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มี 2 ชนิดคือ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) และสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol: CBD)

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์

พืชกัญชาแต่ละสายพันธุ์จะมีระดับสาร THC และ CBD แตกต่างกัน รวมทั้งกรรมวิธีการปลูกและสกัดที่ส่งผลให้มีปริมาณสารแคนนาบินอยด์แตกต่างกัน การใช้น้ำมันกัญชาจึงมีข้อควรระวังก่อนใช้และผลข้างเคียงอันตรายที่ควรรู้ 

การใช้น้ำมันกัญชาในประเทศไทย

แม้จะได้รับอนุมัติให้มีการนำสารสกัดกัญชาในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชาใด ๆ รวมถึงน้ำมันกัญชาเองยังไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษาโรค ควรใช้เป็นส่วนเสริมหรือร่วมกับการรักษาตามมาตรฐาน หรือใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีมาตรฐานต่าง ๆ ไม่ได้ผล ส่วนการใช้กัญชาทางการแพทย์ในปัจจุบันก็ยังจำกัดการใช้ใน 3 กลุ่มโรคเท่านั้น คือ

กลุ่มโรคที่ได้ประโยชน์ในการใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษา 

โดยมีข้อมูลสนับสนุนด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยด้านวิชาการชัดเจน ได้แก่

  • การเจ็บปวดเรื้อรังบางชนิดในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะภาวะปวดจากเส้นประสาท
  • ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดและรักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล
  • อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
  • โรคลมชักในเด็กที่รักษายาก และโรคลมชักบางชนิดที่ดื้อยามาตรฐาน

กลุ่มโรคที่คาดว่าการใช้สารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ในการควบคุมอาการของโรค

โรคในกลุ่มนี้ควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนหรือวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล เพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลทั่วไป โรคปลอกประสาทอักเสบอื่น ๆ ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง และผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย 

กลุ่มโรคหรือภาวะที่อาจจะได้ประโยชน์ในอนาคต

เป็นกลุ่มโรคที่ยังขาดข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับปลอดภัยและประสิทธิผลในการรักษา เช่น โรคความจำเสื่อมอื่น ๆ โรคมะเร็ง และต้อหิน ซึ่งพบว่าสารสกัดกัญชาไม่มีประสิทธิภาพการรักษาดีกว่ายาแผนปัจจุบัน และอาจส่งผลเสียต่อสมองและระบบประสาท

ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาในประเทศไทย

น้ำมันกัญชาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศภายใต้การรักษาโรคในกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และได้รับอนุญาตภายใต้โครงการศึกษาวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกอบด้วย

สารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์

น้ำมันกัญชาประเภทนี้ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แบ่งเป็น 3 สูตร ได้แก่

  • สารสกัดน้ำมันกัญชาสูตร THC:CBD 1:1 ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือใช้ตามแพทย์สั่ง
  • สารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ สูตร CBD ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคลมชักที่รักษายาก โรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา หรือใช้ตามแพทย์สั่ง
  • สารสกัดน้ำมันกัญชา สูตร THC ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ภาวะปวดประสาท หรือใช้ตามแพทย์สั่ง

สารสกัดน้ำมันกัญชากลุ่มนี้ใช้หยดใต้ลิ้น โดยเริ่มจากขนาด 1 หยด และปรับเพิ่มขนาดช้า ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์

น้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา)

เป็นสารสกัดกัญชาในน้ำมันมะพร้าว ผลิตโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อใช้ในผู้ป่วยที่อยู่ในโครงการติดตามผลการใช้น้ำมันกัญชาเท่านั้น และห้ามจำหน่าย โดยรับประทานขนาด 1 หยด ทางปาก และปรับขนาดใช้ตามคำสั่งของแพทย์

การให้สารสกัดกัญชาทุกชนิดในครั้งแรก ควรใช้เวลาก่อนนอนและมีผู้ดูแลใกล้ชิด ไม่ควรเพิ่มขนาดเอง หากเกิดผลข้างเคียงให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

ข้อควรระวังและผลข้างเคียงจากน้ำมันกัญชา

การใช้น้ำมันกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาทุกชนิดมีข้อควรระวัง เนื่องจากเมล็ดและช่อดอกกัญชาจัดเป็นตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่อนุญาตให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยและการศึกษาวิจัย และการใช้น้ำมันกัญชาที่มีความเข้มข้นสูงเกินปริมาณที่กำหนดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย 

ข้อควรรู้ก่อนใช้น้ำมันกัญชาเพื่อความปลอดภัยดังนี้

  • การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาและควบคุมอาการไม่ใช่วิธีการรักษาลำดับแรกในทุกกรณี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ยังไม่ผ่านการรับรอง
  • บุคลากรทางการแพทย์ต้องผ่านการอบรมก่อนจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชาควรมาจากสถานที่ผลิตตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง
  • การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ยังไม่ผ่านการรับรองอาจมีสารปนเปื้อนต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา สารโลหะหนัก และสารอันตรายอื่น ๆ 
  • ห้ามใช้สารสกัดกัญชาแทนยารักษาโรคที่ใช้อยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ และโรคไต 
  • ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากใช้ยาอื่นอยู่ เช่น ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic Drugs) ยากันชัก (Anticonvulsant) และยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) เนื่องจากสารสกัดกัญชาอาจส่งผลต่อยาที่ใช้อยู่และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

การใช้น้ำมันกัญชาควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ และควรเริ่มใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุด หากยังไม่ได้ผลจึงค่อย ๆ ปรับเพิ่มปริมาณ หากใช้โดยไม่ได้อยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อารมณ์แปรปรวน ความอยากอาหารเปลี่ยนไป ง่วงซึม เวียนศีรษะ มองเห็นสีผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ความจำลดลง ความดันโลหิตต่ำ ปากแห้ง สับสน กระวนกระวาย และวิตกกังวล

อย่างไรก็ตาม ห้ามใช้สารสกัดกัญชาในผู้ที่มีโรคและภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดกัญชา ซึ่งอาจเกิดจากส่วนประกอบอื่น หรือสารที่เป็นตัวทำละลายที่ใช้ในการสกัด
  • ผู้วางแผนจะตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิด เนื่องจากสาร THC ในกัญชาอาจส่งผ่านรกและน้ำนมของมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ และอาจทำให้ผู้ที่ตั้งครรภ์ มีอาการทางจิตประสาท อารมณ์แปรปรวน และส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารก
  • ผู้มีโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตจากสารเสพติด โรคจิตเภท และผู้มีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตนเอง
  • ผู้มีโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ และโรคไตที่มีอาการรุนแรง
  • ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด

นอกจากนี้ ไม่แนะนำให้ใช้น้ำมันกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาอื่น ๆ เพื่อรักษาโรคในเด็ก วัยรุ่น ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) และยากล่อมประสาท รวมถึงผู้ที่ติดสารเสพติด นิโคติน หรือดื่มสุราอย่างหนัก เนื่องจากยังขาดข้อมูลการศึกษาวิจัยที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย

แม้กฎหมายของประเทศไทยจะอนุญาตให้ใช้สารสกัดกัญชาหรือกัญชงที่มีสาร CBD เป็นหลัก และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% เป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการควบคุมตามที่กฎหมายกำหนด แต่น้ำมันกัญชายังต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด โดยมีแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง และใช้ในโรคที่มีการศึกษาวิจัยชัดเจนแล้วเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ