7 สัญญาณเตือน อาการโรคเบาหวานกำลังถามหา

เบาหวานเป็นโรคอันตรายที่เกิดได้กับทุกคน แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าอาการโรคเบาหวานในช่วงแรกนั้นแทบไม่แสดงอาการ หรืออาจแสดงอาการแต่แทบไม่มีความรุนแรง ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคอื่นจนกลายเป็นโรคเบาหวานโดยไม่รู้ตัว

เบาหวานเป็นภาวะเรื้อรังที่เกิดจากการที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ โดยสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือกระบวนการใช้ฮอร์โมนอินซูลินของร่างกายเกิดความผิดปกติ

เบาหวาน

ผู้ที่มีอาการโรคเบาหวานแล้วไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงต่อโรคหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ การสูญเสียการมองเห็น หรือโรคไต ในบทความนี้จึงได้รวบรวม 7 สัญญาณที่อาจเป็นอาการโรคเบาหวานมาให้ได้สังเกตกัน

1. ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก

โดยปกติ ตับอ่อนจะมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมา เพื่อนำน้ำตาลไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ในผู้ที่เป็นเบาหวานจะพบว่าการทำงานของตับอ่อนผิดปกติไป เช่น ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาได้ ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตออกมาไม่สามารถทำงานได้ปกติ เป็นต้น

กลไกการทำงานของตับอ่อนที่ผิดปกติไปในลักษณะข้างต้น จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ รวมถึงส่งผลให้ไตที่มีหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดไม่สามารถกรองน้ำตาลกลับเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้น้ำตาลและน้ำบางส่วนถูกขับออกมาเป็นปัสสาวะในปริมาณมากกว่าปกติ

2. รู้สึกกระหายน้ำ

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ผู้ที่เป็นเบาหวานจะพบว่าไตไม่สามารถกรองน้ำตาลกลับเข้าไปในกระแสเลือดจนต้องขับออกมาเป็นปัสสาวะในปริมาณมากผิดปกติ ผู้ที่เป็นเบาหวานจึงมักพบอาการขาดน้ำ จนส่งผลให้ต้องมีการดื่มชดเชยน้ำที่สูญเสียกลับเข้าไปทดแทน นอกจากนี้ หากร่างกายเกิดภาวะสูญเสียน้ำในปริมาณมากอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการช็อกได้ง่ายอีกด้วย

3. สมองไม่แล่น รู้สึกเบลอ

น้ำตาลกลูโคสเป็นแหล่งพลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนร่างกาย เมื่อฮอร์โมนอินซูลินที่คอยทำหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลกลูโคสไปเป็นพลังงานในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ จะส่งผลให้สมองเกิดอาการอ่อนล้า และทำงานได้ช้าลง

4. สายตาแย่ลง มีอาการตาพร่ามัว มองไม่ชัด

อาการทางสายตาเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่อาการในคนที่เป็นเบาหวานส่วนมากจะพบว่า ภายในเลนส์จอตาเกิดการคั่งของน้ำตาล หรือมีระดับน้ำตาลสูงมาเป็นเวลานานจนส่งผลให้จอตาเกิดความผิดปกติ ซึ่งหากภาวะดังกล่าวมีความรุนแรง อาจส่งผลให้ดวงตาเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในระยะยาว

5. บาดแผลหรือรอยช้ำหายช้ากว่าปกติ

เมื่อระดับน้ำตาลในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่มักจะเกิดตามมาก็คือการสะสมของชั้นไขมัน ซึ่งชั้นไขมันที่ก่อตัวหนาขึ้นจะทำให้กระบวนการไหลเวียนของเลือดแย่ลง เลือดไปเลี้ยงเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ไม่ดี หลอดเลือดเกิดการแข็งตัว เมื่อเกิดแผลขึ้นมา แผลก็จะหายช้ากว่าปกติและเสี่ยงติดเชื้อ เพราะความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคของเม็ดเลือดขาวลดลง

6. น้ำหนักลดผิดปกติ

แม้จะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับใครหลายคน แต่อาการน้ำหนักลดผิดปกติอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการโรคเบาหวาน หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้

การที่น้ำหนักลดลงผิดปกติโดยที่ไม่ได้มีการคุมอาหารหรือออกกำลังกาย อาจเป็นผลมาจากการที่ร่างกายเผาผลาญไขมันเป็นแหล่งพลังงานแทนการใช้น้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลกลูโคสบางส่วนถูกขับออกไปทางปัสสาวะเป็นจำนวนมากจนส่งผลให้ร่างกายผอมแห้งแรงน้อยอย่างผิดหูผิดตา
อย่างไรก็ตาม อาการน้ำหนักลงผิดปกติมักพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ

7. หมดเรี่ยวแรง อ่อนเพลีย

โดยปกติ ร่างกายของคนเราจะย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปให้อยู่ในน้ำตาลกลูโคส เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานให้แก่เซลล์ต่าง ๆ แต่เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายของผู้ที่เป็นเบาหวานจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย รู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ และหิวบ่อยขึ้นจากการที่ร่างกายขาดแหล่งพลังงาน

แม้อาการโรคเบาหวานในช่วงแรกจะมักไม่มีความรุนแรง แต่หากเจออาการที่เข้าข่ายตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อช่วยให้แพทย์รักษาและแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะผิดปกติรุนแรงทางร่างกายที่อาจเกิดตามมา