6 วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย

ปัญหาอาการไอของลูกน้อยน่าจะเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องรู้สึกกังวลใจ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ การเรียนรู้วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อยอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกคน

อาการไอเป็นกลไกที่ช่วยขับเสมหะในลำคอและหน้าอกของร่างกาย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาได้จากหลายโรค ตั้งแต่การได้รับเชื้อโรค การได้รับสารก่อการระคายเคือง ไปจนถึงโรคอย่างปอดบวม โรคหืด หรือภูมิแพ้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว สำหรับกรณีเด็ก หากเด็กยังสามารถรับประทานอาหาร ดื่มนม หรือหายใจได้เป็นปกติโดยไม่มีเสียงหวีด อาการไอมักไม่ใช่สัญญาณของโรคที่มีความรุนแรง

6 วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย

6 วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย

คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาวิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อยอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้

1. ใช้น้ำเกลือสูตรหยดจมูกเด็ก

น้ำมูกในจมูกของลูกน้อยอาจไหลลงคอจนกลายเป็นเสมหะในคอได้ คุณพ่อคุณแม่จึงอาจใช้น้ำเกลือสูตรหยดจมูกเด็กเพื่อช่วยละลายน้ำมูกและลดอาการบวมบริเวณทางเดินหายใจของลูกน้อย โดยให้คุณพ่อคุณแม่หยดน้ำเกลือประมาณ 2–3 หยดต่อรูจมูก 1 ข้าง แต่ให้หยดเพียงวันละ 2–3 ครั้งเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการระคายเคือง

2. ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูก

นอกจากการใช้น้ำเกลือหยดจมูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังอาจใช้ลูกยางแดงเพื่อดูดน้ำมูกที่คั่งค้างในรูจมูกลูกน้อย เพื่อป้องกันน้ำมูกไหลลงคอได้เช่นกัน แต่ไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อรูจมูกของลูกน้อย

สำหรับวิธีการดูดน้ำมูกด้วยลูกยางแดง ขั้นแรก ให้คุณพ่อคุณแม่บีบลูกยางแดงค้างเอาไว้เพื่อไล่ลมออก แล้วสอดปลายลูกยางแดงเข้าไปในจมูกของลูกน้อยประมาณไม่เกิน 1 เซนติเมตร และตรวจดูให้แน่ใจว่าปลายลูกยางแดงหันไปทางรูจมูกด้านใน

จากนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ คลายแรงบีบลูกยางแดงเพื่อดูดน้ำมูกของลูกน้อยออก ทั้งนี้ ก่อนที่จะดูดน้ำมูกอีกข้าง ให้คุณพ่อคุณแม่ล้างปลายลูกยางแดงให้สะอาดดีก่อนทุกครั้ง

3. เพิ่มปริมาณการดื่มน้ำหรือน้ำนม

การดื่มน้ำหรือน้ำนมที่เพียงพออาจช่วยลดปริมาณน้ำมูกและช่วยให้ลูกน้อยไอเพื่อขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น โดยสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกดื่มนมแม่หรือนมผงสำหรับเด็กเท่านั้น แต่อาจจะให้ดื่มบ่อยขึ้นในช่วงที่ลูกมีอาการไอ อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ควรให้ลูกน้อยได้ดื่มนมแม่ เนื่องจากนมแม่มีแอนติบอดี้ที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลูกน้อยได้

ส่วนเด็กในวัยที่สามารถดื่มน้ำหรือของเหลวอื่น ๆ ได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะให้ลูกดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยเฉพาะน้ำอุ่น นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาวเพื่อช่วยบรรเทาอาการไอได้เช่นกัน แต่ควรเป็นกรณีที่เด็กอายุมากกว่า 1 ปีไปแล้วเท่านั้น เนื่องจากหากเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีดื่มน้ำผึ้งอาจเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้

4. ใช้เครื่องทำความชื้น

ระดับความชื้นในอากาศที่มากขึ้นอาจช่วยให้เด็กหายใจได้สะดวกขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความสะอาดเครื่องทำความชื้นเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา

5. กำจัดสารก่ออาการแพ้

คุณพ่อคุณแม่ควรกำจัดสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ในที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เชื้อรา ควันบุหรี่ หรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่ลูกน้อยแพ้

6. ปรับระดับหมอนของลูกน้อยให้สูงขึ้น

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่พบว่าลูกน้อยมักมีอาการไอในช่วงกลางคืน อาจจะลองปรับหมอนของลูกน้อยให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอของลูกน้อย และช่วยให้ลูกน้อยหายใจสะดวกยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากเด็กยังอายุไม่เกิน 12 เดือน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปรับหมอนของลูกน้อยให้สูงขึ้น แต่ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์แนะนำแนวทางที่เหมาะสมแทน

นอกจากนี้ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการใช้ยาแก้ไอสำหรับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เนื่องจากอาการไอในเด็กสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำยาที่เหมาะสำหรับอาการไอของเด็กแต่ละคนและป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

อาการไอแบบไหนที่ลูกน้อยควรไปพบแพทย์

วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อยในข้างต้นเป็นเพียงวิธีที่จะช่วยลูกน้อยได้ในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าอาการไอของลูกน้อยไม่ดีขึ้นหลังจากลองทำตามวิธีดังกล่าวไปแล้ว หรือพบอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม

  • ลูกน้อยไอติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์
  • ลูกน้อยมีไข้ขึ้นสูง และตัวสั่น
  • มีสัญญาณของโรคหืดเช่น อาการไอแย่ลงในช่วงกลางคืน หรือขณะวิ่งเล่น

ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที หากลูกน้อยมีอายุเพียง 2–3 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก กลืนอาหารลำบาก อ้าปากลำบาก เหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำหนักลด ต่อมทอนซิลบวม ไอปนเลือด ตัวร้อนผิดปกติหรือร้อนเกิน 38 องศาเซลเซียสสำหรับเด็กอายุต่ำว่า 3 เดือน หรือ 39 องศาเซลเซียสสำหรับเด็กอายุเกิน 3 เดือน หรือริมฝีปาก เล็บ และผิวเป็นสีฟ้า