ลูกไอมีเสมหะ กับวิธีดูแลที่พ่อแม่ควรรู้

ลูกไอมีเสมหะเป็นอาการป่วยที่พบได้บ่อย ซึ่งทำให้เด็กมีอาการไอร่วมกับมีเสมหะเหนียวข้นในลำคอ ซึ่งมีลักษณะเป็นเมือกเหนียวไม่มีสี หรือมีสีขาว เหลือง เขียว และน้ำตาล เด็กจะไอมีเสียงคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ในทางเดินหายใจ และอาจสำลักเสมหะออกมาในปาก เด็กอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค

ไอมีเสมหะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการอักเสบในปอด ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะมาเพื่อดักจับสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ซึ่งสาเหตุอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มโรค คือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคหืด และการสูดมลพิษหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ 

ลูกไอมีเสมหะ

การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย โดยส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย บางสาเหตุอาจทำให้เกิดอาการไม่รุนแรง ซึ่งอาการจะหายดีได้โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่กรณีที่ลูกไอมีเสมหะเรื้อรังหรือรุนแรงอาจเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยที่ควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ลูกไอมีเสมหะ สาเหตุและอาการที่พบ

ลูกไอมีเสมหะ อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

1.โรคหวัด
โรคหวัดทำให้ลูกไอมีเสมหะ เจ็บคอ มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และมีไข้ต่ำ

2.ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ อาการจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่มักรุนแรงกว่า เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน 

3.การติดเชื้อไวรัส RSV
การติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นโรคที่พบบ่อยในทารกและเด็กเล็ก อาการระยะแรกจะคล้ายโรคหวัด แต่หากอาการรุนแรงอาจทำให้ไอรุนแรง มีไข้ หายใจมีเสียง หายใจเร็ว และอาจนำไปสู่โรคปอดบวม และโรคหลอดลมฝอยอักเสบได้

4. ปอดบวม
ปอดบวม (Pneumonia) หรือโรคปอดอักเสบ พบมากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ทำให้ลูกไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอกโดยเฉพาะเวลาไอ มีไข้ มีเหงื่อออก หนาวสั่น ร้องไห้งอแง หายใจลำบาก และหากอาการรุนแรง

5.หลอดลมอักเสบ
หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) ชนิดที่พบบ่อยในเด็กคือหลอดลมอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อ ทำให้ลูกไอมีเสมหะ เจ็บคอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด และมีไข้

6.ไอกรน
ไอกรน (Pertussis หรือ Whooping Cough) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายโรคหวัด แต่อาการจะรุนแรงขึ้นจนทำให้ทำให้ลูกไอมีเสมหะติด ๆ กันหลายครั้ง บางครั้งอาจหายใจไม่ทัน อ่อนเพลีย และอาเจียน อาการจะรุนแรงมากในเด็กเล็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน 

7. โรคหืด (Asthma)
หากลูกไอมีเสมหะเรื้อรัง อาจเป็นไปได้ว่าป่วยเป็นโรคหืด หรือที่เรียกกันว่าหอบหืด ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากหลอดลมตีบแคบและอีกเสบ เนื่องจากไวต่อการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ควัน ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น สะเก็ดผิวหนังสัตว์ สารเคมี และโรคบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดโรคหืด 

โดยทั่วไป โรคหืดมักทำให้เกิดอาการไอแห้ง แต่เด็กบางคนอาจไอมีเสมหะ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายในผลิตเสมหะที่เป็นเมือกเหนียว เพื่อดักจับและกำจัดสารก่อภูมิแพ้และสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้ไอตอนกลางคืน แน่นหน้าอก หายใจมีเสียง และหายใจลำบาก

8. การสูดดมมลภาวะหรือสิ่งแปลกปลอม
การสูดดมฝุ่นละออง ควันบุหรี่ หรือมลพิษในอากาศอาจทำให้เกิดอาการระคายคอ คัดจมูก และไอ 

การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูกหรือปาก เช่น กระดุม ของเล่น อาจทำให้เด็กหายใจมีเสียงหวีด เจ็บคอ สำลัก อาเจียนได้ หากสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ในทางเดินหายใจเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งทำให้ลูกไอมีเสมหะ หายใจไม่ออก และอาจมีไข้ร่วมด้วย

ดูแลอาการเมื่อลูกไอมีเสมหะ

เมื่อลูกไอมีเสมหะ พ่อแม่สามารถดูแลลูกด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

ให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำให้เพียงพอ เช่น น้ำอุ่น นม และซุป จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ลดความข้นเหนียวของเสมหะ และกำจัดเสมหะออกได้ง่ายขึ้น พ่อแม่อาจให้ลูกไอมีเสมหะดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง ซึ่งน้ำผึ้งจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบในลำคอ แต่ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีดื่มน้ำผึ้ง เพราะอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้

ล้างจมูกให้ลูก
ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ซึ่งจะช่วยลดอาการคัดจมูกจากน้ำมูก ชะล้างสารก่อภูมิแพ้และสิ่งสกปรกในจมูก จึงช่วยบรรเทาลูกไอมีเสมหะได้

กำจัดสารก่อภูมิแพ้
พ่อแม่ควรทำความสะอาดบ้าน และเครื่องนอนเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ และมลพิษต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้และโรคหืด และอาจใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้าน โดยเฉพาะในห้องนอนเด็ก ซึ่งจะช่วยดักจับฝุ่นละออง และกรองให้อากาศสะอาดขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรเลิกสูบบุหรี่ภายในบ้าน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคทางเดินหายใจในเด็ก เช่น ไอ โรคหวัด โรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม และโรคมะเร็ง

นอนหนุนหมอนสูง
ให้ลูกนอนหมอนสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้หายใจสะดวก และลดอาการลูกไอมีเสมหะในตอนกลางคืน

ให้ลูกรับประทานยา
ยาแก้ไอที่ช่วยบรรเทาอาการลูกไอมีเสมหะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือยาขับเสมหะ (Expectorants) และยาละลายเสมหะ (Mucolytics) ซึ่งช่วยให้ร่างกายกำจัดเสมหะออกได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยาที่ช่วยบรรเทาอาการอื่นที่เกิดขึ้นพร้อมกับอาการไอมีเสมหะ เช่น ยาลดน้ำมูกสำหรับเด็ที่มีน้ำมูกมากและมีอาการคัดจมูกจากหวัด และยาแก้ปวดลดไข้ 

ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนให้ยากับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

หากลูกมีอาการเข้าข่ายโรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม ควรพาลูกไปพบแพทย์ เนื่องจากลูกไอมีเสมหะจากสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงและเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาที่แพทย์สั่งจ่าย หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

อาการลูกไอมีเสมหะที่ควรไปพบแพทย์

หากลูกไอมีเสมหะต่อเนื่องกันนานกว่า 2 สัปดาห์หลังจากใช้วิธีดูแลข้างต้น ควรพาลูกไปพบแพทย์ 

รวมทั้งหากมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ร่วมกับอาการไอมีเสมหะ เช่น หายใจมีเสียง หายใจเร็ว หายใจติดขัด ร้องไห้งอแง ปวดหัวและปวดหูอย่างรุนแรง ไม่ยอมรับประทานอาหาร ไอเป็นเลือด มีสัญญาณของอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อย และผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ ควรพาไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการหากลูกไอมีเสมหะและมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบพาไปพบแพทย์ในกรณีดังต่อไปนี้

  • เด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือนที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสและไม่ลดลงภายใน 1 วัน
  • ลูกอายุ 2 ปีขึ้นไปที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันนานกว่า 3 วัน
  • เด็กเล็กและเด็กโตที่มีไข้สูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส

ลูกไอมีเสมหะมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การสูดดมมลภาวะและสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย หรือโรคหืด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแตกต่างกัน ในเบื้องต้นพ่อแม่สามารถดูแลลูกเพื่อกำจัดเสมหะและช่วยบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ลูกสบายตัวขึ้นได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา