6 ยาแก้ปวดฟัน ตัวช่วยบรรเทาอาการปวดฟันที่หาซื้อง่ายและได้ผล

ยาแก้ปวดฟัน เป็นกลุ่มยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดบริเวณฟัน ซึ่งอาจเป็นทั้งได้อาการปวดที่ฟัน และบริเวณรอบ ๆ ฟัน โดยยากลุ่มนี้จะสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด เช่น รูปแบบเม็ด แบบแคปซูลชนิดนิ่ม (Soft gelatin capsules) หรือแบบทา ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีจุดเด่นและความเหมาะสมต่อการใช้งานที่แตกต่างกันไป

อาการปวดฟัน เป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นฟันผุ ฟันแตก ฝีในฟัน โรคเหงือก การนอนกัดฟัน ไปจนถึงอาการปวดที่เกิดหลังจากการกระบวนการรักษาโดยทันตแพทย์ อย่างการอุดฟัน หรือการครอบฟัน 

ยาแก้ปวดฟัน

ส่วนในด้านการรักษาอาการปวดฟันจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น การอุดฟัน การครอบฟัน การรักษารากฟัน โดยการใช้ยาแก้ปวดฟันจะเป็นวิธีที่มักถูกใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ในเบื้องต้นเท่านั้น ก่อนที่ทันตแพทย์จะตรวจหาสาเหตุของอาการปวดฟันและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

6 ตัวอย่างยาแก้ปวดฟันที่หาซื้อได้เอง

ยาแก้ปวดฟันจะมีให้เลือกใช้อยู่หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป โดยตัวอย่างยาแก้ปวดฟันที่หาซื้อได้เองก็เช่น

1. ยาซีมอล (Cemol) ชนิดเม็ด

May-24-04-01

ยาซีมอลเป็นยาแก้ปวดฟันชนิดเม็ดที่มีสารสำคัญคือ พาราเซตามอล (Paracetamol) ซึ่งจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารเคมีบางชนิดในสมองที่เป็นสาเหตุของอาการปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดฟันชนิดที่อาการปวดยังไม่รุนแรงมากได้ นอกจากนี้ ยาซีมอลยังเป็นยาที่ราคาไม่แพงและหาซื้อได้ค่อนข้างง่าย

ส่วนด้านปริมาณการใช้ยา ส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ใช้ ดังนี้ สำหรับผู้ที่น้ำหนักตัว 67 กิโลกรัมขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด วันละไม่เกิน 4 ครั้ง สำหรับผู้ที่น้ำหนักตัวระหว่าง 50–67 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 1.5 เม็ด วันละไม่เกิน 5 ครั้ง สำหรับผู้ที่น้ำหนักตัวระหว่าง 34–50 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด และหากน้ำหนักตัวต่ำกว่า 34 กิโลกรัม ให้ปรึกษาแพทย์ก่อน

ทั้งนี้ ผู้ใช้ยาควรเว้นระยะการใช้ยาในแต่ละครั้งให้ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

2. ยาโดเฟลม (Doflam) ชนิดแคปซูลชนิดนิ่ม

May-24-04-02

ยาโดเฟลมเป็นยาแก้ปวดฟันชนิดแคปซูลชนิดนิ่มที่มีสารสำคัญคือ ไดโคลฟีแนค โพแทสเซียม (Diclofenac Potassium) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ที่จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารบางชนิดในร่างกายที่ส่งผลให้เกิดกระบวนการอักเสบ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดระดับที่ไม่รุนแรงมาก หรือรุนแรงปานกลาง 

นอกจากนี้ ด้วยความที่ยาโดเฟลมเป็นยาชนิดแคปซูลชนิดนิ่ม ตัวยาจึงอาจมีส่วนช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ไวขึ้นอีกด้วย

สำหรับการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน ให้ผู้ใช้ยารับประทานยาครั้งละ 1–2 แคปซูล และค่อย ๆ ปรับลงมาเป็นครั้งละ 1 แคปซูล โดยให้ระยะห่างระหว่างการใช้ยาแต่ละครั้งอยู่ที่ประมาณ 8 ชั่วโมง

3. ยาโซลูเฟน 400 (Solufen 400) ชนิดแคปซูลชนิดนิ่ม

May-24-04-03

ยาโซลูเฟน 400 เป็นยาแก้ปวดฟันชนิดแคปซูลชนิดนิ่มที่มีสารสำคัญคือ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งเป็นหนึ่งในยากลุ่มเอ็นเสดที่จะออกฤทธิ์ลดระดับสารบางชนิดในร่างกายที่เป็นสาเหตุของอาการปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดฟันในระดับที่รุนแรงน้อยถึงปานกลาง อีกทั้งด้วยความที่เป็นยาชนิดแคปซูลนิ่ม กระบวนการดูดซึมยาของร่างกายจึงอาจทำได้ไวขึ้น

ในด้านการใช้ยาเพื่อรักษาอาการปวดฟัน สำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4–6 ชั่วโมง ทั้งนี้ ผู้ใช้ยาโซลูเฟน 400 ห้ามรับประทานยานี้เกิน 3 เม็ดใน 1 วัน หากไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา

4. ยาทัมใจ ชนิดผง

May-24-04-04

ยาทัมใจเป็นยาแก้ปวดฟันชนิดผงที่มีสารสำคัญคือ แอสไพริน (Aspirin) ซึ่งเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มเอ็นเสดที่จะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการผลิตสารบางชนิดในร่างกายที่เป็นต้นเหตุของอาการปวด โดยจุดเด่นของยาชนิดนี้คือ เป็นยาที่หาซื้อได้ง่ายและมีราคาค่อนข้างถูก

สำหรับการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหาร โดยสามารถรับประทานได้ทั้งแบบไม่ผสมน้ำ และแบบผสมน้ำ สำหรับผู้ที่รับประทานโดยไม่ผสมน้ำ ให้ฉีกซองยา เทผงยา 1 ซองลงบนลิ้น และรับประทานได้เลย วันละ 1–4 ครั้ง แต่หลังจากรับประทานยาแล้ว ควรดื่มน้ำตามด้วย ส่วนผู้ที่รับประทานโดยผสมน้ำให้ผสมยา 1 ซองกับน้ำเปล่า 1 แก้วและรับประทาน วันละ 1–4 ครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ใช้ยานี้ควรเว้นระยะห่างระหว่างการใช้ยาแต่ละครั้งอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และไม่ควรใช้ยาเกินวันละ 4 ซอง เพื่อความปลอภัยต่อร่างกาย นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ หากไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ 

5. ยาพอนสแตน 500 (Ponstan 500) ชนิดเม็ด

May-24-04-05

ยาพอนสแตน 500 เป็นยาแก้ปวดฟันชนิดเม็ดที่มีสารสำคัญคือ เมเฟนามิค แอซิด (Mefenamic Acid) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเอ็นเสดที่จะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการผลิตสารบางชนิดในร่างกายที่ก่อให้เกิดอาการปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน

สำหรับการใช้ยาพอนสแตน 500 เพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน ผู้ป่วยผู้ใหญ่ควรรับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยจะรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้

ทั้งนี้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยไข้เลือดออก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ หากไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์

 

6. ยาคามิสแตด – เจล เอ็น (Kamistad Gel N) ชนิดทา

May-24-04-06

ยาคามิสแตด – เจล เอ็นเป็นยาชนิดทาเพื่อแก้อาการปวดฟันที่มีสารสำคัญคือ ลิโดเคน (Lidocaine) ที่ออกฤทธิ์ช่วยระงับความรู้สึกบริเวณที่ทาได้ค่อนข้างเร็วและนาน เพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน รวมถึงยังมีสารสกัดจากจากดอกคาโมมายล์ที่อาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และป้องกันแผลจากเชื้อแบคทีเรียได้

นอกจากนี้ เนื่องจากยาชนิดนี้เป็นยาชนิดทา การออกฤทธิ์ของยาจึงอาจทำงานได้ไวขึ้น

สำหรับการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน ให้ผู้ใช้ยาบีบยาในความยาวประมาณ ½ เซนติเมตร และทาให้ทั่วบริเวณที่ปวด โดยให้ทาวันละ 3 ครั้ง

สุดท้ายนี้แม้ยาแก้ปวดฟันจะเป็นกลุ่มยาที่หาซื้อได้ง่าย แต่ผู้ที่ใช้ยาทุกคนก็ควรอ่านฉลากยา หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรที่ต้องการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาที่มีไดโคลฟีแนค ไอบูโพรเฟน แอสไพริน และเมเฟนามิค แอซิด เนื่องจากการยาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่

และนอกจากการใช้ยาแก้ปวดฟันแล้ว ผู้ที่มีอาการปวดฟันยังคงสามารถใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันได้เช่นกัน เช่น พยายามบ้วนปากด้วยน้ำอุ่น ใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดเศษอาหารหรือคราบสกปรกต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณที่แปรงฟันไม่ถึง และใช้การประคบเย็นที่แก้มบริเวณที่มีอาการปวดฟัน

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแก้ปวดฟันเป็นเพียงวิธีสำหรับบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งผู้ใช้ยาไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน อีกทั้งการรักษาอาการนี้จำเป็นต้องรักษาที่ต้นเหตุ ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะสม

ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปวดฟันที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาแก้ปวดฟันไป 5 วันแล้ว ก็ควรไปรับการตรวจจากทันตแพทย์อย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพทางช่องปากอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น