ปวดฟันกราม รู้จัก 5 สาเหตุที่เป็นไปได้และวิธีรับมือ

ปวดฟันกราม เป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยแต่ละสาเหตุก็จะมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน รวมถึงยังส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการปวดฟันกรามด้วย ตั้งแต่อาการปวดฟันซี่ที่อยู่รอบ ๆ ฟันไวต่อความร้อนและความเย็น เหงือกบวม เหงือกมีเลือดออก ไปจนถึงอาการทางร่างกาย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บบริเวณหู และปวดขากรรไกร

ฟันกรามเป็นกลุ่มฟันที่อยู่ด้านในสุดของปาก แบ่งเป็นด้านละ 3 ซี่ ซ้าย ขวา ล่าง บน ทั้งหมด 12 ซี่ ทั้งนี้ ใน 12 ซี่นี้จะรวมถึงฟันที่ฝังอยู่ใต้เหงือกหรือที่เรียกว่าฟันคุดด้วย ผู้ที่เคยถอนหรือผ่าฟันคุดจึงมีจำนวนฟันกรามที่น้อยกว่า 12 ซี่ โดยอาการปวดฟันกรามจะเป็นอาการที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก เนื่องจากฟันกลุ่มนี้เป็นกลุ่มฟันที่ทุกคนต้องใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร

ปวดฟันกราม

5 สาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการปวดฟันกราม

ปวดฟันกรามเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะมีลักษณะอาการร่วมที่ต่างกันไป โดยตัวอย่างที่มักพบได้ก็เช่น

1. ฟันคุด

ฟันคุดเป็นปัญหาที่เกิดจากการที่ฟันกรามซี่ในสุดฝังตัวอยู่ใต้เหงือกหรือกระดูกขากรรไกรและไม่สามารถขึ้นได้อย่างปกติ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ปัญหาช่องปากอื่น ๆ เช่น ปัญหาฟันผุ โรคเหงือก หรือการติดเชื้อ ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาฟันคุดเข้ารับการถอนหรือผ่าเพื่อนำฟันคุดออกมา

นอกจากอาการปวดบริเวณฟันกรามแล้ว ผู้ป่วยที่มีฟันคุดอาจพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ เหงือกบริเวณฟันกรามบวมแดง ปวดขากรรไกร และพบจุดสีขาวเล็ก ๆ และแข็ง หรือก็คือส่วนหนึ่งของฟันที่อยู่ใต้เหงือก โผล่เหนือขึ้นมาจากเหงือกด้านหลังฟันกรามเล็กน้อย

2. ฟันผุ

ฟันผุ เป็นปัญหาที่เกิดจากการที่ผิวฟันเกิดการผุกร่อนเป็นรูขนาดเล็ก โดยสาเหตุหลักที่พบมักจะเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดฟันที่ไม่ดี เช่น แปรงฟันไม่ถูกวิธี ไม่ค่อยแปรงฟัน หรือใช้ยาสีฟันที่มีปริมาณฟลูออไรด์ไม่เพียงพอ

นอกจากอาการปวดฟันกราม ผู้ที่มีฟันผุอาจพบอาการดังต่อไปนี้ด้วย เช่น เสียวฟัน พบหลุมขนาดเล็กบนผิวฟัน และอาการปวดฟันที่จะยิ่งแย่ลงขณะที่โดนของร้อน ของเย็น และอาหารที่มีรสหวาน โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ เช่น การใช้ฟลูออไรด์ การอุดฟัน การรักษารากฟัน ไปจนถึงการถอนฟัน 

3. ฟันแตก

ฟันแตกเป็นปัญหาที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการที่ร่างกายเริ่มมีอายุมากขึ้น การกัดของแข็งอย่างรุนแรง และการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้ฟันได้รับการกระแทก โดยการรักษาก็จะมีตั้งแต่การอุดฟัน การครอบฟัน การรักษารากฟัน หรือวิธีอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและดุลยพินิจของทันตแพทย์

โดยอาการอื่นที่มักพบร่วมกับอาการปวดฟัน ผู้ที่มีปัญหาฟันแตกยังมักพบอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น ปวดฟันเป็นช่วง ๆ โดยเฉพาะขณะเคี้ยวอาหาร รู้สึกเสียวหรือปวดฟันเมื่อโดนของร้อนหรือเย็น และเหงือกบริเวณรอบ ๆ ฟันที่แตกมีอาการบวม

4. ปริทันต์อักเสบ (Periodontitis)

ปริทันต์อักเสบเป็นโรคที่เกิดจากการที่เหงือกและฟันมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปสะสมตัวขั้นรุนแรง โดยการรักษาก็จะมีตั้งแต่การขูดหินปูน การเกลารากฟัน การใช้ยาปฏิชีวนะ ไปจนถึงการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของทันตแพทย์

ผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบอาจมีอาการที่แตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค โดยอาการเริ่มแรกมักจะเป็นอาการเลือกออกบริเวณเหงือกขณะแปรงฟันและขณะใช้ไหมขัดฟัน จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเลือดออกและเจ็บที่เหงือก เหงือกร่น มีกลิ่นปากรุนแรง และรู้สึกเหมือนในปากมีรสชาติที่ไม่พึงประสงค์

5. ฝีในฟัน

ฝีในฟันเป็นภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการที่เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในโพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดและเส้นประสาทอยู่ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยก็เช่น ผู้ป่วยมีฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา หรือผู้ป่วยมีรอยแตกที่ฟัน 

ส่วนอาการที่มักพบได้ก็เช่น

  • ปวดฟันขั้นรุนแรง โดยอาจปวดไปถึงบริเวณขากรรไกร คอ และหู
  • ปวดฟันเมื่อฟันถูกของร้อนหรือของเย็น
  • ปวดฟันขณะเคี้ยวอาหาร
  • มีกลิ่นปาก 
  • เกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า แก้ม หรือคอ
  • พบตุ่มบวมบริเวณใต้ขากรรไกรหรือคอ
  • มีไข้
  • ในกรณีที่ฝีแตก ผู้ป่วยอาจพบของเหลวในช่องปากที่มีรสเค็มและมีกลิ่นเหม็น

ในการรักษาฝีในฟัน ทันตแพทย์จะรักษาโดยการจำกัดเชื้อเป็นหลัก ซึ่งก็สามารถทำได้หลายวิธี โดยวิธีที่ทันตแพทย์มักใช้ก็เช่น การดูดของเหลวในฝีออก การรักษารากฟัน การถอนฟัน และการใช้ยาปฏิชีวนะ

ทั้งนี้ ตัวอย่างสาเหตุของอาการปวดฟันกรามที่ได้ยกตัวอย่างไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากในหลาย ๆ ครั้ง อาการปวดฟันกรามก็อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น อาจจะเกี่ยวกับปัญหาของโพรงไซนัส หรือขากรรไกรมีความผิดปกติ 

แนวทางการรับมือเมื่อมีอาการปวดฟันกราม

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการปวดฟันกรามสามารถบรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาแก้ปวด หรืออาจจะประคบร้อนและประคบเย็นบนใบหน้าบริเวณที่มีอาการปวดฟัน

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดฟันกรามยังอาจบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำยาบ้วนปากที่มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) เป็นส่วนผสมเพื่อช่วยทำความสะอาดช่องปาก หรือหากมีอาการปวดมาก ก็อาจจะเลือกใช้เป็นน้ำยาบ้วนปากที่มีเบนไซดามีน (Benzydamine) เป็นส่วนผสมแทน เพื่อช่วยบรรเทาอากา

อย่างไรก็ตาม วิธีทั้งหมดที่ได้กล่าวไปเป็นเพียงวิธีที่ใช้สำหรับช่วยบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งผู้ที่มีอาการปวดฟันกรามควรหาเวลาไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาที่ต้นเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาได้ในอนาคต