ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical Hernia)

ความหมาย ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical Hernia)

ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical Hernia) หรือที่เรียกกันว่าสะดือจุ่น เป็นภาวะที่ลำไส้เลื่อนจากตำแหน่งเดิมมาอยู่ที่สะดือหรือบริเวณใกล้เคียง ทำให้มีก้อนเนื้อยื่นนูนออกมาบริเวณสะดือ โดยส่วนมากมักไม่ทำให้เจ็บปวดหรือเกิดอาการผิดปกติใด ๆ แต่บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณท้องร่วมด้วย

ภาวะไส้เลื่อนที่สะดือเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากจะพบในทารกแรกเกิดและเด็กเล็กมากกว่า โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนที่สะดือในเด็กและผู้ใหญ่จะแตกต่างกันไป ทำให้วิธีการรักษาแตกต่างกันไปด้วย ขึ้นอยู่กับอายุและความเหมาะสมต่อผู้ป่วย

ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical Hernia)

อาการของไส้เลื่อนที่สะดือ

ผู้ที่มีภาวะไส้เลื่อนที่สะดือจะพบก้อนเนื้อยื่นนูนออกมาผิดปกติบริเวณสะดือ โดยมีขนาดตั้งแต่น้อยกว่า 1 เซนติเมตรไปจนถึงมากกว่า 5 เซนติเมตร และอาจพบอาการระคายเคืองบริเวณดังกล่าวร่วมด้วย 

ในกรณีที่เกิดในเด็ก ก้อนเนื้อที่ยื่นออกมาอาจเห็นได้ชัดในช่วงที่เด็กกำลังร้องไห้หรือไอ และจะยุบไปเองเมื่อเด็กนอนหงายหรืออยู่เฉย ๆ ซึ่งโดยส่วนมากมักไม่พบอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะไส้เลื่อนที่สะดือมักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือเกิดอาการรุนแรงใด ๆ แต่หากพบว่าบุตรหลานหรือตนเองมีอาการในลักษณะข้างต้น ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อพบอาการผิดปกติบางอย่างร่วมด้วย เช่น อาการเจ็บปวด อาเจียน หรือก้อนเนื้อที่ยื่นออกมาเริ่มบวมขึ้นหรือมีสีผิดปกติไป เป็นต้น

สาเหตุของไส้เลื่อนที่สะดือ

ภาวะไส้เลื่อนที่สะดือในเด็กเล็กและทารก โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดและทารกที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ มักเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อบริเวณสะดือไม่สมานตัวเชื่อมติดกันอย่างสมบูรณ์หลังจากแพทย์ตัดสายสะดือขณะทำคลอด ทำให้ลำไส้บางส่วนเคลื่อนตัวเข้ามาผ่านช่องเปิดบริเวณดังกล่าวได้ แต่ปกติแล้วกล้ามเนื้อดังกล่าวควรจะเชื่อมติดกันหลังจากแพทย์ทำคลอดได้ไม่นาน 

ส่วนภาวะไส้เลื่อนที่สะดือในผู้ใหญ่เป็นผลมาจากการมีแรงดันภายในช่องท้องมากผิดปกติเป็นเวลานาน โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยกของหนัก ตั้งครรภ์หลายครั้งหรือตั้งครรภ์แฝด ไออย่างรุนแรงและเรื้อรัง ท้องผูกอย่างเรื้อรัง อาเจียนอย่างเรื้อรัง มีของเหลวสะสมอยู่ในช่องท้อง ภาวะอ้วน มีประวัติผ่าตัดบริเวณช่องท้อง มีปัญหาปัสสาวะลำบากจากโรคต่อมลูกหมากโต มีการฟอกไตทางช่องท้องเพื่อรักษาโรคไตวาย เป็นต้น

การวินิจฉัยไส้เลื่อนที่สะดือ

ในการวินิจฉัยภาวะไส้เลื่อนที่สะดือ แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกายในเบื้องต้นเพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ โดยตรวจดูว่าสามารถดันไส้ที่เลื่อนออกมากลับเข้าไปข้างในช่องท้องได้หรือไม่ หรือไส้เลื่อนติดอยู่กับที่ (Incarcerated Hernia)

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การเอกซเรย์หรือการอัลตราซาวด์บริเวณท้องของผู้ป่วย หรือการตรวจเลือดเพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อ เป็นต้น

การรักษาไส้เลื่อนที่สะดือ

ในการรักษาภาวะไส้เลื่อนที่สะดือ แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ สุขภาพโดยรวม ประวัติทางด้านสุขภาพ และความรุนแรงของอาการ เป็นต้น

ในกรณีที่เป็นเด็กเล็กและทารก แพทย์อาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา เนื่องจากภาวะไส้เลื่อนในเด็กมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองเมื่อเด็กอายุประมาณ 1–2 ปี หรือแพทย์สามารถดันไส้ที่เลื่อนกลับเข้าสู่ตำแหน่งที่เหมาะสมได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ใด ๆ

อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด โดยแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • ก้อนเนื้อที่ยื่นออกมามีขนาดใหญ่และส่งผลให้เกิดอาการปวดร่วมด้วย
  • ขนาดของก้อนเนื้อไม่ยุบลงในช่วงอายุ 1–2 ปี หรือก้อนเนื้อไม่หายไปหลังจากเด็กอายุครบ 5 ปี
  • ลำไส้เกิดการอุดตัน
  • เด็กเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่ แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือพบอาการปวดร่วมด้วย และภายหลังการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยงดการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้แรงเยอะอย่างน้อย 1–2 สัปดาห์ และอาจต้องใช้ยาแก้ปวดบางชนิดร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีอาการปวด 

อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์หากเกิดอาการผิดปกติภายหลังการผ่าตัด เช่น ไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น มีเลือดออก รู้สึกปวดและมีอาการบวมบริเวณท้อง อาการปวดไม่ดีขึ้นแม้จะรับประทานยาแก้ปวดแล้ว มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างเรื้อรัง ไอเรื้อรัง หายใจไม่อิ่ม บริเวณรอบรอยผ่าตัดเกิดอาการแดงผิดปกติ ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของไส้เลื่อนที่สะดือ

โดยส่วนใหญ่ ไส้เลื่อนที่สะดือมักไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ที่รุนแรง แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะไส้เลื่อนติดอยู่กับที่ ลำไส้ของผู้ป่วยอาจมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเนื้อเยื่อตาย การติดเชื้อ และเสียชีวิตได้

การป้องกันไส้เลื่อนที่สะดือ

ไส้เลื่อนที่สะดือในเด็กเล็กหรือทารกอาจป้องกันได้ยาก ในเบื้องต้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กและกรดโฟลิค หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 

และที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติขณะตั้งครรภ์เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และภาวะคลอดก่อนกำหนดในทารก

ส่วนไส้เลื่อนที่สะดือในผู้ใหญ่อาจลดความเสี่ยงได้โดยหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดแรงดันอย่างรุนแรงในช่องท้อง ควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเกิดภาวะอ้วน หรือหากมีอาการไอ อาเจียน หรือท้องผูกอย่างรุนแรงและเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ