โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia)

ความหมาย โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia)

Aplastic Anemia (โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ) เป็นภาวะผิดปกติที่ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ ได้ไม่เพียงพอ ทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น อาการอ่อนเพลีย เลือดออกง่าย หรือเกิดการติดเชื้อบ่อย เป็นต้น  

Aplastic Anemia สามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่จะพบได้มากในเด็กและผู้ที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน โดยความรุนแรงของอาการและผลการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สาเหตุ อายุหรือสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เป็นต้น

โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia)

อาการของ Aplastic Anemia

ในช่วงแรก ผู้ที่ป่วยเป็น Aplastic Anemia อาจไม่มีอาการใด ๆ แต่จะค่อย ๆ แสดงอาการออกในภายหลังตามชนิดเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายที่เกิดความผิดปกติ โดยอาจเกิดเพียงชั่วคราวหรือเรื้อรัง เช่น 

  • เซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ อาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม เวียนศีรษะ ผิวซีด ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก หรือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • เซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจส่งผลให้ไข้ขึ้น หรือร่างกายเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • เกล็ดเลือดต่ำ อาจส่งผลให้มีเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดออกง่าย เลือดกำเดาไหล เลือดออกบริเวณเหงือก หรือประจำเดือนมามากในผู้หญิง

Aplastic Anemia เป็นภาวะที่มีความรุนแรงและอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้น ควรรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมหากพบอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น เกิดรอยช้ำตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ มีเลือดออกบริเวณเหงือก ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น

สาเหตุของ Aplastic Anemia

โดยปกติ ไขกระดูกจะมีหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดตัวอ่อนต่าง ๆ ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด แต่ในผู้ป่วย Aplastic Anemia ไขกระดูกจะทำงานผิดปกติไป เนื่องจากไขกระดูกเกิดความเสียหายหรือฝ่อ ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ ได้ 

โดยส่วนใหญ่ แพทย์มักหาสาเหตุที่ส่งผลให้ไขกระดูกเสียหายไม่พบ แต่ในบางกรณี ภาวะดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ โดยการไปทำลายสเต็มเซลล์ในไขกระดูก
  • ประวัติการรักษาโรคมะเร็งด้วยการทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือรังสีรักษา (Radiation Therapy)
  • ประวัติการเกี่ยวข้องกับสารเคมีบางชนิด เช่น ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง หรือน้ำมันเบนซิน เป็นต้น
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) เชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein–Barr) เชื้อไวรัสไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) เชื้อพาร์โวไวรัส บี 19 (Parvovirus B19) หรือเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • การตั้งครรภ์ ในระหว่างตั้งครรภ์ บางคนอาจพบว่าภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ โดยการไปทำลายไขกระดูก แต่โดยส่วนใหญ่อาการมักหายได้เองหลังคลอดบุตร
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด เป็นต้น
  • โรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการแฟนโคนี (Fanconi Syndrome) หรือกลุ่มอาการ Shwachman Diamond
  • Aplastic Anemia อาจเป็นผลมาจากโรคทางระบบโลหิตที่ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายของผู้ป่วยถูกทำลาย อย่างโรค Paroxysmal Nocturnal Hemoglobinuria (PNH) แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย

การวินิจฉัย Aplastic Anemia

ในการวินิจฉัย Aplastic Anemia ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติ อาการผิดปกติของผู้ป่วย และปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว เช่น ประวัติการเกี่ยวข้องกับสารพิษ สารเคมี หรือรังสี ยาที่ผู้ป่วยกำลังใช้ ประวัติการติดเชื้อไวรัส หรือประวัติการเกิดโรคทางระบบโลหิตต่าง ๆ ในครอบครัว โดยเฉพาะภาวะ Aplastic Anemia เป็นต้น

จากนั้นแพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจเลือด แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ ทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด โดยผู้ป่วย Aplastic Anemia จะพบว่าระดับเซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ ต่ำผิดปกติ
  • การตรวจไขกระดูก แพทย์อาจนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไขกระดูกของผู้ป่วยไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคทางระบบโลหิตอื่น ๆ ที่อาจมีลักษณะอาการคล้ายกัน 

นอกจากนี้หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็น Aplastic Anemia แพทย์จะหาสาเหตุของภาวะดังกล่าวด้วยวิธีตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อนำไปใช้พิจารณาวิธีการรักษาในขั้นต่อไป

การรักษา Aplastic Anemia

ในกรณีที่ภาวะ Aplastic Anemia มีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด การตั้งครรภ์ หรือภาวะอื่นในระยะสั้น อาการอาจค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง แต่หากมีอาการรุนแรงจนต้องได้รับการรักษา แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมตามอาการของผู้ป่วย รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างสาเหตุ ความรุนแรงของอาการ และอายุของผู้ป่วย โดยวิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้ เช่น

การให้เลือด (Blood Transfusion)

แพทย์อาจให้เลือดผู้ป่วยเพื่อทดแทนเซลล์เม็ดเลือดที่ไขกระดูกไม่สามารถผลิตออกมาได้เพียงพอ และควบคุมอาการหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น ภาวะโลหิตจาง อาการอ่อนเพลีย หรือเลือดไหลไม่หยุด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาด้วยการให้เลือดเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยเท่านั้น และไม่สามารถรักษา Aplastic Anemia ได้ รวมถึงผู้ที่รับการให้เลือดอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างจากการรักษาได้ หากได้รับเลือดมากเกินไป อย่างการมีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายมากเกินปกติ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้อวัยวะสำคัญในร่างกายเกิดความเสียหายได้

การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow Transplant หรือ Stem Cell Transplant)

วิธีปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นวิธีที่แพทย์จะใช้รังสีหรือยาเคมีบำบัดบางชนิดเพื่อกำจัดเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติในไขกระดูก จากนั้นแพทย์จะแทนที่เซลล์เม็ดเลือดที่ถูกทำลายไป โดยการฉีดสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางหลอดเลือดดำ วิธีนี้มักจะใช้ในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีอาการรุนแรงและสามารถหาสเต็มเซลล์ที่เข้ากับร่างกายผู้ป่วยได้ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นพี่น้องหรือคนในครอบครัว 

อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการต่อต้านสเต็มเซลล์ใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือเสียชีวิตได้ แพทย์จึงอาจให้ยาบางชนิดเพิ่มเติมหลังการรักษา เพื่อป้องกันการต่อต้านสเต็มเซลล์ใหม่ของร่างกาย 

การรักษาด้วยยา

แพทย์อาจใช้ยาบางชนิดในการรักษา Aplastic Anemia  เช่น

  • ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันเซลล์เม็ดเลือดจากการถูกภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลาย แพทย์อาจใช้ยาบางชนิด เช่น ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ยา Antithymocyte Globulin หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นต้น
  • ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากผู้ที่มีภาวะ Aplastic Anemia มักมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้ง่าย
  • ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของไขกระดูก เช่น ยาฟิลกราสทิม (Filgrastim) ยาซาร์กรามอสทิม (Sargramostim) ยาเปกฟิลกราสทิม (Pegfilgrastim) หรือยาอีโพอิติน ชนิดอัลฟ่า (Epoetin Alfa) เป็นต้น

นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ล้างมือบ่อย ๆ ระมัดระวังการเกิดบาดแผลและเลือดออก อย่างการเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการกระแทก การใช้ใบมีดโกน หรือในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาที่ช่วยให้อุจจาระนิ่มเพื่อป้องกันอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Aplastic Anemia

ผู้ป่วย Aplastic Anemia อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคและภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อบ่อย ๆ เลือดไหลไม่หยุด มะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมถึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาบางชนิด อย่างการปลูกถ่ายไขกระดูก เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เป็นต้น

การป้องกัน Aplastic Anemia

เนื่องจากการเกิด Aplastic Anemia ส่วนใหญ่มักหาสาเหตุไม่พบ การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยวิธีต่อไปนี้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงสารเคมีบางชนิด เช่น ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช หรือน้ำยาลอกสี เป็นต้น
  • ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หรือมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบ บี