โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

ความหมาย โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

Spinal Stenosis หรือ โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโพรงกระดูกสันหลังที่แคบผิดปกติส่งผลให้เส้นประสาทไขสันหลังถูกกดทับ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ อย่างแขนขาอ่อนแรง ปวดหลัง หรือเสียการทรงตัว แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ

โรค Spinal Stenosis มักเกิดกับผู้สูงอายุที่ความแข็งแรงของกระดูกเริ่มเสื่อมลง ส่วนวิธีการรักษาโรค Spinal Stenosis อาจรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้

  • โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบส่วนคอ (Cervical stenosis)
  • โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบส่วนเอว (Lumbar stenosis)

Spinal Stenosis

อาการของ Spinal Stenosis

อย่างที่ได้กล่าวไป ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ ที่ทำให้สังเกตถึงความผิดปกติของร่างกาย แต่ในรายที่มีอาการ อาการเหล่านั้นอาจแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของบริเวณที่โพรงกระดูกตีบ และอาจค่อย ๆ ปรากฏอาการและรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยอาการของโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบอาจมี ดังนี้

  • ปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะหลังและคอ
  • เหน็บ ชา หรืออ่อนแรงตามแขน ขา และเท้า
  • เป็นตะคริวเมื่อเดินหรือยืนนาน ๆ
  • เสียการทรงตัว

ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ หรือมีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์ได้ อย่างไรก็ตาม หากพบอาการใด ๆ ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

สาเหตุของ Spinal Stenosis

สาเหตุที่ทำให้โพรงกระดูกสันหลังตีบลงนั้นอาจเกิดได้จากหลากสาเหตุ ดังนี้

  • กระดูกโตผิดปกติ
  • เส้นเอ็นหนาผิดปกติ
  • เนื้องอก
  • กระดูกสันหลังคดหรือโก่งผิดปกติ
  • กระดูกสันหลังผิดปกติหรือไขสันหลังแคบแต่กำเนิด
  • โรคกระดูกพรุน
  • โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
  • โรคพาเจท (Paget’s disease) หรือโรคกระดูกผิดรูป
  • ภาวะกระดูกไม่เติบโต (Achondroplasia) ที่เป็นสาเหตุของภาวะแคระแกร็น
  • การบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง

การวินิจฉัย Spinal Stenosis

ในการวินิจฉัยโรค Spinal Stenosis แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการสอบถามประวัติการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว จากนั้นแพทย์อาจทำการตรวจร่างกาย รวมทั้งสังเกตการเคลื่อนไหวของร่างกาย เนื่องจากโรคนี้สามารถส่งผลให้การเคลื่อนไหวร่างกายเปลี่ยน ในขั้นตอนต่อไปแพทย์อาจตรวจสอบด้วยวิธี ดังนี้

  • การแสดงภาพ แพทย์จะทำการแสดงภาพกระดูกภายในร่างกาย ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เอมอาร์ไอ (MRIs) หรือการแสดงภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กและคลื่นเสียงความถี่สูง ซีทีสแกน (CTs) หรือการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในการแสดงผล และการเอกซเรย์หรือการแสดงภาพด้วยการฉายรังสีเอกซ์ เป็นต้น
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyelogram) จะช่วยในการตรวจสอบการทำงานของเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลัง
  • การแสดงภาพกระดูก เพื่อตรวจสอบอาการบาดเจ็บหรือการเติบโตที่ผิดปกติของกระดูก

การรักษา Spinal Stenosis

วิธีการที่ใช้รักษาโรค Spinal Stenosis อาจมีได้ ดังนี้

1. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับหน้าท้องและหลัง ซึ่งอาจช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น

2. การใช้ยา
เนื่องจากโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดได้ การใช้ยาจึงมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการปวด อย่างยาแก้ปวด ยาต้านเศร้า ยากันชัก คอร์ติโซน และโอปิออยด์ ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยลดการทำงานของเส้นประสาทที่ส่งผลให้เกิดอาการปวด

3. การผ่าตัด
การผ่าตัดเพื่อรักษาโรค Spinal Stenosis อาจทำเพื่อขยายโพรงกระดูกสันหลัง ลดการกดทับในโพรงกระดูก หรือเชื่อมกระดูกสันหลัง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

4. การลดการกดทับ
การลดการกดทับเป็นวิธีการที่ใช้ลดการกดทับเส้นประสาท ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่คล้ายเข็มสอดเข้าไปยังกระดูกสันหลังเพื่อลดขนาดของกระดูกที่หนาผิดปกติจนกดทับเส้นประสาท

5. การรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก
แพทย์ทางเลือก อย่างการฝังเข็ม การนวด และไคโรแพรคติก (Chiropractic) หรือการจัดกระดูก เป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกที่อาจช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค Spinal Stenosis ได้ แต่ควรได้รับความเห็นจากแพทย์แผนปัจจุบันก่อน

ในเบื้องต้นหากมีอาการปวดอาจใช้วิธีการประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการก่อนไปพบแพทย์ และหากมีอาการปวดขณะเดินหรือเสียการทรงตัวอาจใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดินในการประคองตัว

ภาวะแทรกซ้อนของ Spinal Stenosis

ภาวะแทรกซ้อนของโรค Spinal Stenosis นั้นอาจพบได้ยาก แต่หากไม่เข้ารับการรักษาอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติหรือร้ายแรงได้ โดยโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ชา อ่อนแรง เสียการทรงตัว ปัสสาวะเล็ด และอัมพาต เป็นต้น

การป้องกัน Spinal Stenosis

กลุ่มเสี่ยงที่พบว่าเป็นโรคนี้มากที่สุดคือผู้สูงอายุที่อายุ 50 ปี ขึ้นไป โดยอาจเกิดจากการเสื่อมของกระดูกตามอายุ รวมถึงโรคอื่น ๆ จึงควรดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ในกรณีผู้ที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดอาจไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อบรรเทาอาการหรือหาวิธีรักษาต่อไป โดยวิธีที่อาจช่วยบรรเทาอาการและป้องกันโรค Spinal Stenosis ได้ เช่น รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อรักษาสุขภาพโดยรวม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความแข็งแรงและยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและกระดูก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของร่างกายอยู่เป็นประจำ เป็นต้น