โรคเรเนาด์ (Raynaud Disease)

ความหมาย โรคเรเนาด์ (Raynaud Disease)

Raynaud Disease (โรคเรเนาด์) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติขึ้นกับหลอดเลือดเมื่อเจอความเย็นหรือมีความเครียด ทำให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการมีสีซีดลง รู้สึกเย็น หรือไร้ความรู้สึก ซึ่งอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า โดย Raynaud Disease เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัยแต่ก็เป็นโรคที่พบได้น้อย ปกติแล้วจะมีอาการไม่รุนแรง แต่บางกรณีอาจทำให้เป็นแผลหรือเกิดภาวะเนื้อเยื่อตายได้

Raynaud Disease

อาการของ Raynaud Disease

เมื่อผิวหนังสัมผัสกับความเย็น ร่างกายจะพยายามรักษาความร้อนไว้ ทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กในบริเวณดังกล่าวหดตัวมากขึ้น การไหลเวียนเลือดไปยังจุดที่ไกลที่สุดอย่างมือและเท้าทั้งสองข้างจึงลดลง หากเป็นโรค Raynaud Disease จะทำให้อาการดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติและหลอดเลือดมีการหดตัวมากกว่าปกติ จนทำให้ผิวหนังมีสีซีดลงและรู้สึกเย็นบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ซึ่งอาการดังกล่าวอาจคงอยู่ประมาณ 15 นาที เมื่อร่างกายอุ่นขึ้น เส้นเลือดที่เคยหดจะคลายตัวจนอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการมีสีแดงและรู้สึกปวด เสียวซ่า หรือเกิดการบวมได้ หลังจากนั้นสีของผิวหนังจะกลับเป็นปกติ นอกจากที่นิ้วมือและนิ้วเท้าแล้ว Raynaud Disease ยังอาจเกิดที่อวัยวะอื่นในร่างกายได้ เช่น หู จมูก ปาก หรือหัวนม เป็นต้น  

โดยโรคเรเนาด์มี 2 ประเภท ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน ได้แก่

  • โรคเรเนาด์ปฐมภูมิ
    เกิดขึ้นได้เองแม้ไม่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ เป็นสาเหตุ ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ เป็นโรคเรเนาด์ที่พบได้มากที่สุด
  • โรคเรเนาด์ทุติยภูมิ
    มีสาเหตุมาจากโรคอื่นซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดโรคเรเนาด์รูปแบบดังกล่าวขึ้นกับผู้ป่วย โรคเรเนาด์ประเภทนี้มักไปทำลายเนื้อเยื่อบางชนิดในร่างกาย จนอาจเกิดอาการรุนแรงอย่างเนื้อตายเน่าได้ เป็นโรคเรเนาด์ที่พบได้น้อยแต่มีความรุนแรงกว่าประเภทแรก

อย่างไรก็ตาม หากเคยมีประวัติเป็นโรคเรเนาด์แบบรุนแรงมาก่อน อาการของโรคมีความรุนแรงมากหรืออาการแย่ลง ผิวหนังเป็นผื่นหรือเป็นแผล ติดเชื้อบริเวณที่มีอาการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดข้อต่อ มีอาการชาด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย อาการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพิ่งเคยเกิดอาการของโรคเป็นครั้งแรกตอนอายุมากกว่า 30 ปี หรืออาการของโรคเรเนาด์เกิดขึ้นกับเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม

สาเหตุของ Raynaud Disease

ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ชัดเจนของอาการ Raynaud’s Disease ทราบเพียงหลอดเลือดบริเวณมือหรือเท้ามีการตอบสนองมากเกินไปเมื่อสัมผัสกับความเย็นหรือความเครียด โดยโรคเรเนาด์แต่ละประเภทก็มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • โรคเรเนาด์ปฐมภูมิ
    โรคเรเนาด์ประเภทนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดโรคได้
  • โรคเรเนาด์ทุติยภูมิ
    โรคเรเนาด์ทุติยภูมิเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอย่างโรคหนังแข็ง โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดอย่างภาวะหลอดเลือดแข็งหรือโรคเบอร์เกอร์ซึ่งเป็นโรคที่เกิดการอักเสบบริเวณหลอดเลือดที่มือและเท้า กลุ่มอาการประสาทมือชา การได้รับบาดเจ็บที่มือหรือเท้า การเคลื่อนไหวอวัยวะที่ซ้ำไปซ้ำมา อย่างการเล่นเปียโน และการสูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ โรคเรเนาด์ทุติยภูมิยังอาจเป็นผลจากการรักษาด้วยยาบางชนิด เช่น ยาเบต้า บล็อกเกอร์ ยารักษาไมเกรนที่มีส่วนผสมของยาเออร์โกตามีนหรือซูมาทริปแทน ยารักษาโรคสมาธิสั้น ยาเคมีบำบัด หรือยาที่ทำให้หลอดเลือดตีบ เป็นต้น

อีกทั้งการเป็นโรคหรืออาการที่มีความเกี่ยวข้องกับโรค Raynaud Disease อย่างโรคพุ่มพวงหรือโรครูมาตอยด์ การประกอบอาชีพที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีการสั่นสะเทือน หรือการสัมผัสกับสารบางชนิด ยังอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเรเนาด์แบบทุติยภูมิได้

นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเรเนาด์ เช่น เป็นเพศหญิง เป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-30 ปี อาศัยอยู่ในที่ที่มีอากาศหนาวเย็น มีคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดทางสายเลือดอย่างบิดา มารดา พี่น้อง หรือลูกเป็นโรคเรเนาด์ เป็นต้น

การวินิจฉัย Raynaud Disease

เบื้องต้นแพทย์อาจสอบถามข้อมูลผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการรักษา อาการที่เกิดขึ้น ตรวจการไหลเวียนเลือดโดยดูจากสุขภาพของผิวหนังและเล็บบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้า และตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อหาสัญญาณของโรคหรือภาวะที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคเรเนาด์แบบทุติยภูมิ

นอกจากนี้ แพทย์อาจจำแนกประเภทของ Raynaud Disease โดยใช้วิธีตรวจเส้นเลือดฝอยขอบเล็บ ซึ่งแพทย์จะนำกล้องและเครื่องมือบางชนิดมาตรวจที่บริเวณผิวหนังปลายนิ้วของผู้ป่วยเพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดเล็กในบริเวณดังกล่าว หากแพทย์สงสัยว่าโรคเรเนาด์ที่เป็นอยู่มีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ อย่างโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน แพทย์อาจตรวจเลือดเพิ่มเติมโดยตรวจดูแอนติบอดี้ที่สร้างขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วย ซึ่งอาจบอกได้ถึงความผิดปกติที่ระบบภูมิคุ้มกันหรือสิ่งที่ไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และอาจใช้วิธีตรวจดูอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง  หากเม็ดเลือดแดงมีอัตราการตกตะกอนเร็วกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการอักเสบหรือโรคในระบบภูมิคุ้มกัน

การรักษา Raynaud Disease

การรักษา Raynaud Disease จะมุ่งเน้นเพื่อลดพื้นที่ที่เกิดอาการและลดความรุนแรงลง ป้องกันเนื้อเยื่อเสียหาย และรักษาโรคประจำตัวใด ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรค โดยใช้วิธีการต่อไปนี้

  • การดูแลอาการด้วยตนเอง
    หากเกิดอาการของ Raynaud Disease ขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากความเย็น ควรหาทางทำให้ร่างกายอุ่นขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เข้าไปอยู่ในอาคารหรือสถานที่ที่อบอุ่น เปิดน้ำอุ่นให้ไหลผ่านนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ซุกมือไว้ใต้รักแร้ แกว่งแขนเป็นวงกลม ขยับนิ้วมือและนิ้วเท้าของตนเอง หรือนวดบริเวณที่เกิดอาการ เป็นต้น หากความเครียดเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ ควรออกจากสถานการณ์นั้น ๆ แล้วหาวิธีทำให้ตนเองผ่อนคลาย หรือแช่มือหรือเท้าลงในน้ำอุ่นเพื่อบรรเทาอาการ
  • การรักษาด้วยยา
    แพทย์จะพิจารณาใช้ยาตามสาเหตุของโรค เช่น ใช้ยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์อย่างไนเฟดิปีน หรือแอมโลดิปีน เพื่อทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณมือและเท้าคลายตัว ซึ่งมีส่วนช่วยในการรักษาแผลที่เกิดบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้าได้อีกด้วย หรือใช้ยาขยายหลอดเลือดเพื่อช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว มีหลายชนิดอย่างลอซาร์แทน ซิลเนดาฟิล หรือฟลูออกซิทีน นอกจากนี้ อาจใช้ยาไนโตรกลีเซอรินแบบครีมทาที่นิ้วมือเพื่อรักษาแผลบนผิวหนังได้ เป็นต้น
  • การรักษาด้วยขั้นตอนทางการแพทย์
    การรักษาด้วยขั้นตอนทางการแพทย์อย่างการผ่าตัดเส้นประสาทซิมพาเทติกซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการขยายตัวหรือหดตัวของเส้นเลือด โดยแพทย์จะผ่าตัดมือหรือเท้าในบริเวณที่มีอาการเพื่อนำเส้นประสาทซิมพาเทติกขนาดเล็กที่อยู่รอบเส้นเลือดออก หากการผ่าตัดสำเร็จอาจช่วยลดความถี่และระยะเวลาของการแสดงอาการแต่ละครั้งให้สั้นลงได้ ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ การฉีดสารเคมีอย่างยาชาเฉพาะที่หรือโบทูลินัมท็อกซินชนิดเอ เพื่อยับยั้งเส้นประสาทซิมพาเทติกที่อาจเป็นสาเหตุของโรค

นอกจากนี้ อาหารเสริมหรือการปรับพฤติกรรมบางอย่างอาจช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยรับมือกับ Raynaud Disease ได้ เช่น การรับประทานน้ำมันปลาอาจช่วยให้ทนกับความหนาวเย็นได้มากขึ้น การรับประทานแปะก๊วยอาจช่วยให้เกิดอาการของโรคเรเนาด์น้อยลง การฝังเข็มอาจช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น หรือการใช้วิธีไบโอฟีดแบค (Biofeedback) เพื่อควบคุมอุณหภูมิในร่างกายของตนเอง อย่างการใช้ความคิดหรือฝึกลมหายใจ เป็นต้น แต่ก่อนจะใช้วิธีใด ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อน เพราะยังมีหลักฐานสนับสนุนไม่มากพอและวิธีการบางอย่างอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ภาวะแทรกซ้อนของ Raynaud Disease

แม้จะเป็นกรณีที่พบได้น้อย แต่โรคเรเนาด์แบบทุติยภูมิอาจรุนแรงจนทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้าน้อยลงจนเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวอาจเกิดความเสียหายได้ และหากเลือดที่ไหลไปเลี้ยงอวัยวะนั้น ๆ ถูกปิดกั้นทั้งหมด อาจทำให้ผิวหนังเป็นแผลหรือเกิดภาวะเนื้อตายเน่าได้ซึ่งรักษาได้ยาก อีกทั้งในกรณีที่รุนแรงมากอาจต้องตัดอวัยวะส่วนที่มีอาการทิ้ง

การป้องกัน Raynaud Disease

การปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยป้องกันอาการของโรคเรเนาด์ได้ เช่น

  • สวมอุปกรณ์ป้องกันอากาศหนาวทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เช่น เสื้อกันหนาว ผ้าพันคอ หมวก ถุงมือ ถุงเท้า หรือรองเท้าบูท เป็นต้น
  • ปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไม่ให้ต่ำเกินไป หากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาว อาจใช้วิธีปิดประตู หน้าต่าง หรือเปิดเครื่องทำความร้อนเพื่อให้บ้านอุ่นอยู่เสมอ
  • สวมถุงมือเมื่อต้องหยิบของออกจากตู้เย็น รวมถึงสวมถุงมือและถุงเท้านอนเมื่ออยู่ในฤดูหนาว
  • เปิดเครื่องทำความร้อนในรถยนต์เมื่อต้องขับไปในที่ที่มีอากาศหนาวเย็น
  • ออกกำลังกาย เช่น เล่นโยคะหรือฝึกการหายใจเพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
  • รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม
  • ไม่ดื่มกาแฟหรือชามากเกินไป เพราะคาเฟอีนหรือสารกระตุ้นอื่น ๆ อาจทำให้รู้สึกไม่ผ่อนคลายและเกิดความเครียดได้ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงควันบุหรี่จากผู้อื่น เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น