โครงสร้างของผิวหนังและโรคผิวหนังที่อาจพบได้

โครงสร้างของผิวหนังมีองค์ประกอบที่ซับซ้อน และเป็นอวัยวะที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยมีพื้นที่ประมาณ 20 ตารางฟุตหรือ 1.86 ตารางเมตร ประกอบด้วยน้ำ โปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่าง ๆ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชั้น แต่ละชั้นมีโครงสร้างและหน้าที่ที่แตกต่างกัน

ผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายหลายด้าน ทำหน้าที่เป็นปราการด่านแรกที่ปกป้องร่างกายจากการถูกทำลายของเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม สารเคมี รังสียูวี และการได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกายให้เป็นปกติ และเป็นส่วนที่ทำให้เรารับรู้ความรู้สึกได้อีกด้วย

โครงสร้างของผิวหนังและโรคผิวหนังที่อาจพบได้

โครงสร้างของผิวหนัง

ผิวหนังแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ชั้นหนังแท้ (Dermis) และชั้นไขมัน (Hypodermis หรือ Subcutis) ซึ่งความหนาของผิวแต่ละชั้นจะแตกต่างกันตามอวัยวะ เช่น ผิวบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าเป็นส่วนที่หนาที่สุด และผิวบริเวณเปลือกตาจะบางที่สุด โดยแต่ละชั้นผิวมีโครงสร้างและหน้าที่ต่างกันดังนี้

1. ชั้นหนังกำพร้า

ชั้นหนังกำพร้าเป็นผิวหนังชั้นนอกสุด ทำหน้าที่ป้องกันผิวจากเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกาย และปกป้องผิวจากสภาพแวดล้อมภายนอก อย่างฝุ่นและแสงแดด และสร้างเซลล์ผิวใหม่เพื่อทดแทนเซลล์ผิวเก่าทุก 30 วัน 

ชั้นหนังกำพร้าประกอบด้วยเซลล์สำคัญ 3 ชนิดคือ เคราติโนไซต์ (Keratinocytes) หรือเซลล์ผิวหนัง เมลาโนไซต์ (Melanocytes) ทำหน้าที่ผลิตเมลานิน (Melanin) หรือเม็ดสีผิวที่ทำให้คนเรามีสีผิวแตกต่างกัน และเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ (Langerhans Cells) เป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันผิวจากการติดเชื้อ

โดยชั้นหนังกำพร้าประกอบด้วย 5 ชั้นผิวย่อย ได้แก่

  • Stratum Corneum เป็นชั้นที่อยู่ด้านนอกสุด ประกอบด้วยเซลล์เคราติโนไซต์ที่ตายแล้วหรือขี้ไคล ซึ่งจะหลุดออกตามกระบวนการผลัดผิวตามธรรมชาติ ผิวชั้นนี้มีหน้าที่ปกป้องผิวจากการถูกทำลายจากภายนอก และช่วยรักษาความชุ่มชื้นในผิวหนัง
  • Stratum Lucidum เป็นผิวหนังส่วนหนา (Thick Skin) โดยพบบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า
  • Stratum Granulosum เป็นชั้นผิวที่สร้างไกลโคลิพิด (Glycolipids) ซึ่งเป็นสารที่ประกอบด้วยไขมันและคาร์โบไฮเดรต ทำหน้าที่เป็นตัวประสานให้เซลล์ยึดเกาะกัน
  • Stratum Spinosum เป็นชั้นผิวที่หนาที่สุดในชั้นหนังกำพร้า ประกอบด้วยเซลล์เคราติโนไซต์และเซลล์เดนดริติก (Dendritic Cells) ซึ่งเป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่ป้องกันและจำกัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ผิวหนัง
  • Stratum Basale เป็นชั้นผิวที่ลึกที่สุดของชั้นหนังกำพร้า ทำหน้าที่ผลิตเคราติโนไซต์ที่เป็นเกราะป้องกันผิว เมื่อเคราติโนไซต์สะสมมากขึ้นจะดันเซลล์เก่าขึ้นสู่ชั้นผิวด้านบนและกลายเป็นขี้ไคลที่ชั้น Stratum Corneum นอกจากนี้อาจพบเมลาโนไซต์ที่ผลิตเม็ดสีผิวที่ผิวชั้นนี้เช่นกัน

2. ชั้นหนังแท้

ผิวชั้นหนังแท้มีความสำคัญต่อโครงสร้างของผิวหนัง เพราะประกอบด้วยคอลลาเจน (Collagen) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ความแข็งแรงแก่ผิวหนัง อีลาสติน (Elastin) ซึ่งสร้างความยืดหยุ่นให้กับผิวหนัง ต่อมเหงื่อที่ผลิตเหงื่อเพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกาย และต่อมไขมันที่รักษาความผิวชุ่มชื้นของผิวหนัง

นอกจากนี้ ชั้นหนังแท้ยังประกอบด้วยรูขุมขน เส้นเลือด เส้นประสาท และปลายประสาทรับความรู้สึกจำนวนมาก ทำให้เรารับความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความร้อนและความเจ็บปวด และช่วยลำเลียงสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อผิวไปให้ชั้นหนังกำพร้าและทำให้ผิวมีสุขภาพดี

3. ชั้นไขมัน

ชั้นไขมันเป็นชั้นผิวที่ลึกที่สุดในโครงสร้างของผิวหนัง มีองค์ประกอบหลักคือไขมัน ทำหน้าที่ปกป้องกล้ามเนื้อและกระดูกจากการได้รับบาดเจ็บ และช่วยให้ร่างกายอบอุ่น นอกจากนี้ ในชั้นไขมันประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท และเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างชั้นผิวและกล้ามเนื้อหรือกระดูกเข้าด้วยกัน

ปัญหาผิวที่พบในโครงสร้างของผิวหนังแต่ละชั้น

ปัญหาผิวบางอย่างอาจไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ เพียงแค่ส่งผลต่อความสวยงามและความมั่นใจ แต่หากเป็นโรคผิวหนังอาจก่อให้เกิดอาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง ซึ่งในโครงสร้างของผิวหนังแต่ละชั้นอาจเกิดปัญหาผิวที่แตกต่างกัน

ชั้นหนังกำพร้าเป็นชั้นผิวที่เกิดโรคผิวหนังได้มากที่สุด โดยโรคที่พบอาจเกิดจากความผิดปกติจากพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต และสภาพแวดล้อม เช่น การสัมผัสแสงแดดจัดเป็นเวลานาน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เป็นประจำ จึงอาจทำให้เกิดโรคผิวหนังได้หลายประเภท เช่น สิว ปาน สะเก็ดเงิน เซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ภูมิแพ้ ไปจนถึงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma)

โรคผิวหนังที่เกิดในชั้นผิวหนังแท้ เช่น เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) ซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous Cyst) และเนื้องอกของผิวหนังชนิดเท้าแสนปม (Dermatofibroma) ซึ่งโรคเหล่านี้อาจทำให้ผิวชั้นหนังกำพร้าได้รับความเสียหายไปด้วย 

ในชั้นไขมันอาจเกิดภาวะอักเสบของชั้นไขมันใต้ชั้นผิวหนัง (Panniculitis) โรคเรเนาด์ (Raynaud Disease) ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดในการปรับอุณหภูมิของร่างกาย และโรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) ซึ่งอาจทำให้เกิดกลุ่มเซลล์อักเสบที่ผิวหนัง และส่งผลต่อความเสียหายของผิวชั้นไขมันได้

หากสังเกตเห็นความผิดปกติของผิว เช่น ตุ่มหรือผื่นแดง รอยช้ำและแผลไหม้รุนแรง รอยแผลที่ไม่สามารถหายได้เอง และอาการของการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น มีหนองหรือน้ำเหลืองไหลออกจากผิว ผิวบวมแดง คัน แตก และมีไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา

โครงสร้างผิวหนังอาจฟังดูเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและอาจทำให้เป็นกังวลว่า จะเกิดปัญหาผิวและโรคผิวหนังต่าง ๆ ได้ง่าย แต่การดูแลผิวหน้าและผิวกายเป็นประจำอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้ผิวมีสุขภาพดีและป้องกันการเกิดปัญหาผิวตามมาได้เช่นกัน เช่น รักษาความสะอาดของผิว ทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และไม่สูบบุหรี่