เล็บเป็นโพรง รู้จักสาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

เล็บเป็นโพรง (Onycholysis) เป็นอาการที่เล็บแยกตัวออกจากฐานเล็บ จนเห็นเป็นโพรงบริเวณใต้เล็บ ซึ่งอาจส่งผลให้เล็บมีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น เล็บร่น ฐานเล็บหนาและแข็ง ปลายเล็บหนาขึ้นหรือบางลง เล็บอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เขียว ขาวหรือเทา เล็บเป็นโพรงอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น อาการบาดเจ็บที่เล็บ การติดเชื้อราและโรคผิวหนังบางชนิด

เล็บเป็นโพรงอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในเล็บมือและเล็บเท้า ซึ่งมักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บได้หากมีสาเหตุจากอาการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อรา ทั้งนี้ เล็บเป็นโพรงเป็นอาการที่ไม่สามารถหายไปได้เอง แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการ เพื่อให้เล็บที่งอกใหม่กลับมามีสุขภาพดีเหมือนเดิม

เล็บเป็นโพรง

สาเหตุที่อาจทำให้เล็บเป็นโพรง

เล็บเป็นโพรงเป็นอาการที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เมื่อเป็นแล้วมักมีอาการนานหลายเดือนหรืออาจนานเป็นปี ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากอาการหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น

1. อาการบาดเจ็บที่เล็บ

เล็บเป็นโพรงอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่เล็บหรือบริเวณโคนเล็บ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหน้าที่ในการสร้างเล็บให้งอกยาวขึ้น โดยอาการบาดเจ็บต่าง ๆ อาจสร้างความเสียหายแก่เล็บและส่งผลให้เล็บเป็นโพรงได้ เช่น การกระแทกกับของแข็ง การใส่รองเท้าที่เล็กเกินไป การสัมผัสน้ำเป็นเวลานาน รวมไปถึงอาการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรงแต่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น การใช้เล็บกดแป้นพิมพ์เป็นประจำ  

นอกจากอาการบาดเจ็บข้างต้น การทำเล็บบ่อย ๆ ก็อาจส่งผลให้เล็บเป็นโพรงได้เช่นกัน เพราะอาจมีการใช้อุปกรณ์ทำเล็บดันเข้าใต้เล็บเพื่อทำความสะอาดสิ่งสกปรก ซึ่งอาจทำให้เล็บแยกออกจากฐานเล็บได้ นอกจากนี้ การที่เล็บสัมผัสสารเคมีในน้ำยาทาเล็บ น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาล้างเล็บ หรือการติดเล็บปลอมก็อาจส่งผลให้เกิดโพรงใต้เล็บได้เช่นกัน

2. การติดเชื้อราที่เล็บ

การติดเชื้อราที่เล็บเกิดขึ้นเมื่อมีเชื้อราเข้าไปในรอยบาดแผลที่เล็บมือหรือเล็บเท้า ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณเล็บหรือฐานเล็บ ทำให้เล็บหนาขึ้น และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ซึ่งอาจส่งผลให้ปลายเล็บยกขึ้น ปลายเล็บร่นหรือเกิดเป็นโพรงใต้เล็บ นอกจากนี้อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหรือปวดเล็บ คันรอบเล็บ หรือเล็บส่งกลิ่นเหม็น

3. โรคผิวหนังบางชนิด

โรคผิวหนังบางชนิดอย่างสะเก็ดเงินอาจส่งผลให้เล็บเป็นโพรงได้ โดยสะเก็ดเงินเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เล็บหนาขึ้นหรือบางลง และยกตัวขึ้นจากฐานเล็บ ซึ่งอาจก่อให้เกิดเป็นโพรงบริเวณใต้เล็บ นอกจากนี้ โรคสะเก็ดเงินอาจทำให้เล็บมีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น เล็บเปราะหรือฉีกได้ง่าย ผิวเล็บแห้งหรือลอกเป็นขุย มีรอยบุ๋มเล็ก ๆ เกิดขึ้นบนเล็บ โดยอาจมีอาการคันและแดงร่วมด้วย

นอกจากนี้ เล็บเป็นโพรงอาจเกิดจากโรคไลเคน พลานัส (Lichen Planus) บริเวณเล็บ ซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่อาจส่งผลให้เล็บเกิดความผิดปกติ เช่น เล็บเป็นร่อง เล็บหนา เล็บมีสีเข้มขึ้น เล็บร่นหรือเล็บเป็นโพรง ทั้งนี้ อาจส่งผลต่อการงอกของเล็บได้เช่นกัน โดยเล็บอาจหลุดหรือหยุดงอกได้ 

4. การใช้ยาบางชนิด

การทำคมีบำบัด (Chemotherapy) และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยาซอราเลนส์ (Psoralens) ยาเรตินอยด์สำหรับรับประทาน (Oral retinoids) อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการไวต่อแสง โดยเล็บอาจเกิดปฏิกิริยาต่อแสงแดด ซึ่งอาจส่งให้เล็บแยกตัวออกจากฐานเล็บและเกิดเป็นโพรงได้

5. การขาดสารอาหาร

สารอาหารบางชนิด เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยให้เล็บมีสุขภาพดีและแข็งแรง การขาดสารอาหารเหล่านี้ อาจส่งผลให้เล็บอ่อนแอ เล็บเปราะง่ายและอาจแยกตัวออกจากฐานเล็บจนเกิดเป็นโพรงหรือช่องว่างใต้เล็บได้

นอกจากนี้ เล็บเป็นโพรงอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นเร็ว น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น

วิธีรับมือกับเล็บเป็นโพรงอย่างเหมาะสม

หากปล่อยอาการเล็บเป็นโพรงทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้ฐานเล็บเกิดรอยแผลเป็น และทำให้เล็บที่งอกขึ้นใหม่มีรูปร่างผิดปกติได้  โดยการรักษาเล็บเป็นโพรงอาจไม่สามารถช่วยให้เล็บกลับไปติดฐานเล็บเหมือนเดิมได้ แต่อาจช่วยรักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดเล็บเป็นโพรง และช่วยให้เล็บที่งอกใหม่ติดกับฐานเล็บเหมือนเดิมได้

เนื่องจากเล็บเป็นโพรงอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุอาจมักมีอาการคล้ายกัน หากไม่มั่นใจว่าเล็บเป็นโพรงเกิดจากสาเหตุใด ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม โดยวิธีรักษาเล็บเป็นโพรงอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการ เช่น

  • หากเล็บเป็นโพรงเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่เล็บ ควรรอให้เล็บยาว และตัดเล็บบริเวณที่ร่นทิ้ง
  • หากเล็บเป็นโพรงเกิดจากการติดเชื้อรา อาจใช้ยาต้านเชื้อราสำหรับทาเพื่อทาลงบริเวณเล็บและรอบ ๆ เล็บ
  • หากเล็บเป็นโพรงเกิดจากโรคสะเก็ดเงิน ควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์อาจจ่ายครีมวิตามินดี หรือครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อใช้ทาบนบริเวณที่เกิดสะเก็ดเงินบนเล็บ

ทั้งนี้ เล็บเป็นโพรงอาจใช้เวลานานในการรักษา โดยผู้ที่มีอาการเล็บเป็นโพรงสามารถดูแลตนเองได้ด้วยวิธีดังนี้

  • ตัดเล็บบริเวณที่มีอาการเล็บเป็นโพรงออกเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บที่เล็บหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่อาจทำให้เล็บเกิดการระคายเคือง เช่น สารเคมีในน้ำยาล้างเล็บ
  • แช่เล็บในน้ำมะนาว น้ำส้มสายชูหรือทีทรีออยล์ อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อได้
  • ไม่ควรทำความสะอาดบริเวณฐานเล็บ เพราะอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายลึกลงไปใต้เล็บ และทำให้อาการเล็บเป็นโพรงแย่ลง
  • ล้างมือเป็นประจำเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

เล็บเป็นโพรงอาจป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้โดยวิธีต่าง ๆ เช่น ตัดเล็บให้สั้น รักษาเล็บให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อเล็บ ใส่รองเท้าที่พอดี กินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเพื่อบำรุงเล็บให้แข็งแรง เช่น วิตามินบี ซีและอี ทั้งนี้ หากเล็บเป็นโพรงยังคงไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงกว่าเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป