ยาทาเล็บ ใช้อย่างไรให้เล็บสวยสุขภาพดี ?

ยาทาเล็บเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แต่งแต้มสีสันเพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่เล็บ ทั้งยังบ่งบอกรสนิยมเจ้าของเล็บด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้ยาทาเล็บอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจไม่ใช่เรื่องที่ดี และควรศึกษาวิธีใช้ยาทาเล็บอย่างถูกต้อง เพื่อให้เล็บสวยและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ

1543 ยาทาเล็บ Resized

สารเคมีอันตรายในยาทาเล็บ

สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของยาทาเล็บบางชนิด ไม่เพียงแค่ช่วยทำให้เล็บสวยมีสีสัน แต่อาจก่อผลเสียต่อสุขภาพได้ด้วยเช่นกันหากใช้เป็นเวลานาน เช่น

  • ฟอร์มาลดีไฮด์ สารไร้สีที่มีกลิ่นฉุน ใช้เป็นส่วนประกอบของยาทาเล็บและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่เล็บ โดยจับตัวกับเคราตินของเล็บซึ่งเป็นโปรตีนจากธรรมชาติ แต่หากใช้บ่อยครั้งจะทำให้เล็บแห้ง เปราะ หรือฉีกได้ง่าย หากสัมผัสกับผิวหนังอาจทำให้เกิดการระคายเคือง และยังมีการศึกษาที่ระบุว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฟอร์มาลดีไฮด์เป็นเวลานานอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งบางชนิดได้ ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้ฟอร์มาลดีไฮด์ควรอ่านฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ก่อนและหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาเล็บที่มีส่วนผสมของสารชนิดนี้ รวมถึงฟอร์มาลีน เมทิลีนไกลคอล โทลูอีนซัลโฟนาไมด์ หรือฟอร์มาลดีไฮด์เรซินด้วย
  • ธาเลต เป็นกลุ่มสารเคมีที่ใช้เป็นพลาสติไซเซอร์ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความอ่อนนุ่ม และลดความเปราะของเล็บ อีกทั้งยังใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย เช่น สบู่ แชมพู น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ของเล่นเด็ก เครื่องมือทางการแพทย์ หรือบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร เป็นต้น ซึ่งหากใช้เป็นเวลานานอาจเกิดการสะสมของสารเคมีจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะพิษเรื้อรัง ตกเลือดในปอด ตับโต และเป็นพิษต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้
  • โทลูอีน เป็นตัวทำละลายที่ผสมในยาทาเล็บ ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่เล็บ และยังเป็นส่วนประกอบในน้ำยาล้างเล็บด้วย หากผลิตภัณฑ์ที่ใช้มีความเข้มข้นของสารโทลูอีนไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ก็สามารถใช้กับเล็บได้อย่างปลอดภัย แต่หากนำไปใช้ผิดวิธีอย่างสูดดม สัมผัสกับผิวหนัง หรือรับประทาน อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และทำให้มีอาการ เช่น ง่วงนอน เมื่อยล้า ปวดศีรษะ คลื่นไส้ แสบจมูก แสบตา เป็นต้น
  • เมทิลเมทาคริเลต โมโนเมอร์ เป็นส่วนประกอบหลักในการทำเล็บอะคริลิคที่ทำปฏิกิริยาร่วมกับอะคริลิคโมโนเมอร์หรือโพลิเมอร์ชนิดอื่น ๆ และยังพบได้ในยาทาเล็บบางชนิด สารนี้อาจทำให้เล็บเกิดความเสียหายได้ ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้หรือไวต่อเมทิลเมทาคริเลตก็อาจทำให้เนื้อใต้เล็บมีอาการแดง ปวด หรือบวม อีกทั้งหากสารสัมผัสกับผิวหนังก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน

ทำไมถึงไม่ควรใช้ยาทาเล็บเป็นเวลานาน ?

เล็บเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นแผ่นปกคลุมและทำหน้าที่ปกป้องเนื้อใต้เล็บที่อยู่ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า การดูแลสุขภาพเล็บจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ที่ชอบทาเล็บควรเว้นจากการใช้ยาทาเล็บเป็นระยะ เพื่อให้เล็บได้ระบายความชื้นออกไป เพราะหากใช้ยาทาเล็บต่อเนื่องเป็นเวลานาน เม็ดสีของยาทาเล็บจะซึมและติดอยู่ในเล็บ ทำให้ยีสต์ เชื้อรา หรือแบคทีเรียก่อตัวขึ้นที่ใต้แผ่นเล็บ สีของยาทาเล็บก็อาจทำให้เล็บเหลือง และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวตามมาได้

นอกจากนี้ หากยาทาเล็บกระเด็นเข้าตา รวมทั้งใช้ยาทาเล็บผิดวิธีอย่างกลืนลงท้องหรือสูดดมไอระเหยจากยาทาเล็บในปริมาณมาก อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้

  • แสบตา ตาแดง เยื่อบุตาได้รับความเสียหาย
  • ปัสสาวะบ่อย
  • วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
  • เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หายใจลำบาก หายใจช้าลง หรือหายใจหอบเหนื่อย
  • เคลิ้ม หลอน มึนงง
  • เดินเซ สูญเสียการทรงตัว
  • ชัก หรือมีอาการโคม่า

คำแนะนำในการใช้ยาทาเล็บให้ปลอดภัย มีเล็บที่สวยและสุขภาพดี

ผู้ที่ต้องการทาเล็บควรอ่านฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ที่บอกส่วนประกอบ วันหมดอายุ และวิธีการใช้ โดยปฏิบัติตามวิธีการใช้งานให้ถูกต้อง เพราะยาทาเล็บมักประกอบด้วยส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และควรใช้ยาทาเล็บในสถานที่ที่ปลอดโปร่งหรือมีอากาศถ่ายเทสะดวก นอกจากนี้ ยาทาเล็บยังประกอบด้วยสารเคมีที่ติดไฟง่ายอย่างฟอร์มาลดีไฮด์ จึงไม่ควรเก็บไว้ใกล้เปลวไฟหรือแหล่งความร้อน เช่น เตาไฟ หรือไมโครเวฟ เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้