เรื่องควรรู้เกี่ยวกับน้ำหนักเด็ก

น้ำหนักเด็ก คือ น้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐานของการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะเด็กในวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี เนื่องจากเด็กอายุในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีพัฒนาการทางร่างกายค่อนข้างมาก น้ำหนักของเด็กมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก รวมทั้งอาจบอกได้ถึงความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อีกด้วย

น้ำหนักเด็ก

น้ำหนักที่ดีของเด็ก วัดได้โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ตามแผนผังการเจริญเติบโต (Growth Chart) เป็นหลัก โดยแผนผังจะแสดงถึงกราฟ (Graph) การเจริญเติบโตของเด็กแต่ละช่วงอายุไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ส่วนสูง หากเป็นเด็กทารกจะใช้ความยาวของร่างกาย เพื่อระบุว่าเด็กมีการเจริญเติบโตที่ปกติหรือไม่ ซึ่งปกติแล้ว เด็กแรกคลอดที่อายุครรภ์ครบกำหนดจะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 3,000 กรัม หรืออยู่ในช่วง 2,500-4,000 กรัม ซึ่งปกติแล้วหลังจากทารกเกิดได้ 5-7 วัน น้ำหนักตัวทารกจะลดลงเล็กน้อย โดยอัตราการลดลงของน้ำหนักในเด็กแรกเกิดจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

  • สำหรับทารกที่ดื่มนมแม่ น้ำหนักตัวจะลดลงประมาณ 7-10% ของน้ำหนักแรกเกิด
  • สำหรับทารกที่ดื่มนมผสม น้ำหนักตัวจะลดลงประมาณ 5% ของน้ำหนักแรกเกิด

ทั้งนี้น้ำหนักของเด็กจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับน้ำหนักแรกเกิดเมื่ออายุ 10-14 วันขึ้นไป แต่ถ้าหากเด็กอาการป่วย หรือเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดก็จะต้องใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์กว่าน้ำหนักจะกลับมาเทียบเท่ากับตอนแรกเกิดได้ ซึ่งในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี ผู้ปกครองควรชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงของเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้

  • อายุ 2 สัปดาห์-6 เดือน เดือนละ 1 ครั้ง
  • 6 เดือน-12 เดือน 1 ครั้ง ต่อ ทุก ๆ 2 เดือน
  • 12 เดือนขึ้นไป 1 ครั้ง ต่อ ทุก ๆ 3 เดือน

โดยทั่วไปแล้วเมื่อผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีนที่โรงพยาบาลจะต้องมีการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเพื่อประเมินการเจริญเติบทางร่างกายของเด็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ปกครองติดตามการเจริญเติบโดของบุตรหลานได้ด้วยการจดลงสมุดวัคซีน ที่จะมีกราฟบันทึกน้ำหนักและส่วนสูง โดยสามารถดูได้คร่าว ๆ ว่าการเติบโตเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่

ทั้งนี้น้ำหนักของเด็กถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะหากน้ำหนักของเด็กเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่จัดไว้ แสดงให้เห็นว่าเด็กมีการเจริญเติบโตที่เป็นไปตามวัยอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าหากมีน้ำหนักที่น้อยกว่า หรือมากกว่าเกณฑ์นั่นอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติทางด้านร่างกาย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต อีกทั้งยังอาจมีความเสี่ยงสุขภาพอื่น ๆ เช่น

เด็กที่มีภาวะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น

  • ภาวะขาดสารอาหาร หรือภาวะพร่องวิตามินที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย
  • ปัญหาในด้านการเจริญเติบโต
  • โรคโลหิตจาง
  • ภูมิคุ้มกันลดลง
  • เจ็บป่วย หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

เด็กที่มีภาวะน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ การที่เด็กมีน้ำหนักเกินส่งผลโดยตรงให้เด็กมีลักษณะที่อ้วนกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อีกทั้งยังก่อให้เด็กเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ตั้งแต่เยาว์วัย ได้แก่

  • โรคหัวใจ เนื่องจากระดับคอเลสเตอรอลสูง หรือความดันโลหิตสูงในเด็ก
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • โรคหอบหืด
  • ปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ
  • เกิดปัญหาสุขภาพจิด มีความนับถือตัวเองน้อย ถูกเพื่อนล้อเลียน จนทำให้ขาดความมั่นใจ และมีปัญหาในการเข้าสังคมกับผู้อื่น

ทั้งนี้ผู้ปกครองจะต้องหมั่นติดตามระดับน้ำหนักของเด็กอยู่เสมอว่ามีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานโดยเฉลี่ยของน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กในวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี มีดังต่อไปนี้

  • แรกเกิด 3-3.5 กิโลกรัม
  • 3 เดือน 5.5-7 กิโลกรัม
  • 6 เดือน 7-8.5 กิโลกรัม
  • 9 เดือน 8-9.5 กิโลกรัม
  • 1 ปี 9-10 กิโลกรัม
  • 2 ปี 11-13 กิโลกรัม
  • 3 ปี 13-13.5 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม น้ำหนักของเด็กชายและเด็กผู้หญิงอาจมีค่าเฉลี่ยต่างไปจากข้างต้นเล็กน้อย เนื่องจากเด็กชายนั้นจะมีแนวโน้มน้ำหนักมากกว่าผู้หญิงไปจนถึงอายุ 5 ปี ก่อนที่อัตราการเพิ่มของน้ำหนักเด็กจะเริ่มปรับเปลี่ยนอีกครั้ง

ปัจจัยที่มีผลต่อน้ำหนักเด็ก

นอกจากอาหารและโภชนาการแล้ว น้ำหนักของเด็กจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ได้แก่

  • สภาพแวดล้อม หากสถานที่ที่เด็กอาศัยอยู่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากเกินไปจนทำให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายน้อย หรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกายก็อาจทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไปได้เช่นกัน
  • พันธุกรรม ครอบครัวที่มีลักษณะทางร่างกายที่อวบอ้วน มีแนวโน้มที่เด็กจะอ้วนตาม ซึ่งเกิดจากปัจจัยดังกล่าวก็เป็นไปได้ว่าเด็กอาจมีปัญหาสุขภาพที่ถ่ายทอดกันทางพันธุกรรมได้เช่นกัน
  • โรคและการใช้ยา อาการเจ็บป่วยบางอย่างและการใช้ยาบางชนิดส่งผลโดยตรงต่อน้ำหนักตัวของเด็กได้ ซึ่งในกรณีนี้ผู้ปกครองจะต้องสังเกตอย่างใกล้ชิดและแจ้งต่อแพทย์ทันทีที่มีความผิดปกติ

ทำอย่างไรให้เด็กมีน้ำหนักที่ดีสมวัย ?

ผู้ปกครองคือหนึ่งในผู้ช่วยคนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีน้ำหนักที่ดีและเหมาะสมกับวัย เนื่องจากในวัยเด็กเล็ก ยังเป็นวัยที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้ใหญ่จะต้องวางแผนและดูแลเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกายของเด็กมากเป็นพิเศษ โดยควรปฏิบัติดังนี้

  • เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เด็กเล็กที่อยู่ในวัยนี้ถือว่าอยู่ในช่วงที่ชอบเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ปกครอง ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงควรเป็นตัวอย่างให้แก่เด็กโดยการชักชวนให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากทำได้เป็นประจำก็จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง และมีน้ำหนักดีตามเกณฑ์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในวัยเด็กควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 60 นาที โดยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างจริงจังหรือต่อเนื่อง แต่ใช้การทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การขี่จักรยาน การวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น หรือการเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ในระหว่างวันก็จะช่วยให้เด็กได้ออกกำลังกายมากขึ้นโดยที่ไม่รู้สึกเบื่อได้
  • ควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็ก แม้เด็กจะอยู่ในช่วงกำลังเจริญเติบโต แต่ก็ควรให้เด็กได้รับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และมีสารอาหารครบถ้วนเพียงพอ หลีกเลี่ยงการรับประทานของหวาน เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือขนมหวาน และควบคุมการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว นอกจากนี้ ควรให้เด็กรับประทานผักผลไม้เป็นประจำ เพราะนอกจากจะช่วยให้เด็กมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมแล้ว ก็ยังช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายของเด็กอีกด้วย
  • ให้เด็กพักผ่อนอย่างเพียงพอ การนอนหลับถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของกระบวนการเจริญเติบโต ดังนั้น จึงควรให้เด็กได้นอนหลับอย่างเพียงพอ ไม่นอนดึกจนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงให้เด็กดูทีวี หรืออยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เด็กไม่ยอมนอน หรือส่งผลให้เด็กหลับไม่เต็มอิ่มได้

แม้ว่าการมีน้ำหนักที่ดีของเด็กจะมีความสำคัญ แต่ก็ต้องสอดคล้องกับความสูงด้วย เนื่องจากการที่เด็กมีน้ำหนักและความสูงที่สัมพันธ์กันจะทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่ดี ดังนั้นไม่ควรควบคุมน้ำหนักเด็ก หรือจำกัดในเรื่องต่าง ๆ เข้มงวดจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาในด้านการเจริญเติบโต และลุกลามไปถึงปัญหาสุขภาพจิตจนกลายเป็นปัญหาระยะยาวได้ในอนาคต