เบาหวานในเด็ก ปัญหาสุขภาพที่พ่อแม่ควรเตรียมพร้อม

โรคเบาหวานในเด็กเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้ยาก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือเบาหวานชนิดที่ 2 โดยส่วนใหญ่โรคเบาหวานในเด็กมักพบว่าเป็นชนิดที่ 1 มากกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานชนิดไหน หากไม่ได้รับการรักษาและการดูแลอย่างเหมาะสมอาจส่งผลต่อสุขภาพ จิตใจ และการใช้ชีวิตของเด็กได้

โรคเบาหวานในเด็กทั้ง 2 ชนิดเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน แต่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่คล้ายกัน คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยภาวะไม่สมดุลของน้ำตาลในเลือดที่รุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายและทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งเด็กยังมีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ด้วยเหตุนี้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรใส่ใจและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานแก่เด็กมากที่สุดเพื่อช่วยให้เด็กสามารถดูแลตัวเองได้เมื่อโตขึ้น

อินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งภายในร่างกายที่ผลิตจากตับอ่อน ฮอร์โมนชนิดนี้สำคัญต่อการดำรงชีวิต เพราะอินซูลินทำหน้าที่ดึงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อให้เซลล์นำไปเป็นพลังงาน โรคเบาหวานในเด็กทั้ง 2 ชนิดเกี่ยวข้องกับการหลั่งอินซูลินของตับอ่อน และการตอบสนองต่ออินซูลิน ดังนั้น เมื่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องเสียหายหรือผิดปกติ ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงและนำไปสู่อาการผิดปกติ

เบาหวานในเด็ก ปัญหาสุขภาพที่พ่อแม่ควรเตรียมพร้อม

รู้จักโรคเบาหวานในเด็กให้มากขึ้น

แพทย์และนักวิทยาศาสตร์คาดว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ส่วนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายและน้ำตาลในเลือดไม่ตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินที่หลั่งออกมา หรืออีกแบบคือตับอ่อนสามารถผลิตอินซูลินได้ แต่ไม่เพียงพอต่อการนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ จึงทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง

ในปัจจุบัน แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคเบาหวานในเด็กได้อย่างแน่ชัด แต่จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันชี้ว่า ปัจจัยหลักของโรคเบาหวานอาจมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งต่อทางสายเลือด เมื่อสัมผัสกับปัจจัยกระตุ้นก็อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานในเด็กได้

โดยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดตั้งแต่ยังเป็นทารก ส่วนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักถูกกระตุ้นจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไขมันสูง น้ำตาลสูง เคลื่อนไหวร่างกายน้อย และน้ำหนักตัวที่มากเกินไป เป็นต้น

เมื่อร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ น้ำตาลในเลือดจึงสะสมและพุ่งสูงขึ้นจนทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น รู้สึกกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะรดที่นอน รู้สึกหิวมากกว่าปกติ น้ำหนักลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม และลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ เป็นต้น

ไม่เพียงแต่ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องเจอ ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหลังการฉีดอินซูลิน ซึ่งเป็นการรักษารูปแบบหนึ่งของโรคเบาหวาน และการใช้ยาโรคเบาหวานอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจพบกับอาการหัวใจเต้นรัว ตัวสั่น คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง และหมดสติได้ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 พบได้ในเด็กมากกว่าวัยผู้ใหญ่ แต่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก็อาจพบในเด็กได้เช่นกัน แม้ว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กจะพบได้น้อยกว่า แต่จากรายงานพบว่า เด็กที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี และหากเกิดโรคเบาหวานตั้งแต่ยังอายุน้อย ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนเมื่อโตขึ้นก็สูงขึ้นด้วย

สิ่งที่ผู้ปกครองควรเตรียมตัวเมื่อต้องเผชิญกับโรคเบาหวานในเด็ก

แม้ว่าโรคเบาหวานในเด็กจะพบได้ยาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมตัวเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้

1. ศึกษาเกี่ยวกับโรคเบาหวานให้มากขึ้น

ผู้ปกครองควรรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานอย่างละเอียด ทั้งที่มาของโรค สิ่งกระตุ้น อาการ การรักษา วิธีใช้ยา วิธีเจาะวัดน้ำตาลในเลือด การดูแลตนเอง สัญญาณอันตราย ไปจนถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าเด็กมักไม่สามารถรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหรือรับข้อมูลที่มีความซับซ้อน พ่อแม่จึงควรรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับเด็ก

2. พูดคุยกับคนรอบตัวเด็ก

พ่อแม่ควรพูดคุยกับคนรอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นญาติ พี่น้อง เพื่อน หรือพี่เลี้ยง เพื่อให้คนรอบตัวเด็กรับทราบเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของเด็ก ทำให้ทุกคนสามารถช่วยกันดูแลและระมัดระวังมากยิ่งขึ้น หากเด็กถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน การแจ้งคุณครูเกี่ยวกับโรคเบาหวานในเด็ก วิธีการดูแล หรือเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อช่วยให้เด็กได้เติบโตทั้งด้านร่างกาย การเรียนรู้ และสังคมอย่างเหมาะสม

3. สอนลูกเกี่ยวกับการดูแลตนเอง

พ่อแม่ควรสอนและอธิบายเกี่ยวกับโรคเบาหวานที่ลูกกำลังเผชิญ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น การดูแลตนเอง การใช้ยา และการสังเกตความผิดปกติ เป็นต้น

4. พาเด็กไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ

โรคเบาหวานในเด็กอาจส่งผลต่อสุขภาพไม่มากก็น้อย อีกทั้งภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนอื่น ดังนั้นพ่อแม่จึงควรพาลูกไปตรวจสุขภาพเป็นประจำหรือตามที่แพทย์นัด เพราะแพทย์จะประเมินสภาพร่างกาย อาการ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมมากขึ้นได้

5. เสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี

ไม่ว่าโรคเบาหวานในเด็กจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุน้อยที่ดูแลตัวเองไม่ได้ หรือว่าเด็กโตที่สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว พ่อแม่ก็ควรชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดูรักษาสุขภาพที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาแพทย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งช่วยให้เด็กเติบโตตามวัย แข็งแรง และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนน้อยลง

6. สร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจกับเด็ก

โรคเบาหวานในเด็กไม่ได้ส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็ก โดยเด็กอาจไม่เข้าใจว่าทำไมตนเองมีลักษณะบางอย่างที่ต่างไปจากเพื่อนวัยเดียวกันหรือมีข้อจำกัดบางอย่าง จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อตนเองได้

พ่อแม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลลูกได้โดยสอนให้เด็กค่อย ๆ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าวด้วยทัศนคติที่ดี และพูดถึงโรคเบาหวานให้กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจว่าตนเองไม่ได้บกพร่องหรือด้อยกว่าเพื่อนคนอื่น ๆ นอกจากนี้ พ่อแม่ควรแสดงถึงความรักและความใส่ใจเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความรู้สึกปลอดภัยให้กับเด็กด้วย

โรคเบาหวานในเด็กรักษาไม่ได้ แต่ควบคุมได้

แม้ว่าโรคเบาหวานจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่การใช้ยาตามแพทย์สั่ง ร่วมกับการดูแลตนเองจะช่วยควบคุมอาการและช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ รูปแบบการรักษาที่แพทย์แนะนำอาจแตกต่างกันตามชนิดและความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ดูแลตนเองด้วยวิธีต่อไปนี้ด้วย

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารพลังงานต่ำ ไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และผักผลไม้ เป็นต้น
  • ควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตในมื้ออาหาร เพราะคาร์โบไฮเดรตประกอบด้วยแป้งและน้ำตาล ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด การควบคุมคาร์โบไฮเดรตอาจช่วยลดความเสี่ยงของภาวะน้ำตาลในเลือดไม่สมดุลได้
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังช่วยกระตุ้นการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยลดน้ำหนักตัวที่เป็นปัจจัยของโรคบางโรค และช่วยเสริมสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง

โรคเบาหวานในเด็กอาจเกิดขึ้นในเด็กช่วงวัยใดก็ได้ หากพ่อแม่พบสัญญาณโรคเบาหวาน เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะรดที่นอนแม้เด็กจะเข้าห้องน้ำเป็นแล้ว หรือได้กลิ่นลมหายใจคล้ายผลไม้ ร่วมกับหายใจลำบาก ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างเหมาะสม

หากแพทย์วินิจฉัยว่าพบโรคเบาหวานในเด็ก ช่วงเวลานี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและทุกข์ใจของพ่อแม่ ซึ่งแพทย์จะคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการรักษาอย่างถูกต้อง ถ้าหากพ่อแม่ยังคงรู้สึกเศร้าหรือประสบกับปัญหาในการเลี้ยงดู การปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถช่วยได้