เมื่อลูกฉี่รดที่นอน พ่อแม่รับมืออย่างไร

ลูกฉี่รดที่นอนเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในช่วงอายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งโดยปกติแล้ว ปัญหาฉี่รดที่นอนมักหายไปเองเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นโดยไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงใด ๆ ต่อร่างกาย แต่สำหรับเด็กบางคน ปัญหาฉี่รดที่นอนอาจกระทบต่อสภาพจิตใจได้ เช่น รู้สึกอาย รู้สึกผิด หรือขาดความมั่นใจในตัวเอง

แม้ว่าโดยส่วนใหญ่อาการฉี่รดที่นอนจะหายไปได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่ในบางกรณีอาการฉี่รดที่นอนอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาทางด้านสุขภาพบางอย่าง ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม โดยในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาลูกฉี่รดที่นอน เพื่อให้ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดได้ทำความเข้าใจและรับมือได้อย่างถูกต้อง

รับมืออย่างไรให้เหมาะสมเมื่อลูกฉี่รดที่นอน

สาเหตุที่ลูกฉี่รดที่นอน

ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของปัญหาลูกฉี่รดที่นอน แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • พันธุกรรม เด็กส่วนใหญ่ที่ผู้ปกครองมีประวัติเคยฉี่รดที่นอนมาก่อนมักมีแนวโน้มเกิดอาการฉี่รดที่นอนมากขึ้น
  • กระเพาะปัสสาวะยังเติบโตไม่เต็มที่หรือเติบโตช้าผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เก็บปริมาณปัสสาวะได้น้อย
  • ฮอร์โมนในร่างกายบางชนิดยังไม่สมดุล ในช่วงวัยเด็กร่างกายอาจยังผลิตฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) หรือฮอร์โมนที่จะช่วยให้ร่างกายผลิตปัสสาวะน้อยลงในตอนกลางคืนไม่เพียงพอ
  • ระบบประสาทและสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กไม่รู้สึกตัวตื่นในตอนกลางคืนขณะที่น้ำปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เบาหวาน อาการท้องผูกเรื้อรัง หรือโรคสมาธิสั้น 
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น หลับลึก ความเครียด หรือความผิดปกติบางอย่างทางระบบประสาทและระบบขับถ่ายปัสสาวะ

รับมืออย่างไรเมื่อลูกฉี่รดที่นอน

ในเบื้องต้น ผู้ปกครองหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดอาจรับมือกับเด็กที่มีปัญหาลูกฉี่รดที่นอนด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญ แม้เด็กจะมีปัญหาฉี่รดที่นอนก็ไม่ควรจำกัดปริมาณการดื่มน้ำ แต่ผู้ปกครองควรปรับช่วงเวลาการดื่มน้ำของเด็ก โดยให้ดื่มช่วงเช้าและบ่ายมากขึ้น เพื่อลดการกระหายน้ำในช่วงเย็นและใกล้เข้านอน หากเด็กทำกิจกรรมที่เสียเหงื่อมากในช่วงเย็น ควรให้เด็กดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยไม่ต้องจำกัดปริมาณการดื่มน้ำ
  • คาเฟอีนอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ลูกฉี่รดที่นอนในตอนกลางคืนมากขึ้น ผู้ปกครองควรให้เด็กหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มและของกินที่มีคาเฟอีน
  • แนะนำให้เด็กปัสสาวะระหว่างวันบ่อย ๆ หรือประมาณทุก 2–3 ชั่วโมง และก่อนเข้านอน
  • จัดสภาพแวดล้อมให้เด็กลุกไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนได้อย่างสะดวก เช่น อาจเปิดไฟในห้องน้ำทิ้งไว้หากเด็กกลัวความมืด หรืออาจลองถามเด็กถึงปัญหาที่ส่งผลให้เด็กไม่กล้าลุกไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน 

นอกจากนี้ ปัสสาวะที่เลอะกางเกงหรือกางเกงในอาจส่งผลให้เด็กเกิดอาการระคายเคืองผิวหนังหรือผื่นได้ ดังนั้น ผู้ปกครองควรช่วยให้เด็กล้างก้นและอวัยวะเพศให้สะอาดอยู่เสมอ

ปัญหาลูกฉี่รดที่นอนแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

โดยส่วนใหญ่ปัญหาลูกฉี่รดที่นอนมักหายได้เองเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจมีบางกรณีที่เด็กซึ่งมีอาการฉี่รดที่นอนควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่างได้ เช่น

  • เด็กมีอายุมากกว่า 7 ปีและยังฉี่รดที่นอน
  • อาการฉี่รดที่นอนกลับมาเกิดซ้ำหลังจากที่หยุดไปนานเกิน 6 เดือน
  • เด็กมีอาการฉี่ราด ในช่วงเวลากลางวัน
  • ปัสสาวะถี่ขึ้น
  • พบอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น อยากอาหารหรือกระหายน้ำมากผิดปกติ ปัสสาวะมีสีออกแดง มีคราบเลือดติดที่กางเกงใน ปัสสาวะเหม็นผิดปกติ มีไข้ขึ้นสูง ท้องผูก นอนกรน เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ เท้าหรือข้อเท้าบวม หรือเกิดผื่นบริเวณอวัยวะเพศ 

ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาลูกฉี่รดที่นอนเป็นอาการที่เด็กไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ปกครองหรือบุคคลใกล้ชิดจึงควรทำความเข้าใจและหลีกเลี่ยงการดุด่าว่ากล่าวเด็ก โดยอาจให้เด็กช่วยทำความสะอาดและเปลี่ยนที่นอนที่เลอะปัสสาวะ หรือให้คำชมเมื่อเด็กสามารถควบคุมอาการฉี่รดที่นอนของตัวเองได้ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกแย่หรือโทษตัวเองจนอาจนำไปสู่การขาดความมั่นใจในตัวเอง