เด็กนอนกรน ปัญหาสุขภาพที่พ่อแม่ควรสังเกต

เด็กนอนกรน ปัญหาสุขภาพที่พ่อแม่ควรสังเกต

ผู้ปกครองหลายคนอาจเคยพบอาการเด็กนอนกรนในบุตรหลาน แม้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่รู้หรือไม่ว่าอาการนอนกรนของเด็กเป็นปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ อาจมีเด็กประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่มักนอนกรนในเวลากลางคืน และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปมักนอนกรนในช่วงของการหลับลึก ซึ่งอาการนอนกรนในเด็กไม่ได้เป็นเพียงแค่เสียงที่ดังรบกวนคนรอบข้าง แต่ในบางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณการเจ็บป่วยที่ร้ายแรง และส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแต่เนิ่น ๆ

2135 เด็กนอนกรน rs

อาการนอนกรนเป็นอย่างไร ?

นอนกรน เป็นอาการที่มีเสียงเกิดขึ้นในระหว่างที่คนเรานอนหลับ เนื่องจากอากาศไม่สามารถเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจอย่างจมูกและปากได้อย่างอิสระ ส่งผลให้อวัยวะบางอย่างภายในปากและลำคอสั่นสะเทือนจนมีเสียงที่ผิดปกติเกิดขึ้น เช่น บริเวณลิ้น ลำคอส่วนบน เพดานอ่อน หรือลิ้นไก่ เป็นต้น โดยปัญหาเด็กนอนกรนอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น มีน้ำหนักตัวมาก ทางเดินหายใจบริเวณจมูกถูกปิดกั้น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดหรือไซนัสอักเสบ ผนังกั้นช่องจมูกคด ต่อมทอนซิลหรือต่อมแอดีนอยด์บวมโต รวมถึงป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหืด หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น

อาการนอนกรนกับภาวะเจ็บป่วยที่ควรระวัง

แม้อาการนอนกรนหรือการหายใจเสียงดังอาจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ปัญหาสุขภาพดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้เช่นกัน (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ซึ่งภาวะนี้เป็นโรคนอนไม่หลับชนิดรุนแรงที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายได้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

โดยพ่อแม่อาจสังเกตอาการนอนกรนของเด็กและสัญญาณอาการที่ชี้ว่าเด็กอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดังนี้

  • นอนกรนเสียงดังมากเหมือนผู้ใหญ่ กรนถี่ ๆ หรือกรนเกือบทุกคืน
  • นอนกระสับกระส่าย หรือเด็กอาจมีท่านอนที่ผิดปกติ
  • หายใจไม่สะดวก จนทำให้หยุดหายใจขณะนอนหลับได้ โดยอาจสังเกตพบว่าเด็กมีอาการหายใจเฮือก หรือหายใจสะดุดเป็นพัก ๆ
  • มีเหงื่อออกมากขณะนอนหลับ
  • อาจสังเกตได้ว่าเด็กมีอาการหน้าอกบุ๋มขณะนอนหลับ หรือดูหายใจลำบาก
  • รู้สึกเหนื่อยล้าในเวลากลางวัน และมีประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวันแย่ลง
  • รู้สึกหงุดหงิดหรือไม่มีสมาธิ โดยเฉพาะเมื่อไปโรงเรียนหรือทำการบ้าน
  • ปวดศีรษะ โดยเฉพาะในตอนเช้า
  • ตื่นยาก และรู้สึกง่วงนอนหรืออยู่ไม่นิ่งในตอนกลางวัน
  • พูดด้วยเสียงขึ้นจมูก หรือหายใจทางปาก

วิธีรับมือกับปัญหาเด็กนอนกรน

สำหรับเด็กที่นอนกรนในระดับเล็กน้อย อาจมีวิธีที่ช่วยให้อาการดีขึ้นได้ โดยให้บุตรหลานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ปรับหัวนอนให้สูงขึ้นหรือนอนหมอนสูง โดยควรให้ศีรษะสูงขึ้นจากเตียงประมาณ 2-3 นิ้ว
  • เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และไม่รับประทานอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน
  • ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ
  • ทำความสะอาดห้องนอนเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ เช่น ตุ๊กตา ผ้าปูเตียง หมอนที่ทำจากขนสัตว์ สัตว์เลี้ยง เป็นต้น
  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อรักษาอาการของโรคภูมิแพ้ รวมไปถึงอาการเยื่อบุทางเดินหายใจบวมอันเนื่องมาจากไข้หวัดด้วย
  • ส่งเสริมให้เด็กมีกิจวัตรในการนอนที่ดี อย่างเข้านอนแต่หัวค่ำและตื่นนอนแต่เช้า

สุดท้ายนี้ หากปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวแล้วแต่ปัญหาเด็กนอนกรนยังไม่หายไป หรือเด็กนอนกรนรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งหากสงสัยว่าบุตรหลานมีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อให้เด็กได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป เนื่องจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับที่รุนแรงอาจส่งผลเสียต่อหัวใจและปอดได้ จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตเด็ก