เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus)

ความหมาย เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus)

เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus: T1DM) เป็นโรคเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากเซลล์ในตับอ่อนถูกทำลายจนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เมื่อร่างกายขาดอินซูลินจึงเกิดปัญหาในการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ในร่างกายผ่านทางระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดการสะสมของน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หิวหรือกระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หรืออาการอื่น ๆ 

สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากพันธุกรรมหรือปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ  หากผู้ที่ป่วยด้วยเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้มีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

เบาหวานชนิดที่ 1

อาการของเบาหวานชนิดที่ 1

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ดังนี้ 

  • หิวหรือกระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • ตามัว
  • อ่อนเพลีย
  • หายใจเร็วและลึก
  • ปัสสาวะบ่อย
  • น้ำหนักลดในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปัสสาวะรดที่นอนขณะนอนหลับ ซึ่งเกิดขึ้นในเด็กที่ไม่เคยปัสสาวะรดที่นอนมาก่อน
  • ฉุนเฉียวง่ายและอารมณ์แปรปรวน
  • ผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะ หรือช่องคลอดเกิดการติดเชื้อบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจมีภาวะกรดจากการคั่งของสารคีโตนในกระแสเลือด (Diabetic Ketoacidosis) เกิดขึ้นเป็นภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจเร็ว ผิวหรือปากแห้ง ใบหน้าเป็นสีแดงฝาด ลมหายใจเป็นกลิ่นผลไม้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง 

ในกรณีที่พบว่าตนเองหรือบุตรหลานมีอาการที่เข้าข่ายโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ควรไปพบแพทย์ แต่หากมีอาการของภาวะกรดจากการคั่งของสารคีโตนในกระแสเลือดควรเข้าพบแพทย์ทันที เนื่องจากเป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน

สาเหตุของเบาหวานชนิดที่ 1 

เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นผลมาจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเบต้าเซลล์ (Beta Cells)  ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่นำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ โดยในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้อย่างชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคเบาหวานชนิดนี้ยังเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยอาจเป็นการกลายพันธุ์ของพันธุกรรมบางชนิด หากพ่อแม่หรือญาติพี่น้องมีประวัติเป็นโรคเบาหวานก็อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น รวมไปถึงมีอายุต่ำกว่า 20 ปี สัมผัสเชื้อไวรัส ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม หรืออาจเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ โดยพบผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นคนขาวมากกว่าเชื้อชาติอื่น ๆ เป็นต้น

การวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 1 

การตรวจเบาหวานชนิดที่ 1 จะใช้การตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดเป็นหลัก โดยวิธีที่นำมาใช้มีอยู่หลายวิธี เช่น

การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) 

เป็นการตรวจค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลา 2–3 เดือนที่ผ่านมา โดยจะตรวจวัดปริมาณของน้ำตาลที่เกาะติดไปกับโปรตีนที่ลำเลียงออกซิเจนภายในเซลล์เม็ดเลือดแดง หากมีค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป แสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยมีปัจจัยบางประการที่อาจส่งผลต่อผลการตรวจ อย่างการตั้งครรภ์หรือฮีโมโกลบินมีความผิดปกติ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีตรวจอื่นแทน

การตรวจระดับน้ำตาลแบบสุ่มตรวจ (Random Blood Sugar Test) 

เป็นวิธีการตรวจที่ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร แพทย์จะนำตัวอย่างเลือดจากการตรวจน้ำตาลในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งและอาจมีการตรวจยืนยันอีกครั้ง หากผลที่ได้มีระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับหรือมากกว่า 200  มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting Blood Sugar) 

แพทย์จะเจาะเลือดของผู้ป่วยหลังอดอาหารข้ามคืนเพื่อนำตัวอย่างเลือดมาตรวจสอบ โดยระดับน้ำตาลในเลือดของคนปกติจะต่ำกว่ากว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (5.6 มิลลิโมลต่อลิตร) แต่หากระดับน้ำตาลในเลือดที่ได้อยู่ที่ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (7 มิลลิโมลต่อลิตร) หรือมากกว่า แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน 

การตรวจความทนต่อกลูโคส 

แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานกลูโคสในปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด ส่วนใหญ่แล้วจะให้รับประทานกลูโคสปริมาณ 75 กรัม ต่อมาอีก 2 ชั่วโมงจึงจะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากพบว่ามีระดับเท่ากับหรือมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการป่วยด้วยโรคเบาหวานแล้ว ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่แน่นอน แพทย์อาจให้ตรวจหาชนิดของโรคเบาหวาน โดยเป็นการตรวจเลือดหาภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเองซึ่งจะพบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ 1 หรือการตรวจหาสารคีโตน (Ketones) จากปัสสาวะ

การรักษาเบาหวานชนิดที่ 1

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับอินซูลินเข้าสู่ร่างกายด้วยการฉีดอินซูลินหรือรับประทานยาในระยะยาว การรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 จะมุ่งเน้นไปยังการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติมากที่สุด เพื่อป้องกันและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อน พร้อมทั้งแนะนำให้ผู้ป่วยคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมควบคู่กันไป

การรับฮอร์โมนอินซูลิน

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องรับฮอร์โมนอินซูลินตลอดชีวิต โดยประเภทของอินซูลินที่ใช้ในการรักษาได้แก่ ประเภทออกฤทธิ์ในช่วงปกติ ประเภทออกฤทธิ์เร็ว ประเภทออกฤทธิ์นานขึ้นในระดับกลาง และประเภทออกฤทธิ์นาน ซึ่งอินซูลินแต่ละประเภทจะมีใช้เวลาในการเริ่มและออกฤทธิ์ในร่างกายของผู้ป่วยแตกต่างกัน 

อย่างไรก็ตาม การรับฮอร์โมนอินซูลินเข้าสู่ร่างกายไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีการรับประทาน เนื่องจากเอนไซม์ในกระเพาะอาหารจะขัดขวางไม่ให้อินซูลินทำปฏิกิริยาต่อร่างกาย จึงจะเป็นจะต้องรับฮอร์โมนด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การฉีดฮอร์โมนอินซูลินด้วยเข็มฉีดหรือปากกาฉีดอินซูลินเข้าใต้ผิวหนัง โดยนิยมใช้อินซูลินชนิดผสมซึ่งเหมาะกับการใช้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งการฉีดฮอร์โมนอินซูลินเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน จะช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
  • การใช้อินซูลินปั๊ม (Insulin Pump) เป็นเครื่องมือกักเก็บอินซูลินที่มีสายสวนเข้าใต้ผิวหนังบริเวณท้อง เพื่อปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกายตามการตั้งโปรแกรมการจ่ายอินซูลินอัตโนมัติไว้ โดยโปรแกรมดังกล่าวจะจ่ายอินซูลินประเภทออกฤทธิ์เร็วเข้าสู่ร่างกายในจำนวนที่กำหนด และมีการจ่ายอินซูลินในปริมาณพื้นฐานคงที่ (Basal rate) ซึ่งผู้ป่วยจะต้องฉีดอินซูลินก่อนมื้ออาหารเพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดหลังการรับประทานอาหาร

การใช้ตับอ่อนเทียม

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนการทำงานตับอ่อนเพื่อช่วยผลิตอินซูลิน โดยอุปกรณ์จะเชื่อมต่อกับเครื่องวัดระดับน้ำตาล ซึ่งจะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก 5 นาทีและส่งข้อมูลไปยังเครื่อง ทำให้อินซูลินจะถูกส่งเข้าร่างกายของผู้ป่วยตามปริมาณที่ร่างกายของผู้ป่วยต้องการโดยอัตโนมัติ แต่การใช้ตับอ่อนเทียมยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองของวิจัยทางคลินิกเท่านั้น

การใช้ยา

ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่

  • ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น ยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) หรือยาปิดกั้นการทำงานของแองจิโอเทนซิน รีเซฟเตอร์ (Angiotensin Receptor Blockers: ARBs) เพื่อช่วยให้ไตสามารถทำงานได้อย่างปกติ โดยยาดังกล่าวจะใช้สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานพร้อมกันกับโรคความดันโลหิตสูง 
  • ยาแอสไพริน (Aspirin) เพื่อช่วยปกป้องการทำงานของหัวใจ
  • ยาลดไขมันในเลือด เนื่องจากระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไป

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

การสังเกตระดับน้ำตาลในเลือดจะขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย ตามปกติแล้วผู้ป่วยจะต้องวัดและจดบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง โดยควรวัดก่อนมื้ออาหารหรือก่อนรับประทานขนม ก่อนนอน ก่อนออกกำลังกายหรือขับรถ หรือเมื่อรู้สึกว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ซึ่งการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจะช่วยลดค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเม็ดเลือดแดง เนื่องจากระดับน้ำตาลของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สามารถเปลี่ยนแปลงได้แม้รับประทานอาหารและรับฮอร์โมนอินซูลินตามที่ได้กำหนดไว้อย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ การใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง (Continuous Glucose Monitoring: CGM) สามารถใช้สังเกตระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยเครื่องนี้จะมีเข็มแทงเข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อให้ติดแนบไว้กับผู้ป่วยและสามารถวัดระดับน้ำตาลในเลือดทุก 23 นาที อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่องยังไม่สามารถระบุค่าจากการวัดได้อย่างแม่นยำ

การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต

ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ควรรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไขมันต่ำและมีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชเต็มเมล็ด (Whole Grains) ลดปริมาณการรับประทานคาร์โบไฮเดรตและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์เพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยได้รับอินซูลินในปริมาณที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาทีและไม่ควรเว้นระยะห่างในการออกกำลังกายมากกว่า 2 วัน โดยก่อนการเริ่มต้นออกกำลังกายควรตรวจวัดระดับน้ำตาลเป็นประจำเพื่อสังเกตว่าการออกกำลังกายส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ขณะมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยเฉพาะผู้ตั้งครรภ์และผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานชนิดที่ 1 

ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเนื่องมาจากการควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี เช่น

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease: CVD) เนื่องจากการสะสมของน้ำตาลในเลือดอาจส่งผลให้เกิดลิ่มเลือด ความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอลสูง จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการหัวใจวายได้
  • การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราบนผิวหนัง 
  • โรคเหงือก (Gum Disease) เนื่องจากน้ำลายไม่เพียงพอและการไหลเวียนเลือดผิดปกติ 
  • การคลอดก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ และภาวะครรภ์เป็นพิษในผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์
  • ภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะที่พบได้มากในผู้ที่ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 นานมากกว่า 15 ปี
  • โรคไต อย่างภาวะไตอักเสบ 
  • เลือดไหลเวียนลดลงและเส้นประสาทได้รับความเสียหาย เช่น การไหลเวียนเลือดไปยังเท้าลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียประสาทการรับรู้ในบริเวณดังกล่าว หรือความเสียหายของเส้นประสาทอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย

การป้องกันเบาหวานชนิดที่ 1 

แม้ว่าจากการวิจัยพบว่าการส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเกิดโรคดังกล่าว แต่เบาหวานชนิดที่ 1 ไม่ใช่โรคติดต่อจึงไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ อีกทั้งยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดขึ้นของโรคได้อย่างแน่ชัด ทำให้ยังไม่มีวิธีเฉพาะในการป้องกันการเกิดโรค

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจะช่วยให้สามารถรับมือกับอาการต่าง ๆ ของเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ และหากพบว่าตนเองมีอาการคล้ายกับอาการของโรคนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง