เด็กทารกวัย 6 เดือน กับพัฒนาการการเจริญเติบโต

เด็กทารกวัย 6 เดือน พัฒนาการด้านต่าง ๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เด็กอาจลุกขึ้นนั่งเองได้ เริ่มกินอาหารอย่างอื่นนอกจากนมได้ หรือเริ่มรู้สึกคุ้นเคยกับคนใกล้ตัวและของเล่นชิ้นโปรด เป็นต้น ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจดูแลลูกน้อยอย่างเต็มที่ โดยสังเกตว่าเด็กเติบโตขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ และอะไรที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้บ้าง เพื่อช่วยให้เจ้าตัวเล็กเติบโตอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง

เด็กทารกอายุ 6 เดือน rs

เด็กทารกอายุ 6 เดือน เติบโตและมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง ?

ตัวอย่างการเจริญเติบโตและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กในวัย 6 เดือน มีดังนี้  

1. การเติบโตทางร่างกาย

ทารกเพศชายวัยนี้จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 7.5 กิโลกรัม และมีความยาวจากหัวจรดเท้าประมาณ 65 เซนติเมตร ส่วนทารกเพศหญิงจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 6.5 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 64 เซนติเมตร แต่ตัวเลขนี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น ซึ่งเด็กบางคนอาจมีน้ำหนักตัวหรือความยาวไม่ตรงตามค่าดังกล่าวก็ได้ เพราะเด็กทารกแต่ละคนมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันไป

นอกจากนี้ เด็กทารกในวัย 6 เดือนอาจเริ่มมีฟันขึ้นแล้ว ซึ่งอาจทำให้ลูกน้อยมีอาการเจ็บเหงือก น้ำลายไหล ร้องไห้ ไม่อยากอาหาร มีไข้ต่ำ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนด้วย

2. การกิน

ปกติแล้วเด็กทารกในวัยนี้จะดื่มนมแม่ทุก 3-4 ชั่วโมง ส่วนระยะเวลาที่ดื่มแต่ละครั้งอาจไม่เท่ากัน สิ่งที่สำคัญคือคุณแม่ควรให้เจ้าตัวเล็กดื่มนมจนอิ่ม คอยตรวจดูว่าน้ำนมจากเต้าใกล้หมดหรือยัง และน้ำหนักตัวของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมหรือไม่ หากต้องการปั๊มนมเก็บไว้ ควรทราบว่าเด็กในวัยนี้จะดื่มนมแม่วันละประมาณ 740 มิลลิลิตรหรือ 25 ออนซ์ ดังนั้น ให้ปั๊มนมเก็บไว้ตามปริมาณดังกล่าวและแบ่งไว้เท่ากับจำนวนครั้งที่เด็กควรดื่มต่อวัน ในกรณีที่ให้เด็กดื่มนมผง ปกติแล้วเด็กจะดื่มประมาณ 6 ครั้งต่อวัน ครั้งละประมาณ 180-240 มิลลิลิตรหรือประมาณ 6-8 ออนซ์

ส่วนอาหารอีกชนิดหนึ่งที่เด็กทารกวัย 6 เดือนส่วนใหญ่กินได้แล้ว คือ อาหารที่มีเนื้อนิ่ม ซึ่งมีหลายชนิดที่เหมาะกับเจ้าตัวเล็ก เช่น กล้วย อะโวคาโด มันเทศ หรือข้าวโอ๊ต เป็นต้น หากคุณแม่และแพทย์ตัดสินใจให้เด็กกินอาหารที่มีเนื้อนิ่มได้แล้ว ควรเริ่มให้เด็กกินประมาณ 30 มิลลิลิตรหรือประมาณ 1 ออนซ์ในแต่ละมื้อก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น จนถึงมื้อละประมาณ 90 มิลลิลิตรหรือประมาณ 3 ออนซ์ โดยให้ดูว่าเด็กชอบกินหรือไม่ หากเด็กกินได้นานอาจบอกได้ว่าเด็กชอบกินอาหารชนิดนั้น แต่ก็ไม่ควรให้เด็กกินเกิน 90 มิลลิลิตรต่อวันนอกจากนี้ เจ้าตัวเล็กในวัย 6 เดือนสามารถดื่มน้ำเปล่าได้แล้ว แต่ไม่ควรให้เด็กดื่มน้ำเปล่าเกิน 120-180 มิลลิลิตรต่อวัน เพราะลูกอาจอิ่มน้ำและทำให้ไม่กินนมหรืออาหารจนขาดสารอาหารได้

3. การนอน

เจ้าตัวเล็กวัย 6 เดือนจะใช้เวลาไปกับการนอนวันละประมาณ 14-15 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นนอนตอนกลางคืน 10-11 ชั่วโมง และอาจนอนตอนกลางวันประมาณ 2-3 ครั้ง รวมเป็นเวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง

4. การใช้กล้ามเนื้อ

เด็กในวัยนี้สามารถใช้มือดันตัวเองขึ้นมานั่งได้แล้วแต่ก็ยังคงต้องระวังอยู่ เพราะเด็กอาจล้มขณะนั่งได้ และเด็กอาจดันตัวเองขึ้นมาโดยใช้มือและหัวเข่า พร้อมโยกตัวไปมาได้อีกด้วย นอกจากนี้ เด็กยังอาจพลิกตัวจากท่านอนหงายมาอยู่ในท่านอนคว่ำ หรือพลิกกลับไปเป็นนอนหงายตามเดิมได้ อีกทั้งเด็กบางคนอาจเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ โดยใช้วิธีกลิ้งในลักษณะดังกล่าว หรือเด็กอาจเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ถอยหลัง หรือไถลไปรอบ ๆ ในท่านอนคว่ำได้บ้างแล้วเช่นกัน ส่วนการใช้มือหยิบจับสิ่งของนั้น เด็กวัยนี้ก็ทำได้ดีขึ้น โดยลูกน้อยอาจใช้มือหรือนิ้วดึงสิ่งของเข้ามาหาตัว รวมทั้งถือสิ่งของและเปลี่ยนมือที่ใช้ถือได้

5. การมองเห็น

ระยะการมองเห็นของลูกน้อยในวัยนี้จะพัฒนาขึ้น โดยเจ้าตัวเล็กสามารถมองมาที่พ่อแม่ได้แม้จะอยู่คนละห้องก็ตาม อีกทั้งยังสามารถมองของที่อยู่ใกล้ ๆ อย่างของเล่นบนพื้นได้อีกด้วย นอกจากนี้ ดวงตาทั้งสองข้างของเด็กอาจเปลี่ยนสีไปจากเมื่อตอนแรกเกิด โดยเด็กที่มีดวงตาสีอ่อนนั้นอาจมีการเปลี่ยนสีหลายครั้งกว่าจะคงที่ ซึ่งอาจกินเวลาประมาณ 6 เดือน

6. การสื่อสาร

เด็กทารกในวัยนี้อาจยิ้ม หัวเราะ หรือเปล่งเสียงสั้น ๆ ได้ และยังเริ่มจดจำผู้คนและสิ่งของรอบตัวได้ นั่นอาจทำให้เด็กเริ่มรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ใกล้กับคุณพ่อคุณแม่ สมาชิกในครอบครัว หรือของเล่นชิ้นโปรด และเด็กอาจแสดงท่าทางหวาดกลัวเมื่ออยู่กับคนแปลกหน้าหรือเมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ ๆ รวมถึงเด็กอาจตกใจเมื่อได้ยินเสียงดัง หรือร้องไห้เมื่อรู้สึกกลัวอีกด้วย

เทคนิคสำหรับการเลี้ยงเด็กทารกในวัย 6 เดือน

พัฒนาการเป็นเรื่องสำคัญของเด็กทารก ผู้ปกครองจึงควรดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยเป็นอย่างดี โดยการเรียนรู้วิธีส่งเสริมพัฒนาการก็อาจช่วยให้พ่อแม่ดูแลลูกน้อยให้เจริญเติบโตสมวัยได้ เช่น

  • อาจต้องใช้เทคนิคเล็กน้อยในการให้เด็กทารกกินอาหาร อย่างไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยนี้ ไม่ควรให้ลูกลองกินอาหารหลายอย่างพร้อมกัน หากเจ้าตัวเล็กไม่ยอมกินอาหารชนิดใด ควรรอ 2-3 วัน จึงค่อยลองป้อนให้อีกครั้ง หากเด็กหรือคนในครอบครัวเคยมีอาการแพ้หลังจากให้ลองกินอาหารชนิดแรก ควรรอ 3 วัน จึงค่อยให้เด็กลองกินอาหารชนิดอื่นต่อไป หรือใช้วิธีจดบันทึกอาหารที่ให้ลูกลองกินไว้ด้วย เพราะหากเกิดอาการผิดปกติ อาจทำให้หาสาเหตุได้ง่ายขึ้น
  • วางของเล่นให้ไกลเกินกว่าเด็กจะเอื้อมมือถึง เพื่อกระตุ้นให้เจ้าตัวน้อยหัดคลาน
  • อ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟังตอนก่อนนอน เพื่อช่วยให้ลูกเรียนรู้ด้านภาษา
  • เล่นจ๊ะเอ๋หรือกิจกรรมที่คล้ายกัน เพื่อสอนให้ลูกรู้ว่าสิ่งของต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ไม่ได้หายไปไหน แม้จะไม่เห็นในขณะนั้นก็ตาม
  • หากคุณแม่มีลูกหลายคน ควรเก็บของเล่นที่มีขนาดเล็กของลูกคนโตให้อยู่ห่างจากเด็กทารกวัยนี้ เพราะลูกน้อยอาจหยิบของเข้าปากจนอาจทำให้สำลักหรือเป็นอันตรายได้
  • ตรวจดูให้แน่ใจว่าเก็บของทุกอย่างในบ้านดีแล้ว เช่น สายไฟ ของมีคม สารเคมี เป็นต้น เพราะสิ่งของต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าตัวเล็กได้
  • พาเด็กทารกอายุ 6 เดือนไปตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล

ความผิดปกติของเด็กทารกอายุ 6 เดือนที่พ่อแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์

เด็กทารกนั้นเป็นช่วงวัยที่ร่างกายยังคงอ่อนแอ เพราะพัฒนาการด้านต่าง ๆ ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ โดยหากเกิดปัญหาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ขึ้นกับเจ้าตัวเล็ก พ่อแม่ควรไปปรึกษาแพทย์

  • เด็กไม่สามารถนั่งได้แม้จะคอยประคองอยู่ด้วยก็ตาม
  • เด็กไม่สามารถย้ายสิ่งของจากมือข้างหนึ่งไปสู่มืออีกข้างหนึ่งได้
  • เด็กไม่ค่อยสนใจคนอื่น หรือไม่ค่อยออกเสียงและยิ้มอย่างที่ควรจะเป็น
  • เด็กไมค่อยสบตา หรือไม่ค่อยใช้นิ้วชี้ไปยังสิ่งของต่าง ๆ
  • เด็กไม่ค่อยตอบสนองเมื่อได้ยินเสียง
  • เด็กมีปัญหากับการกินอาหารด้วยช้อน หรือคายอาหารออกมาแทนที่จะกลืนลงไป

นอกจากนี้ หากคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกสูญเสียทักษะที่เคยทำได้มาก่อน มีอาการอ่อนแแรงครึ่งซีก หรือเกิดความผิดปกติอื่น ๆ จนทำให้รู้สึกกังวล แม้เป็นอาการผิดสังเกตเพียงเล็กน้อยก็ตาม พ่อแม่ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เช่นเดียวกัน