อาการไข้หวัดใหญ่ และสัญญาณสำคัญที่ควรไปพบแพทย์

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และอาการไข้หวัดใหญ่ก็ปรากฏในหลายลักษณะ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นอาการไม่รุนแรง อย่างมีไข้ มีน้ำมูก หรือปวดศีรษะ แต่บางครั้งอาการก็อาจร้ายแรงจนกลายเป็นปอดอักเสบซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น คนทั่วไปควรทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ของไข้หวัดใหญ่ รวมถึงสัญญาณสำคัญที่ควรไปพบแพทย์ เพื่อคอยสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองหรือคนใกล้ตัว และเข้ารับการตรวจรักษาได้อย่างทันท่วงที

2064 อาการไข้หวัดใหญ่ rs

ไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร ?

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ Flu) เป็นโรคติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจ อย่างจมูก คอ และปอด มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีหลายสายพันธ์ุ โดยอาการไข้หวัดใหญ่มีหลากหลายรูปแบบและมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ถึงแม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่บางครั้งอาการของโรคนี้รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามมาก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่อาจป้องกันและรักษาได้หลายวิธี เช่น ไปฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ ดูแลอาการด้วยตนเองที่บ้านในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง หรือไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสและรับการรักษาที่เหมาะสมหากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

อาการไข้หวัดใหญ่มีอะไรบ้าง ?

อาการของไข้หวัดใหญ่มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันแต่ไม่รุนแรง โดยมีตัวอย่างอาการ ดังนี้

  • มีไข้ ซึ่งมักมีอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • เมื่อยล้าและไม่มีแรง
  • ไอแห้งหรือไออย่างต่อเนื่อง
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • มีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • เด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่บางคนอาจมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะฟื้นตัวภายใน 2-3 วัน หรือนานที่สุดไม่เกิน 14 วันหลังจากได้รับเชื้อ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น

  • ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ
  • โรคในระบบประสาทส่วนกลาง
  • โรคปอดอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา
  • โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่อาจมีความรุนแรงขึ้น เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน หรือภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น
  • เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อย่างหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างของผู้ป่วยอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นด้วย เช่น ผู้ป่วยมีอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือหากมีอายุต่ำกว่า 2 ปีจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น มีอายุมากกว่า 65 ปี ตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงหลังคลอดไม่เกิน 14 วัน อาศัยอยู่ในสถานที่ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากและมีโรคประจำตัวอย่างโรคหอบหืด โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจจำเป็นต้องรับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย

อาการสำคัญที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สามารถดูแลอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยพักผ่อนให้เต็มที่ ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ดื่มน้ำให้มากเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ รับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เองอย่างพาราเซตามอล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น เพราะอาจแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้

แม้โดยทั่วไปอาการไข้หวัดใหญ่อาจไม่รุนแรงมาก แต่หากผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณการป่วยที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีไข้สูง หรือเกิดอาการชัก
  • สับสน
  • หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก หรือหายใจไม่อิ่ม
  • ไอรุนแรง หรือไอเป็นเลือด
  • เจ็บบริเวณหน้าอก