หายใจไม่อิ่ม (Dyspnea)

ความหมาย หายใจไม่อิ่ม (Dyspnea)

หายใจไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath) เป็นอาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถสูดอากาศเข้าไปได้อย่างเต็มที่ จนลมหายใจมีลักษณะเป็นการหายใจสั้น ๆ หรือคล้ายอาการหายใจไม่ออก โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันในช่วงสั้น ๆ และอาจเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง 

อาการหายใจไม่อิ่มสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่โดยส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากการทำกิจกรรมที่ใช้แรงหนักจนหอบเหนื่อยและหายใจไม่ทัน ซึ่งอาการมักจะหายไปได้เอง อย่างไรก็ตาม ก็มีในบางกรณีเช่นกันที่อาการเกิดอย่างเรื้อรัง อาการมีความรุนแรง หรืออาการเกิดขึ้นโดยไม่เคยเป็นมาก่อน โดยอาการในกลุ่มนี้มักมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ

หายใจไม่อิ่ม

อาการหายใจไม่อิ่ม

ผู้ที่มีอาการหายใจไม่อิ่มมักพบลักษณะอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่

  • หายใจไม่สะดวก รู้สึกเหมือนอากาศไม่เพียงพอ
  • หายใจเป็นช่วงสั้น ๆ หายใจถี่ ไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ตามปกติได้
  • รู้สึกอึดอัด แน่นหน้าอก 
  • หายใจไม่ออก หรือรู้สึกเหมือนจะขาดใจ

อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ขาดอากาศหายใจแต่อย่างใด แต่อาจเป็นสัญญาณสำคัญของการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรืออาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ล้วนเป็นสัญญาณของอาการป่วยที่รุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรสังเกตหรือบันทึกลักษณะอาการที่เกิดขึ้น ความถี่ของการเกิด ความรุนแรงของอาการ และอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการหายใจไม่อิ่ม

โดยผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่อาการรุนแรงขึ้น เมื่ออาการหายใจไม่อิ่มปรากฏขึ้นทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีอาการหายใจไม่อิ่มอย่างเรื้อรัง มีอาการหายใจไม่อิ่มที่แย่ลงกว่าที่เคยเป็นก่อนหน้า หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น

  • เจ็บหน้าอก
  • คลื่นไส้
  • หายใจมีเสียงหวีด และรู้สึกเหนื่อย
  • มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น 
  • รู้สึกตื่นตัวผิดปกติ
  • หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อนอนราบ
  • รู้สึกจะเป็นลม
  • เล็บและริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีฟ้า
  • มีอาการแพ้หรือบวมตามอวัยวะ เช่น เท้า และข้อเท้า

สาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่ม

อาการหายใจไม่อิ่มเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยหายใจเอาอากาศเข้าไปได้ไม่สมดุลกับปริมาณที่ร่างกายต้องการ โดยสาเหตุต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่มจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของอาการ ได้แก่

อาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน

ในกรณีนี้อาการมักเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายนาทีหรือหลายชั่วโมง ซึ่งสาเหตุที่มักพบก็เช่น

  • การออกกำลังกาย หรือใช้แรงอย่างหนัก
  • การอยู่ในสถานที่ที่อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป
  • อยู่บนที่สูง ซึ่งมีความกดอากาศต่ำ
  • เกิดเหตุการณ์ทำให้ตื่นตระหนกตกใจกะทันหัน หรือเกิดความวิตกกังวล
  • ระบบทางเดินหายใจถูกกีดขวาง หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ เช่น มีเมล็ดผลไม้ติดอยู่ในลำคอ
  • โรคหอบหืด หลอดลมหดตัวแคบลง เกิดมูกเหนียวภายในทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ผู้ป่วยจึงหายใจลำบากและอาจมีเสียงหวีดขณะหายใจ
  • โรคภูมิแพ้ หรือปฏิกิริยาแพ้ต่อสารอย่างรุนแรง อาการที่อาจพบร่วมด้วย เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ เมื่อเกิดมูกเสมหะอุดตัน ทำให้หายใจติดขัด อาจพบร่วมกับอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย
  • เกิดลิ่มเลือดอุดตันภายในปอด
  • ภาวะปอดแตก หรือภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และภาวะหัวใจวาย 

อาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง

ในกลุ่มนี้ อาการมักเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ซึ่งสามารถเกิดจากสาเหตุเดียวกันกับอาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นกะทันหันได้เช่นกัน เช่น โรคหอบหืด หรือโรคและภาวะเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ อย่างกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy) ที่ทำให้หัวใจมีรูปร่างและขนาดที่เปลี่ยนไป 

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น

  • โรคมะเร็งปอด 
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD)
  • เนื้อเยื่อในปอดอักเสบ และเกิดความเสียหาย
  • ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง 
  • ภาวะอ้วน เนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป โดยเฉพาะบริเวณช่วงอกและช่วงท้อง ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้หายใจทำงานหนักขึ้น
  • สมรรถภาพร่างกายลดลง เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้เหนื่อยหอบและหายใจไม่อิ่มได้ง่ายเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • การตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบไหลเวียนโลหิตและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นอาการปกติสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

การวินิจฉัยอาการหายใจไม่อิ่ม

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วยการตรวจฟังเสียงการเต้นของหัวใจและการทำงานของปอดด้วยหูฟังแพทย์ที่เรียกว่าสเต็ตโทสโคป (Stethoscope) ร่วมกับการตรวจตามร่างกายภายนอก เช่น อาการขาบวม หรืออาการแพ้อื่น ๆ

จากนั้น แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ เช่น เคยป่วยหรือกำลังป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจหรือไม่ และสอบถามลักษณะอาการป่วยในเบื้องต้น ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะลักษณะอาการดังต่อไปนี้

  • อาการหายใจไม่อิ่มเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือเกิดขึ้นบ่อย ๆ เป็นระยะ
  • หายใจไม่อิ่มเกิดจากการทำกิจกรรมใดมาก่อนหน้าหรือไม่ หรืออาการเกิดขึ้นมาเอง
  • อาการรุนแรงเพียงใด
  • มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก หรือไม่สามารถนอนราบลงได้

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับการตรวจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยหาโรคซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่ม

การตรวจเลือด

แพทย์อาจพิจารณาตรวจเลือดของผู้ป่วยเพื่อตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ตรวจหาความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง หรือค่าฮีมาโตคริต (Hematocrit) เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดแดงในการบรรจุออกซิเจน เช่น ในรายที่แพทย์มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคโลหิตจาง 
  • ตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด (Oximetry) ด้วยเครื่องออกซิมิเตอร์ (Oximeter)
  • ตรวจหาระดับ BNP ในเลือด เพื่อหาระดับสาร BNP (Brain Natriuretic Peptides) ซึ่งจะถูกขับออกมาจากกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อตรวจว่าผู้ป่วยมีของเหลวอยู่ในปอดหรือไม่

การเอกซเรย์ช่วงอก

แพทย์อาจเอกซเรย์บริเวณช่วงอกของผู้ป่วยเพื่อตรวจดูบริเวณปอด ตรวจหาร่องรอยการติดเชื้อ การอักเสบ หรือการเกิดรอยแผล เช่น ตรวจหาภาวะปอดบวม ปอดอักเสบ

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)

วิธีนี้เป็นการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจขาดเลือดหรือไม่

การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry)

วิธีนี้เป็นการทดสอบการหายใจด้วยเครื่องมือที่ชื่อ สไปโรมิเตอร์ (Spirometer) ซึ่งจะวัดปริมาตรอากาศที่เข้าและออกจากปอด

การรักษาอาการหายใจไม่อิ่ม

ในเบื้องต้น ผู้ป่วยที่หายใจไม่อิ่มควรสังเกตที่มาที่ส่งผลให้เกิดอาการ หากเป็นสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย เช่น การออกกำลังกาย หรือการอยู่ในที่สูง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองและบรรเทาอาการหายใจไม่อิ่มจนกว่าจะกลับมาหายใจได้ตามปกติ เช่น

  • นั่งหน้าพัดลม หรือปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศลงให้ห้องมีความเย็น
  • ยกหัวขึ้น หรือให้หัวอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าแนวระนาบหรืออยู่ในท่านั่ง เพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • สูดอากาศบริสุทธิ์ เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก และกำจัดมลภาวะทางอากาศออกไป
  • อยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง ห้องโล่ง ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด หรือเปิดหน้าต่าง มองดูทิวทัศน์ที่สบายตา
  • ฝึกใช้เทคนิคควบคุมความเครียด ความวิตกกังวล และการรับมือกับปัญหา ด้วยการเปลี่ยนมุมมอง การคิด และการจัดการกับอารมณ์และสถานการณ์ที่ยากลำบาก
  • รับประทานยาแก้ปวด หรือยารักษาที่ใช้ควบคุมอาการป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ส่วนกรณีที่แพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยที่มีอาการหายใจไม่อิ่มจะได้รับการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ซึ่งแพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการและความรุนแรงของโรคต่อไป

ตัวอย่างวิธีการรักษาอาการหายใจไม่อิ่ม ได้แก่

  • ให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย
  • ให้ยาขยายหลอดลม 
  • ให้ยาระงับอาการปวดที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น มอร์ฟีน
  • ให้ยาคลายกังวล (Anti­anxiety) เพื่อรักษาอาการเจ็บปวดและผ่อนคลายความวิตกกังวลที่ทำให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม

ภาวะแทรกซ้อนอาการหายใจไม่อิ่ม

อาการหายใจไม่อิ่มอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ หรืออาจขึ้นเกิดร่วมกับอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ไอ
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • เจ็บหน้าอก
  • เวียนศีรษะ 
  • ปวดคอ
  • หน้ามืด เป็นลม

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมหรือหลังหายใจไม่อิ่ม อาจเป็นอาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่

การป้องกันการเกิดอาการหายใจไม่อิ่ม

การป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหายใจไม่อิ่มสามารถทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับปอด หัวใจ และระบบทางเดินหายใจ
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะและฝุ่นควัน ซึ่งอาจก่อโรคและสร้างปัญหาในระบบทางเดินหายใจได้
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์อันตราย หรือบีบบังคับให้เกิดความเครียดความวิตกกังวล
  • หากอยู่ในภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • หากกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคหรือภาวะใด ควรรับประทานยา รับการรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ดูแลสุขภาพและออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์