การนับระยะปลอดภัย (Fertility Awareness Method: FAM) คือวิธีที่ช่วยให้ทราบว่าช่วงเวลาใดของเดือนที่ร่างกายมีโอกาสในการตั้งครรภ์น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีเพศสัมพันธ์โดยไร้ความกังวลใจในช่วงเวลาดังกล่าว โดยดูจากระบบการทำงานของร่างกาย วิธีนี้เรียกอีกอย่างว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ (Natural Family Planning: NFP) การนับระยะปลอดภัยนี้ใช้เพื่อทำความเข้าใจช่วงรอบเดือน วางแผนตั้งครรภ์ และคุมกำเนิด การใช้วิธีนับระยะปลอดภัยเพื่อคุมกำเนิดนั้น ไม่ใช้ยาหรืออุปกรณ์ใด ๆ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เหมือนวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ แต่สังเกตจากช่วงเวลาที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์ ผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จึงควรเลี่ยงการสอดใส่เมื่อมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์หรือตั้งครรภ์
การนับระยะปลอดภัยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 5 ประการ ได้แก่ การนับวัน การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ การดูมูกหรือสารคัดหลั่งจากปากมดลูก การวัดอุณหภูมิร่างกาย การสังเกตอาการร่วมกับตรวจอุณหภูมิ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- การนับวัน (Calendar Method/Calendar Rhythm Method) วิธีนี้ช่วยคาดคะเนช่วงเวลาไข่ตกหรือช่วงเวลาที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์ โดยพิจารณาจากบันทึกติดตามช่วงรอบเดือนที่ผ่านมา เหมาะกับผู้ที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ
- การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (Standard Days Method: SDM) วิธีนี้จะระบุช่วงเวลาที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์หรือสามารถตั้งครรภ์มาอย่างชัดเจน คือวันที่ 8-19 ของช่วงรอบเดือน ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์เหมาะแก่ผู้ที่มีช่วงรอบเดือนอยู่ระหว่าง 26-32 วัน อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน
- การดูมูกหรือสารคัดหลั่งจากปากมดลูก (Cervical Mucus Method) วิธีนี้ใช้การสังเกตช่วงเวลาเจริญพันธุ์จากลักษณะมูกหรือสารคัดหลั่งจากปากมดลูก ช่วงก่อนไข่ตกจะมีมูกมาก และมีลักษณะเป็นสายสีใส และหลังไข่ตกจะมีปริมาณมูกน้อย มีลักษณะข้นและเหนียว ผู้ที่ใช้วิธีนี้ควรระวังเรื่องการใช้ยา ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือปัจจัยที่อาจส่งผลต่อลักษณะของมูก
- การวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal Body Temperature Method) วิธีนี้จะวัดอุณหภูมิร่างกายหลังจากที่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งควรวัดอุณหภูมิร่างกายทุกครั้งหลังตื่นนอนทันที ก่อนไข่ตกในแต่ละช่วงรอบเดือนนั้นอุณหภูมิร่างกายจะลดลง และเมื่อไข่ตกแล้ว อุณหภูมิจะสูงขึ้น ช่วงเวลาที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์มากที่สุดคือช่วง 2-3 วันก่อนอุณหภูมิร่างกายจะพุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเกิดป่วยหรือเป็นไข้ วิธีนี้จะใช้ไม่ได้ผล
- การสังเกตอาการร่วมกับตรวจอุณหภูมิ (Sympothermal Method) วิธีนี้จะใช้การนับระยะปลอดภัยทุกวิธีร่วมกัน เพื่อหาช่วงเวลาที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์มากที่สุด โดยต้องวัดอุณหภูมิร่างกาย ดูลักษณะมูกจากปากมดลูก และตรวจฮอร์โมน รวมทั้งสังเกตสัญญาณของเวลาไข่ตก เช่น คัดหน้าอก ปวดท้อง หรืออารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพของการนับระยะปลอดภัยใช้ได้ผลนั้นขึ้นอยู่กับ
- ประเภทของวิธีการนับระยะปลอดภัยที่ใช้
- ช่วงเวลาของรอบเดือนที่มาอย่างสม่ำเสมอ
- ความแม่นยำในการนับช่วงของรอบเดือน
- ระยะเวลาที่งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไข่ตก
ผู้ที่ใช้วิธีนับระยะปลอดภัยให้ได้ผล จะต้องใช้วิธีดังกล่าวอย่างถูกต้องและต่อเนื่องซึ่งถือว่าทำได้ยาก โดยผู้ที่ใช้วิธีนี้คุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพคิดเป็นร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คุมกำเนิดด้วยการนับระยะปลอดภัยบางรายก็อาจตั้งครรภ์ได้ โดยคิดเป็นร้อยละ 25 ต่อปี เนื่องจากผู้ใช้ไม่เข้าใจวิธีนับที่ถูกต้องและมีเพศสัมพันธ์กันในช่วงที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์ ทั้งนี้ ฝ่ายหญิงไม่ทราบอาการหรือสัญญาณเตรียมพร้อมการเจริญพันธุ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองจึงทำให้ไม่สามารถป้องกันได้
การนับระยะปลอดภัยหรือการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาตินั้น มีข้อจำกัดในการใช้คุมกำเนิด ผู้หญิงที่ไม่สามารถใช้วิธีดังกล่าวคุมกำเนิดได้ ได้แก่
- ผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือรอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้การคาดคะเนวันตกไข่คลาดเคลื่อนหรือทำได้ยาก
- ผู้ที่ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease: PID) ติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis) ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาให้หายดีก่อนจึงจะใช้วิธีนับระยะปลอดภัยคุมกำเนิดได้
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอันส่งผลต่อสัญญาณของการเจริญพันธุ์แบบเรื้อรัง เช่น โรคตับ ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนหรือฮอร์โมนเป็นพิษ มะเร็งปากมดลูก หรือกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำจำนวนมาก (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS)
- ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ทั้งนี้ การคุมกำเนิดแบบหน้า 7 หลัง 7 นี้ จะเน้นกล่าวเฉพาะวิธีการนับระยะปลอดภัย 2 ประเภท ได้แก่ การนับวัน (Calendar Method/Calendar Rhythm Method) และการกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (Standard Days Method)
วิธีนับหน้า 7 หลัง 7
การนับระยะปลอดภัยเพื่อคุมกำเนิดโดยใช้วิธีการนับแบบหน้า 7 หลัง 7 นั้น จะใช้วิธีการนับวัน (Calendar Method/Calendar Rhythm Method) และการกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (Standard Days Method: SDM) โดยวิธีนับระยะปลอดภัยต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจช่วงรอบเดือนของการตกไข่ก่อน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- การตกไข่ของรอบเดือน ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดโดยใช้วิธีนับหน้า 7 หลัง 7 ต้องทำความเข้าใจการตกไข่ในแต่ละรอบเดือนของตนเองก่อน แต่ละคนมีจำนวนช่วงรอบเดือนที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว มักมีช่วงรอบเดือนอยู่ที่ 28-32 วัน โดยระยะเวลาของช่วงรอบเดือนมีรายละเอียด ดังนี้
- วันที่ 1 ช่วงรอบเดือนจะเริ่มขึ้นเมื่อประจำเดือนมาวันแรก
- วันที่ 7 ร่างกายเริ่มผลิตไข่เพื่อพร้อมรับการปฏิสนธิ
- ระหว่างวันที่ 11-21 ระยะนี้คือช่วงตกไข่ รังไข่จะผลิตฮอร์โมน 2 ตัว ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยเอสโตรเจนจะกระตุ้นการสร้างเยื่อบุมดลูกและต่อมที่ปากมดลูกให้ผลิตมูกเปียกเหนียว เมื่อไข่พร้อมรับการปฏิสนธิ รังไข่จะปล่อยไข่ส่งไปยังปีกมดลูก ซึ่งไข่สามารถรับการปฏิสนธิจากอสุจิได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง เมื่อตกไข่แล้ว โปรเจสเตอโรนจะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นและเตรียมเยื่อบุมดลูกเพื่อรองรับไข่ หากไข่ได้รับการปฏิสนธิ ก็จะเจริญเป็นตัวอ่อนภายในมดลูก อย่างไรก็ตาม ช่วงระยะเวลาตกไข่ที่กล่าวมานี้ ถือเป็นช่วงตกไข่สำหรับผู้ที่มีรอบเดือน 28 วัน
- วันที่ 28 กรณีที่ไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิจากอสุจิ จะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนลดลง เยื่อบุมดลูกสลายตัวและกลายเป็นเลือดประจำเดือน
ทั้งนี้ ช่วงรอบเดือนก่อนไข่ตกของผู้หญิงแต่ละคนจะแตกต่างกัน และอาจเลื่อนทุกเดือน โดยทั่วไป จำนวนวันของช่วงรอบเดือนก่อนตกไข่มีประมาณ 13-20 วัน อย่างไรก็ตาม ช่วงรอบเดือนหลังตกไข่มักเหมือนกัน โดยนับตั้งแต่วันที่ตกไข่ไปจนถึงวันแรกที่รอบเดือนครั้งถัดไปเริ่มขึ้น ซึ่งอยู่ราว ๆ 12-16 วัน
- วิธีนับระยะปลอดภัยด้วยการนับวัน การนับวันเพื่อคุมกำเนิดควรติดตามช่วงรอบเดือนของตนเองซึ่งการติดตามช่วงรอบเดือนในแต่ละเดือนจะช่วยให้คะเนช่วงเวลาที่ร่างกายพร้อมตั้งครรภ์ได้ ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
- วางแผนติดตามช่วงรอบเดือน บันทึกจำนวนของช่วงรอบเดือนในแต่ละเดือน โดยติดตามช่วงรอบเดือนเป็นเวลา 6-12 เดือน เขียนจำนวนวันของช่วงรอบเดือนในแต่ละเดือน ซึ่งเริ่มนับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาจนถึงวันแรกของประจำเดือนรอบถัดไป
- หาช่วงรอบเดือนที่มีจำนวนวันน้อยที่สุด จำนวนวันของช่วงรอบเดือนที่น้อยที่สุดจะช่วยหาวันแรกที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์ โดยนำจำนวนวันของรอบเดือนที่น้อยที่สุดมาลบกับ 18 ผลลัพธ์ที่ได้คือวันแรกที่ร่างกายสามารถตั้งครรภ์ได้ เช่น หากช่วงรอบเดือนที่น้อยที่สุดมีจำนวน 26 วัน ให้นำ 26 ลบกับ 18 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 8 หมายความว่าวันที่ 8 ของช่วงรอบเดือนคือวันแรกที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์
- หาช่วงรอบเดือนที่มีจำนวนวันมากที่สุด จำนวนวันของช่วงรอบเดือนที่มากที่สุดจะช่วยหาวันสุดท้ายที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์ โดยนำจำนวนวันที่มากที่สุดของรอบเดือนมาลบกับ 11 ผลลัพธ์ที่ได้คือวันสุดท้ายที่สามารถตั้งครรภ์ได้ เช่น หากช่วงรอบเดือนที่มากที่สุดมีจำนวน 32 วัน ให้นำ 32 ลบกับ 11 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 21 ซึ่งหมายความว่าวันที่ 21 คือวันสุดท้ายของช่วงรอบเดือนที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์
- วางแผนการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ใช้วิธีนับวันเพื่อคุมกำเนิด ต้องหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์ หรือสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ จากตัวอย่างที่ยกไปนั้น จะเห็นได้ว่าช่วงที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์คือระหว่างวันที่ 8-21 ของรอบเดือน ให้เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ แล้วจึงมีเพศสัมพันธ์ได้ในวันที่ 1-7 นับตั้งแต่ประจำเดือนมาวันแรก และในวันที่ 21 จนถึงวันที่ประจำเดือนมาอีกรอบ จึงจะไม่เสี่ยงตั้งครรภ์
- หมั่นตรวจช่วงรอบเดือนอย่างสม่ำเสมอ ควรตรวจและบันทึกจำนวนวันของช่วงรอบเดือนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้หาวันที่พร้อมตั้งครรภ์ได้อย่างแม่นยำในครั้งต่อไป
ทั้งนี้ การคุมกำเนิดด้วยการนับวันให้ได้ประสิทธิภาพ ควรใช้ร่วมกับการนับระยะปลอดภัยวิธีอื่น เนื่องจากประจำเดือนและการตกไข่สามารถเลื่อนได้ โดยมักเกิดจากอาการเจ็บป่วยหรือความเครียด
- วิธีนับระยะปลอดภัยด้วยการกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ วิธีนี้จะกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ไว้อย่างชัดเจน โดยวันที่ 8-19 ของช่วงรอบเดือนถือเป็นช่วงที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์มากที่สุด หากต้องการคุมกำเนิด ควรเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว วันที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องป้องกันคือวันที่ 1-7 และวันที่ 20 ไปจนถึงวันสุดท้ายของช่วงรอบเดือน อย่างไรก็ตาม วิธีกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์เหมาะกับผู้ที่มีช่วงรอบเดือนระหว่าง 26-32 วัน ตรงกันทุกเดือน ผู้ที่มีช่วงรอบเดือนบางเดือนสั้นกว่า 26 วัน หรือมากกว่า 32 วัน ควรใช้วิธีอื่นคุมกำเนิด
ข้อดีของการคุมกำเนิดด้วยวิธีหน้า 7 หลัง 7
- ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง
- ราคาถูกหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย
- ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริม ยา หรือนัดพบแพทย์
- ไม่ต้องใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งอาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้
- สามารถหยุดได้ง่ายทันทีในกรณีที่ต้องการตั้งครรภ์
ข้อเสียและความเสี่ยงของการคุมกำเนิดด้วยวิธีหน้า 7 หลัง 7
- ประสิทธิภาพน้อยกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น
- ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการนับ และให้ความร่วมมือในการใช้วิธีดังกล่าวเพื่อคุมกำเนิด
- จำเป็นต้องบันทึกช่วงรอบเดือนให้แม่นยำอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ป้องกันการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- เสี่ยงตั้งครรภ์ ไม่พร้อมสำหรับผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ