หน้ามืด อาการเสี่ยงอุบัติเหตุและวิธีรับมือ

หน้ามืด เป็นอาการที่ใช้เรียกเมื่อรู้สึกเวียนศีรษะ บ้านหมุน เสียการทรงตัว รวมถึงรู้สึกคล้ายจะเป็นลม อาการหน้ามืดอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการหกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้น การรับมืออาการหน้ามืดอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

อาการหน้ามืดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อน ภาวะร่างกายขาดน้ำ ความดันต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคหินปูนในหูชั้นใน การไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติ หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน อย่างการลุกยืนที่เร็วจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดแบบชั่วคราวได้เช่นกัน โดยบทความได้รวบรวมวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และแนวทางการรักษาอาการหน้ามืดมาให้ได้ศึกษากัน

หน้ามืด

วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อรู้สึกหน้ามืด

การปรับเปลี่ยนท่าทางอย่างถูกต้องเมื่อเกิดอาการหน้ามืดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดตามมา สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

  1. เมื่อรู้สึกถึงความผิดปกติ ให้นั่งบนเก้าอี้ นอนลงบนที่นอนหรือบนพื้นราบที่ปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงการหกล้มซึ่งอาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บที่รุนแรงได้
  2. จับราวบันไดให้มั่น และอาจนั่งลงบนขั้นบันไดช้า ๆ หากไม่มีสิ่งกีดขวางที่เป็นอันตราย
  3. นั่งหรือนอนพักในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือห้องที่มีอากาศถ่ายเท รวมทั้งดื่มน้ำเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายและป้องกันภาวะขาดน้ำ
  4. งดบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และของเค็ม เนื่องจากอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
  5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่
  6. ห้ามขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ อย่างการทำงานกับเครื่องจักรหรืองานบนที่สูงซึ่งเสี่ยงต่อการพลัดตก

การรักษาอาการหน้ามืด

อาการหน้ามืดส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่ถ้าหากมีอาการต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วม ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ โดยแพทย์จะมุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาตามโรคที่พบ 

ในกรณีที่พบว่าสาเหตุมาจาก โรคหินปูนในหูชั้นใน แพทย์อาจแนะนำการทำกายภาพบำบัดโดยท่าบริหารของ Epley  หรือ Semont ซึ่งสามารถทำได้เองที่บ้าน การทำกายภาพบำบัดนี้มีจุดประสงค์เพื่อเคลื่อนหินปูนในหูชั้นในที่อยู่ผิดตำแหน่งกลับเข้าเข้าสู่ในตำแหน่งเดิม อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงของวิธีนี้อาจทำให้อาการรุนแรงกว่าเดิม แต่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรง หากทำตามวิธีนี้แล้วยังไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงกว่าเดิมควรไปพบแพทย์อีกครั้ง หรือเข้ารับบริการการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

วิธีลดความเสี่ยงอาการหน้ามืด

การดูแลรักษาสุขภาพเป็นประจำก็อาจช่วยความเสี่ยงในการเกิดอาการนี้ได้ ซึ่งสามารถทำด้วยวิธีการ ดังนี้

ปรับพฤติกรรมการรับประทาน
พฤติกรรมการรับประทานที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอาจส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืดได้ เช่น การบริโภคเกลือหรือโซเดียมมากเกินไป ดื่มน้ำไม่เพียงพอ บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อยซึ่งอาจส่งผลให้ขาดแร่ธาตุและสารอาหารบางชนิด เป็นต้น ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน บริโภคผักผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อย่างอาหารขยะหรืออาหารหมักดอง

ออกกำลังกายเพื่อพัฒนาการทรงตัว
การออกกำลังกายบางชนิดอาจช่วยพัฒนาการทรงตัว ลดอาการหน้ามืด และเสริมสุขภาพได้ เช่น โยคะหรือไท้เก๊ก อย่างไรก็ตาม ระหว่างออกกำลังกายควรจิบน้ำเป็นพัก ๆ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ

สำหรับผู้ที่มีอาการจากการลุกนั่งเร็วเกินไป ควรฝึกลุกนั่งให้ช้าลงจนเป็นนิสัยเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ หากต้องการใช้ยาเพื่อรักษาอาการหน้ามืดควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเภสัชกรก่อนทุกครั้ง