HMB (Beta-Hydroxy-Beta-Methylbutyrate) ตัวช่วยในการดูแลกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ

HMB ย่อมาจาก Hydroxymethylbutyrate หรือ Beta-Hydroxy-Beta-Methylbutyrate เป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการย่อยสลายลิวซีน (Leucine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็นชนิดหนึ่งที่ช่วยสังเคราะห์โปรตีนและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ HMB นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อทดแทนปริมาณที่ร่างกายได้รับไม่เพียงพอ

เมื่ออายุได้ 30 ปี เราจะเริ่มสูญเสียมวลกล้ามเนื้อเฉลี่ย 3–8% ในทุก 10 ปี และการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อจะชัดเจนขึ้นเมื่ออายุระหว่าง 65–80 ปี เท่ากับว่าในช่วงอายุ 30–80 ปี ผู้สูงอายุอาจสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปประมาณ 30% ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการหกล้มและสูญเสียสมรรถภาพทางกายในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการหกล้มสูงถึง 28–42%

 HMB (Beta-Hydroxy-Beta-Methylbutyrate) ตัวช่วยในการดูแลกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ

การดูแลสุขภาพกล้ามเนื้อจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย มาทำความรู้จักกับ HMB สารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างและชะลอการสลายของมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น

HMB กับการช่วยเสริมสร้างและชะลอการสลายของกล้ามเนื้อ

HMB (Beta-Hydroxy-Beta-Methylbutyrate) ถูกพัฒนาในวงการวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยอาจช่วยในการเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ การเพิ่มของมวลน้ำหนักตัวที่ไม่รวมไขมัน (Lean Body Mass) และช่วยในการฟื้นตัวของร่างกาย ผลการวิจัยพบว่า HMB มีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงและลดความเสียหายของกล้ามเนื้อในนักกีฬาได้

นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่วิเคราะห์ผลการศึกษา 15 ชิ้นของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร HMB ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะทุพโภชนาการ พบว่า HMB มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณมวลกล้ามเนื้อลายที่เราใช้ในการเคลื่อนไหว (Skeletal Muscle Mass) และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ จึงอาจสรุปได้ว่า HMB มีประโยชน์ในการป้องกันการเสื่อมสลายของมวลกล้ามเนื้อ

ผลการวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการระดับปานกลางถึงระดับสูง พบว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมที่มี HMB วันละ 2 ครั้ง มีน้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย และเส้นรอบวงกล้ามเนื้อกึ่งกลางต้นแขน (Mid Upper Arm Circumference) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยทั้งสองกลุ่มได้รับคำปรึกษาด้านโภชนาการเหมือนกัน

ซึ่งผลการศึกษานี้สอดคล้องกับการศึกษาหนึ่งที่ระบุว่าการให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารเสริม HMB ควบคู่กับวิตามินดี 3 อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพร่างกายและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยเห็นได้ชัดในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้ฝึกการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Resistance Exercise Training) ซึ่งอาจสรุปว่า การรับประทานอาหารเสริม HMB และวิตามินดีอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้

ทั้งนี้ ในอนาคตยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงคุณประโยชน์และประสิทธิภาพของ HMB เพื่อให้เราเข้าใจผลของ HMB ต่อร่างกายมนุษย์อย่างครอบคลุมในทุกด้าน

HMB พบได้จากแหล่งใด

อย่างที่กล่าวไปว่าร่างกายของเราผลิต HMB (Beta-Hydroxy-Beta-Methylbutyrate) ได้จากการสลายลิวซีน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ได้จากการรับประทานอาหารที่ให้โปรตีน เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ แซลมอน อัลมอนด์ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และไข่ 

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ร่างกายได้รับลิวซีนไม่เพียงพอ อ้างอิงจากงานวิจัยซึ่งปริมาณ HMB ที่ได้รับเสริมอยู่ที่ 1.5 ถึง 3 กรัมต่อวัน และร่างกายจะผลิต HMB ได้เพียง 5% จากปริมาณลิวซีนในอาหารที่บริโภคเข้าไป จึงเป็นไปได้ยากที่จะได้รับ HMB เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจากการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว

อีกทั้งผู้สูงอายุที่ร่างกายสูญเสียมวลกล้ามเนื้อมากขึ้นตามวัย และอาจมีโรคประจำตัวและมีอาการเบื่ออาหาร ทำให้รับประทานโปรตีนได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย จึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อพร่องและภาวะขาดสารอาหารง่ายกว่าคนหนุ่มสาว 

การเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ประกอบด้วย HMB และโปรตีนคุณภาพดีหลายชนิดจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุได้ โดย HMB มีส่วนช่วยเสริมสร้างและชะลอการสลายของกล้ามเนื้อ และเมื่อทานควบคู่กับโปรตีนคุณภาพดีหลายชนิดอาจช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ และส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งแรงยิ่งขึ้น 

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร HMB มีทั้งแบบเม็ด แคปซูล และนมผงที่ดื่มง่ายและเหมาะกับผู้สูงอายุ หลายผลิตภัณฑ์อาจผสมสารอาหารอื่น ๆ เช่น วิตามินบี วิตามินดี  แคลเซียม ใยอาหาร และโปรตีนคุณภาพสูง เช่น เวย์ (Whey) และเคซีน (Casein) ที่อุดมไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายสามารถย่อยและดูดซึมได้ดี รวมทั้งโปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง (Isolated Soy Protein) ซึ่งช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและเสริมคุณค่าทางโภชนาการให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น

โดยทั่วไป การรับประทานอาหารเสริม HMB มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมหรือรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์ และสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสูตรผงชงเพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อพร่องในผู้สูงอายุ ควรดื่มปริมาณตามที่แนะนำของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด

เพราะสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ จึงควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารหลัก 5 หมู่ โดยเน้นอาหารประเภทโปรตีนสูง ไขมันและน้ำตาลต่ำ ควบคู่กับการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้สุขภาพแข็งแรง หากได้รับสารอาหารจากอาหารหลักไม่เพียงพอ อาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มี HMB เสริม เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด: 29 สิงหาคม 2565
ตรวจสอบความถูกต้องโดย: พญ. นิลวรรณ นิมมานวรวงศ์

เอกสารอ้างอิง 

  • Chew, et al. (2021). Impact of specialized oral nutritional supplement on clinical, nutritional, and functional outcomes: A randomized, placebo-controlled trial in community-dwelling older adults at risk of malnutrition. Clinical Nutrition, 40(4). pp. 1879-1892.
  • Rathmacher, et al. (2020). Long-term Effects of Calcium β-Hydroxy-β-Methylbutyrate and Vitamin D3 Supplementation on Muscular Function in Older Adults With and Without Resistance Training: A Randomized, Double-blind, Controlled Study. The journals of gerontology. Series A, Biological sciences and medical sciences, 75(11). pp. 2089-2097.
  • Kaczka, et al. (2019). Mechanism of Action and the Effect of Beta-Hydroxy-Beta- Methylbutyrate (HMB) Supplementation on Different Types of Physical Performance -A Systematic Review. Journal of Human Kinetics, 68(1). pp. 211-222.
  • Bear, et al. (2019). β-Hydroxy-β-methylbutyrate and its impact on skeletal muscle mass and physical function in clinical practice: a systematic review and meta-analysis. The American Journal of Clinical Nutrition, 109(4). pp. 1119-1132.
  • Holeček, M. (2017). Beta-hydroxy-beta-methylbutyrate supplementation and skeletal muscle in healthy and muscle-wasting conditions. Journal of cachexia, sarcopenia and muscle, 8(4). pp. 529-541.
  • Paul, G.L. (2009) The Rationale for Consuming Protein Blends in Sports Nutrition, Journal of the American College of Nutrition, 28:sup4. pp. 464S-472S.
  • Harvard Health Publishing (2016). Harvard Medical School. Preserve your muscle mass. 
  • จิราภี สุนทรกุล ณ ชลบุรี. มหาวิทยาลัยมหิดล (2018). ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. หกล้มในผู้สูงอายุ อันตรายกว่าวัยอื่นหลายเท่าตัว ปัญหาที่ต้องระวัง.
  • วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล.  มหาวิทยาลัยมหิดล (2017). ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. ภาวะกล้ามเนื้อพร่อง...เป็นอย่างไร.
  • Raman, R. Healthline (2021). Hydroxymethylbutyrate (HMB): Benefits, Downsides, and More.
  • Van De Walle, G. Healthline (2018). What's the Difference Between Casein and Whey Protein?.
  • Frey, M. Verywell Fit (2021). What Is Leucine? A Guide to Leucine Foods and Leucine Supplements.
  • Dunkin, M.A. WebMD (2020). Sarcopenia With Aging.
  • WebMD. Hydroxymethylbutyrate (Hmb) - Uses, Side Effects, and More.