ลุกแล้วหน้ามืด อาการที่คุณไม่ควรเพิกเฉย

ลุกแล้วหน้ามืดเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อย โดยสาเหตุอาจมาจากระดับความดันโลหิตลดลงกะทันหันเมื่อลุกยืนหรือเปลี่ยนท่าทาง (Orthostatic Hypotension) แม้ว่าอาการดังกล่าวอาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ควรหมั่นสังเกตอาการลุกแล้วหน้ามืดของตน โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

อาการลุกแล้วหน้ามืดมักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ ตามัว กล้ามเนื้อสั่น สับสนมึนงง อ่อนแรง หรือวูบหมดสติชั่วครู่ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย การรู้ถึงสาเหตุ วิธีบรรเทาอาการและการรักษาอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

ลุกแล้วหน้ามืด อาการที่คุณไม่ควรเพิกเฉย

ลุกแล้วหน้ามืดเกิดจากอะไร

ลุกแล้วหน้ามืดมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่งหรือนอนเป็นท่ายืน ซึ่งจะทำให้ระดับความดันโลหิตในร่างกายลดต่ำลงอย่างรวดเร็วจนรู้สึกหน้ามืดชั่วขณะ โดยปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการดังกล่าว เช่น

  • ภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะหลังการอาเจียน ท้องเสีย หลังออกกำลังกายอย่างหนัก หรือการอยู่กลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน
  • การรับประทานอาหาร เนื่องจากหลังรับประทานอาหารเสร็จ เลือดจะไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงลำไส้มากขึ้นเพื่อย่อยอาหาร จนอาจทำให้เลือดไหลเวียนไปยังร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้น้อยลง
  • การใช้ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs) หรือยาชนิดอื่น ๆ ที่มีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกหน้ามืดเมื่อลุกขึ้นยืน
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  • การรักษาตัวหรือพักฟื้นบนเตียงติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
  • โรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคทางต่อมไทรอยด์ โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) กลุ่มอาการระบบประสาทเสื่อมชาย-เดรเกอร์ (Shy-Drager Syndrome หรือ MSA) กลุ่มอาการไขสันหลังเป็นโพรง (Syringomyelia) หรือภาวะโลหิตจาง

ลุกแล้วหน้ามืดกับวิธีบรรเทาในเบื้องต้น

การบรรเทาอาการลุกแล้วหน้ามืดนั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ลุกขึ้นช้า ๆ

ควรลุกขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่ว่าก่อนลุกจะอยู่ในท่านั่งหรือนอนก็ตาม โดยหากลุกจากเตียง ควรค่อย ๆ ลุกขึ้นนั่ง และเว้นระยะเวลาสักครู่ก่อนจึงค่อยลุกขึ้นยืน

ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำที่อาจเป็นสาเหตุของอาการลุกแล้วหน้ามืดได้

ดังนั้น ผู้ที่มีอาการดังกล่าวจึงควรดื่มน้ำตั้งแต่ตื่นนอนและตลอดทั้งวันในปริมาณประมาณ 2 ลิตร แต่ไม่ควรดื่มน้ำในปริมาณมากก่อนเข้านอนเพราะอาจทำให้ปวดปัสสาวะกลางดึกได้

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและเสริมการทำงานของระบบหัวใจ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการจากภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า อาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ ในตอนเช้าเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดี 

การออกกำลังกายแบบเบา ๆ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ยืดหดขาก่อนลุกขึ้นยืน ยืนย่ำเท้า สควอทและยืนเขย่งปลายเท้าหากมีอาการ เนื่องจากจะช่วยให้เลือดไหลเวียนจากขาไปยังหัวใจได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในที่ร้อนหรือชื้น และควรระมัดระวังการอยู่ในท่ายืนหรือท่านั่งติดต่อกันนานจนเกินไป

ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร

ผู้ที่ลุกแล้วหน้ามืดอาจลองรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณที่น้อยลงแต่เพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้น ลดการรับประทานคาร์โบไฮเดรตเพื่อป้องกันการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่ (Postprandial Hypotension) ที่อาจส่งผลให้รู้สึกหน้ามืดเมื่อลุกขึ้นหลังมื้ออาหารได้

ใช้ยาอย่างระมัดระวัง

การใช้ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลง ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์หากต้องการลดปริมาณยาหรือหยุดการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย

หากไม่สามารถบรรเทาด้วยวิธีดังกล่าวได้ แพทย์อาจจ่ายยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยาฟลูโดรคอร์ติโซน (Fludrocortisone) ยามิโดดรีน (Midodrine) ยาไพริโดสติกมีน (Pyridostigmine) หรือยาดรอกซิโดปา (Droxidopa) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อการรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมหากสังเกตเห็นว่าตนเองลุกแล้วหน้ามืดบ่อย ๆ หรือมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ล้มหรือหมดสติไปชั่วขณะ เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอย่างโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ได้