ส่าไข้ อาการและการดูแลที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

ส่าไข้ในที่นี้หมายถึงอาการไข้ร่วมกับผื่นที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Herpesvirus 6 (HHV–6) หรือเชื้อไวรัส Human Herpes Virus 7 (HHV–7) แม้ว่าส่วนใหญ่เจ้าตัวน้อยจะมีอาการไม่รุนแรง แต่การสังเกตความผิดปกติและรู้จักวิธีดูแลลูกน้อยก็ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพ่อแม่ทุกคน

ส่าไข้เกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่จะเกิดได้บ่อยในเด็กอายุ 6 เดือน–2 ปี ซึ่งเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุสามารถแพร่กระจายได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น โดยสามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำลายหรือผ่านสารคัดหลั่งละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจจากผู้ติดเชื้อเมื่อพูด ไอหรือจาม

Exanthem,Subitum,,Roseola,Infantum,,Sixth,Disease,,Seudo,Rubella,Baby,Sick

ส่าไข้ อาการเป็นอย่างไร

เด็กที่ติดเชื้อไวรัสโรคส่าไข้มักแสดงออกหลังได้รับเชื้อในช่วง 5–15 วัน โดยจะมีไข้นานได้ถึง 1 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ ในช่วงนี้เด็กอาจมีอาการงอแง หรือกินอาหารได้น้อยลง หลังไข้ลดลงมักจะเกิดผื่นนูน แดง โดยเฉพาะที่ลำตัว คอ แขนและขา แต่ผื่นจากส่าไข้มักไม่ก่อให้เกิดอาการคัน และหายไปเองในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือภายใน 2–3 วัน

นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • มีอาการคล้ายหวัดร่วมด้วย เช่น ไอแห้ง เจ็บคอ มีน้ำมูก ต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณคอ เป็นต้น
  • ท้องเสีย
  • หากไข้สูงมาก ทำให้มีอาการชักได้ในบางราย

วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นส่าไข้

ส่าไข้จะรักษาไปตามอาการ ไม่มีวิธีรักษาเฉพาะทาง พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถดูแลลูกหลานของตนเองได้โดยให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หากเด็กมีไข้ ตัวร้อนหรือไม่สบายตัว อาจเช็ดตัวหรืออาบน้ำให้เด็กด้วยน้ำอุ่น และให้ลูกกินยาพาราเซตามอล แต่ห้ามให้เด็กกินยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติในกลุ่มอาการราย (Reye's Syndrome) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเพราะไม่สามารถบรรเทาอาการหรือรักษาความผิดปกติที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้ สำหรับผื่นที่เกิดขึ้นนั้นไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะเป็นผื่นที่ไม่อันตราย ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บหรืออาการคัน และหายได้เองในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรนำเด็กส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุดหากลูกมีอาการง่วงซึม อ่อนเพลียมากกว่าปกติ หายใจลำบาก ไอมาก มีไข้สูงกว่า 38.9 องศาเซลเซียสหรือมีไข้สูงติดต่อกันนานกว่า 24 ชั่วโมง เกิดผื่นคันหรือเจ็บ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลายครั้ง มีอาการของภาวะขาดน้ำอย่างการขับปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือมีอาการชัก

ส่าไข้ ป้องกันอย่างไร

ส่าไข้ไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนหรือการใช้ยาต้านไวรัส (Antiviral Therapy) แต่ผู้ปกครองอาจลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสของบุตรหลานได้โดยการรักษาความสะอาดทั้งตนเองและเด็ก เช่น การล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในกลุ่มคนหมู่มาก ไม่อยู่ใกล้ผู้ป่วย เป็นต้น

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของส่าไข้จะแพร่กระจายก่อนที่ผู้ป่วยแสดงอาการของโรค เมื่อมีอาการผื่นของส่าไข้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ผู้ป่วยมักไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัสได้อีก และหากอาการดีขึ้นแล้วก็สามารถกลับไปทำกิจกรรมหรือเข้าเรียนได้ตามปกติ ซึ่งเด็กที่เคยติดเชื้อไวรัส HHV-6 หรือเชื้อไวรัส HHV-7 และป่วยเป็นส่าไข้ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อดังกล่าวไปตลอดชีวิต