ลูกไม่กินนม ปัญหาหนักใจที่คุณพ่อคุณแม่แก้ไขได้

ลูกไม่กินนมเป็นปัญหาคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจ เพราะทารกเป็นช่วงวัยที่ต้องการสารอาหารในปริมาณเหมาะสม หากได้รับสารอาหารไม่เพียงพออาจกระทบต่อพัฒนาการ การเจริญเติบโตตามวัยของเด็ก และอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกิดจากลูกไม่กินนมในอนาคต

ลูกไม่กินนมหรือกินได้น้อย ทั้งจากกินนมจากขวดนมหรือจากเต้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ มีตั้งแต่สาเหตุทั่วไปจนถึงอาการเจ็บป่วยบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก หากคุณพ่อคุณแม่กำลังเผชิญกับปัญหาลูกไม่กินนม มาดูกันว่าสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง และควรรับมืออย่างไร

ลูกไม่กินนม ปัญหาหนักใจที่คุณพ่อคุณแม่แก้ไขได้

สาเหตุที่อาจทำให้ลูกไม่กินนม

ปัญหาลูกไม่กินนมอาจมาจากสาเหตุต่อไปนี้

  1. ปัญหาเกี่ยวกับนม ขวดนม และจุกนม

หากทารกเคยกินนมชนิดเดิม แต่จู่ ๆ ก็ไม่กินนม คุณพ่อคุณแม่อาจลองการเช็กอุณหภูมิของนม โดยการหยดนมลงบนหลังมือเพื่อดูว่านมนั้นร้อนหรือเย็นเกินไปรึเปล่า โดยเด็กแต่ละคนอาจชอบนมอุณหภูมิที่แตกต่างกัน 

หลังจากทดสอบอุณหภูมิของนมแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบรสชาติของนมด้วยการชิม เพราะการเปลี่ยนยี่ห้อนมผงหรือการกะสัดส่วนผิดอาจทำให้รสชาตินมเปลี่ยนไป หรือหากนำนมเก่าที่เคยแช่ไว้มาอุ่นซ้ำ นมนั้นอาจหมดอายุ มีกลิ่นและรสชาติที่เปลี่ยนไปจนทำให้ลูกไม่กินนมได้

นอกจากนี้ หากเพิ่งเปลี่ยนขวดนมใหม่ที่มีรูปทรงต่างไปจากเดิมก็อาจทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกจับไม่ถนัด ไม่คุ้นเคยจนทำให้ลูกไม่กินนมได้ รวมถึงจุกนมที่อุดตัน จุกนมแข็ง จุกนมใหญ่หรือเล็กเกินไป อาจส่งผลให้ทารกดูดนมได้ลำบากจนไม่ยอมกินนมได้

  1. ทารกไม่สบาย

หลังจากคุณพ่อคุณแม่ลองเช็กสาเหตุในข้อแรกแล้วไม่พบความผิดปกติ มีความเป็นไปได้ว่าทารกอาจรู้สึกไม่สบาย ซึ่งการเจ็บป่วยบางอย่างอาจทำให้ลูกไม่กินนมหรือกินได้น้อย เนื่องจากเจ็บปาก เจ็บคอ หรือกลืนนมแล้วเจ็บ เช่น เป็นหวัด เป็นไข้ ติดเชื้อในหู ติดเชื้อในลำคอ หรือติดเชื้อราในช่องปาก เป็นต้น

การเจ็บป่วยในทารกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและดูแลทารกอย่างเหมาะสม เพราะเด็กมักเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงได้มากกว่าผู้ใหญ่ หากพบว่าลูกตัวร้อน มีไข้สูง ไม่ยอมกินนม หรือพบอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณของการเจ็บป่วย ควรพาลูกไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม บางครั้งทารกอาจไม่ได้ไม่สบายหรือเจ็บป่วยจากโรค แต่ทารกอาจรู้สึกคันหรือเจ็บเหงือกเพราะฟันเริ่มขึ้นจนทำให้กินนมน้อยลง

  1. ทารกอยู่ในช่วงเริ่มกินอาหารบด

เมื่อทารกเข้าสู่วัยที่เริ่มกินอาหารบด ในช่วงแรกมักจะให้กินอาหารบด อย่างกล้วยบด ฟักทองบด หรือโจ๊ก ร่วมกับนม ทารกบางคนอาจติดใจรสชาติของอาหารชนิดใหม่จึงทำให้คุณแม่ประสบปัญหาลูกไม่กินนมได้ หรือบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจให้ทารกกินอาหารบดมากเกินไปจนทำให้เด็กอิ่มและไม่อยากกินนม

  1. ทารกถูกกระตุ้นจากปัจจัยบางอย่าง

ทารกที่เริ่มรู้จักการเล่นของเล่น การดูโทรทัศน์ หรือการเล่นแท็บเล็ต ทารกอาจให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้มากกว่าการกินนม เมื่อคุณพ่อคุณแม่เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้หรือวางของเล่นไว้ใกล้ ๆ ก็อาจดึงความสนใจของลูกจนทำให้ลูกไม่กินนม นอกจากนี้ การเปลี่ยนของใช้ใหม่ อย่างสบู่ แชมพู น้ำหอม หรือน้ำยาปรับผ้านุ่มใหม่ อาจทำให้เด็กอาจรู้สึกไม่คุ้นกับกลิ่นหรือรู้สึกกังวลจนไม่กินนมได้

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ปัญหาลูกไม่กินนมอาจเกิดจากปัจจัยอื่นได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อาการและพฤติกรรมของทารก ในกรณีที่ทารกไม่ยอมกินนมหรืออาหารบด ร่วมกับมีอาการงอแง ร้องไห้ไม่หยุด เป็นไข้ ท้องเสีย อาเจียน ควรพาทารกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

วิธีรับมือเมื่อลูกไม่กินนม

การรับมือกับปัญหาลูกไม่กินนมทำได้หลายวิธี คุณพ่อคุณแม่อาจลองนำวิธีต่อไปนี้ไปปรับใช้ได้

  • กำหนดปริมาณนมและอาหารสำหรับทารกในแต่ละมื้ออย่างเหมาะสม และรอเวลาให้ทารกรู้สึกหิวและอยากนมแล้วค่อยป้อนนม
  • หากอยู่ในช่วงเปลี่ยนอาหารจากนมแม่ไปเป็นนมผง หรือจากนมผงไปเป็นอาหารบด ควรค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อยเพื่อให้ทารกปรับตัวและคุ้นชินกับอาหารใหม่
  • เช็กวันหมดอายุนม รสชาติ และอุณหภูมิของนมก่อนให้ลูกกินนมเสมอ
  • เช็กจุกนมว่าไม่อุดตัน ไม่แข็งเกินไป และหาจุกนมที่มีขนาดเหมาะกับทารก
  • ลองปรับเปลี่ยนท่าป้อนนม เพื่อให้ทารกรู้สึกสบายตัวและกินนมได้ง่ายขึ้น
  • กอดและอุ้มทารกระหว่างป้อนนมเพื่อให้ทารกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย
  • หากลูกอยู่ในช่วงที่ฟันเริ่มขึ้นอาจลองป้อนนมแช่เย็นแทน เพราะความเย็นจากนมอาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บเหงือกจากฟันขึ้น แต่ควรระวังไม่ให้นมเย็นจนเกินไป
  • ป้อนนมลูกในห้องที่เงียบและไม่มีสิ่งรบกวนหรือกระตุ้น

คุณพ่อคุณแม่สามารถป้อนนมลูกได้เรื่อย ๆ หากลูกปฏิเสธไม่กินนมก็ไม่ควรบังคับหรือทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด เพราะอาจทำให้ปัญหาลูกไม่กินนมรุนแรงมากขึ้น โดยอาจเว้นช่วงและกลับมาป้อนนมใหม่ หากลองวิธีข้างต้นแล้วทารกก็ยังไม่ยอมกินนมหรือทารกไม่สบาย งอแงมากกว่าปกติ ควรพาไปพบแพทย์