ลูกมีก้อนที่ข้างคอ รู้จักสาเหตุและวิธีรับมืออย่างถูกต้องและปลอดภัย

ลูกมีก้อนที่ข้างคอเป็นอาการที่มีก้อนนูนเกิดขึ้นบริเวณคอของลูกและอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ โดยมากมักเกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังต่อสู้กับการติดเชื้อ และมักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

ก้อนที่ข้างคอของลูกอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อน มีขนาดเล็กหรือมีขนาดใหญ่จนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน บางก้อนอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ ซึ่งลักษณะของก้อนเนื้ออาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุ อย่างไรก็ตาม หากลูกมีก้อนที่ข้างคอนานหลายสัปดาห์หรืออาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

Child has a lump on the side of the neck

สาเหตุที่ทำให้ลูกมีก้อนที่ข้างคอ

ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลให้ลูกมีก้อนที่ข้างคอ เช่น

1. ต่อมน้ำเหลืองโต

ต่อมน้ำเหลืองโตมักเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกมีก้อนที่ข้างคอ โดยต่อมน้ำเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันที่มีหน้าที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ  ซึ่งก้อนที่ข้างคอของลูกอาจเป็นสัญญาณของร่างกายที่กำลังต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมโตตามมา 

โดยต่อมน้ำเหลืองโตอาจเกิดจากโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ต่อมทอนซิลอักเสบ โรคคอหอยอักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส (Strep throat) โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Infectious mononucleosis) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตอาการต่อมน้ำเหลืองโตได้จากลักษณะต่าง ๆ เช่น กดแล้วรู้สึกเจ็บ ผิวบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองโต บวม และแดง

2. ซีสต์ (Cysts)

ซีสต์คือถุงของเหลวที่สามารถพบได้บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงลำคอ โดยซีสต์อาจเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะมีขนาดเล็กและค่อย ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเด็กอายุมากขึ้น ดังนั้น เมื่อลูกมีก้อนที่ข้างคอ ก้อนนี้อาจเกิดจากซีสต์ได้ 

3. โรคเนื้องอกหลอดเลือด (Hemangioma)

โรคเนื้องอกหลอดเลือดเกิดจากการที่เส้นเลือดใต้ผิวหนังของลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงอาจส่งผลให้ลูกมีก้อนที่ข้างคอที่มีลักษณะนิ่ม นูน แดง และใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยโรคเนื้องอกหลอดเลือดอาจหายไปได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น อย่างไรก็ตาม หากก้อนเนื้อชนิดนี้แตกหรือมีเลือดออก ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม

4. โรคคอพอก 

โรคคอพอกอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกมีก้อนที่ข้างคอ ซึ่งก้อนเนื้อที่เกิดจากโรคคอพอกมักอยู่บริเวณคอด้านหน้า แต่ก็อาจเกิดขึ้นที่ข้างคอได้เช่นกัน โดยโรคคอพอกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบ ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากหรือน้อยผิดปกติ หรืออาจเกิดจากการขาดไอโอดีน ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ต่อมไทรอยด์บวม และทำให้ลูกมีก้อนที่ข้างคอได้

โดยก้อนเนื้อที่เกิดจากโรคคอพอกมักมีขนาดใหญ่ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กลืนลำบาก หายใจลำบาก ไอ เสียงแหบ รู้สึกเวียนศีรษะเมื่อยกมือขึ้นเหนือศีรษะ

5. วัณโรคต่อมน้ำเหลือง

วัณโรคต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้ลูกมีก้อนที่ข้างคอ โดยวัณโรคต่อมน้ำเหลืองอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อกันผ่านการหายใจ ไอ จาม หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต และส่งผลให้ลูกมีก้อนที่ข้างคอ รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ 

6. มะเร็ง

ในบางกรณี ก้อนที่ข้างคออาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งในเด็ก เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งของเนื้อเยื่อประสาท (Neuroblastoma) มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma) และมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยลักษณะของก้อนเนื้อมะเร็งที่ข้างคอ อาจมีดังนี้

  • ก้อนที่ข้างคอแข็ง เมื่อจับแล้วไม่สามารถขยับไปมาได้
  • ก้อนที่ข้างคอมีขนาดใหญ่เกิน 1 นิ้ว และอาจมีขนาดเท่าเดิมหรือใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
  • ก้อนที่ข้างคอแต่ละก้อนมีรูปร่างและขนาดไม่เท่ากัน
  • เมื่อสัมผัสที่ก้อนข้างคอแล้ว มักไม่รู้สึกเจ็บบริเวณดังกล่าว

วิธีรับมือเมื่อลูกมีก้อนที่ข้างคออย่างเหมาะสม

คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือเมื่อลูกมีก้อนที่ข้างคอเบื้องต้นได้ โดยก้อนที่ข้างคออาจหายไปเมื่อรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุ เช่น หากก้อนข้างคอเกิดจากโรคหวัดที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวม คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานยาต่าง ๆ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาแก้เจ็บคอ เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ก้อนเนื้อที่ข้างคออาจเริ่มดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากลูกมีก้อนที่ข้างคอนานหลายสัปดาห์ ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อค้นหาสาเหตุและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม 

โดยการรักษาจากแพทย์อาจขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น หากลูกมีก้อนที่ข้างคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ หากก้อนที่ข้างคอลูกเป็นก้อนซีสต์ แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น การเจาะระบายของเหลว หรือการผ่าตัด