เหงื่อออกตอนกลางคืน (Night Sweats)

ความหมาย เหงื่อออกตอนกลางคืน (Night Sweats)

เหงื่อออกตอนกลางคืน (Night Sweats) เป็นอาการที่ร่างกายขับเหงื่อออกมามากผิดปกติในช่วงเวลากลางคืนหรือขณะหลับ ส่วนมากเป็นเพียงอาการปกติที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อปัจจัยต่าง ๆ อย่างการนอนในห้องที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ หรือใส่ชุดนอนหนาเกินไป ในบางกรณี อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนอาจเป็นสัญญาณจากโรคหรือความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย

เหงื่อออกตอนกลางคืนเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แม้จะเป็นอาการที่ไม่รุนแรงหรือส่งผลอันตรายใดต่อร่างกาย แต่หากอาการเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังหรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ทางร่างกายร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง 

เหงื่อออกตอนกลางคืน (Night Sweats)

อาการเหงื่อออกตอนกลางคืน

โดยปกติแล้ว อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนเป็นอาการที่มักพบได้จากการนอนในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ใส่ชุดนอนที่หนาเกินไป หรือห่มผ้าหลายชั้น ในบางกรณีเหงื่อออกตอนกลางคืนอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการอื่นร่วมด้วย โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • ไอ
  • ท้องเสีย
  • ปวดตามร่างกายโดยสามารถระบุบริเวณที่ปวดได้ชัดเจน
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีเหงื่อออกมากเกินปกติในตอนกลางวัน
  • ในกรณีผู้หญิงอาจพบอาการช่องคลอดแห้ง ร้อนวูบวาบในตอนกลางวัน หรืออารมณ์แปรปรวน      

แม้อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนอาจไม่มีความรุนแรงหรือไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย แต่ควรไปพบแพทย์หากอาการเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังจนส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ เกิดความผิดปกติอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะอาการในข้างต้น รวมถึงผู้หญิงที่มีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืนหลังจากเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือนหรือวัยทอง (Menopause) มานานแล้วหลายเดือนหรือหลายปี

สาเหตุของเหงื่อออกตอนกลางคืน

โดยธรรมชาติแล้ว อาการเหงื่อออกเป็นกลไกปกติที่ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนจึงอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุทั่วไป อย่างอุณหภูมิห้องนอนสูงกว่าปกติหรือการใส่ชุดนอนที่หนาเกินไป 

ในบางกรณี อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนที่ไม่ใช่กลไกในการระบายความร้อนปกติของร่างกายอาจเป็นผลมาจากสาเหตุบางประการ เช่น

  • ภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง เป็นภาวะที่ร่างกายหยุดผลิตฮอร์โมนเพศหญิงหรือฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมไปถึงอาการเหงื่อออกตอนกลางคืนด้วย
  • การติดเชื้อ เช่น วัณโรค ฝี โรคติดเชื้อบริเวณเยื่อบุหัวใจ หรือเชื้อเอชไอวี เป็นต้น
  • มะเร็ง อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนอาจเป็นสัญญาณแรกเริ่มของมะเร็ง หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งอาจสังเกตพบอาการอื่นร่วมด้วย อย่างเป็นไข้หรือน้ำหนักลด โดยชนิดของมะเร็งที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอาจส่งผลให้ร่างกายขับเหงื่อออกมามากผิดปกติ โดยภาวะดังกล่าวพบได้มากในผู้ที่ต้องฉีดอินซูลินหรือรับประทานยาบางชนิดเพื่อรักษาโรคเบาหวาน
  • ความผิดปกติของฮอร์โมน เนื่องจากภาวะบางอย่าง อย่างไทรอยด์เป็นพิษหรือเกิดเนื้องอกบางส่วนของร่างกาย จึงส่งผลให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติ 
  • ภาวะความผิดปกติทางระบบประสาท อย่างหลอดเลือดในสมองแตก
  • ความเครียด
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้า สเตียรอยด์ ยาต้านฮอร์โมน ยาแก้ปวดอย่างแอสไพรินและอะเซตามิโนเฟน เป็นต้น
  • สารเสพติดบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน ยาสูบ กลุ่มยาโอปิออยด์ โคเคน หรือกัญชา เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะเหงื่อออกมาก (Hyperhidrosis) กรดไหลย้อน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน

ในการวินิจฉัยอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน แพทย์จะสอบถามอาการความผิดปกติและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุร่วมกับการตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของสาเหตุ เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์ เป็นต้น

การรักษาอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน

อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคหรือภาวะผิดปกติมักไม่ส่งผลอันตราย แพทย์อาจเพียงแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว เช่น สวมชุดนอนที่ไม่หนาเกินไป เปิดหน้าต่าง พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศเพื่อปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะแก่การนอนหลับ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และอาหารรสจัดในช่วงก่อนเข้านอน หรือฝึกการหายใจเพื่อนผ่อนคลาย เป็นต้น

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืนจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่ต้องได้รับการรักษา แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น

  • ภาวะหมดประจำเดือนหรือวัยทอง แพทย์อาจให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) เพื่อบรรเทาอาการเหงื่อออกตอนกลางคืนและอาการอื่น ๆ จากภาวะหมดประจำเดือน
  • การติดเชื้อ แพทย์อาจใช้ยาปฎิชีวนะ ยาต้านไวรัส หรือยาอื่น ๆ ในการรักษา ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ
  • มะเร็ง แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาหลายอย่างร่วมกัน เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม การผ่าตัด และวิธีอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
  • การใช้ยาบางชนิด แพทย์อาจปรับปริมาณการใช้ยาที่อาจเป็นสาเหตุ หรือเลือกให้ยาชนิดอื่นแทน
  • การดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยจำกัดปริมาณหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มดังกล่าว ในบางกรณี แพทย์อาจช่วยให้ผู้ป่วยเลิกพฤติกรรมดังกล่าวด้วยวิธีการบำบัดหรือการใช้ยาบางชนิด

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน แพทย์อาจใช้ยาบางชนิดในการรักษาร่วมด้วย เช่น ยากาบาเพนติน (Gabapentin) ยาโคลนิดีน (Clonidine) หรือยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน

อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคอาจจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว หรือรบกวนการนอนหลับเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย แต่หากสาเหตุเกิดจากโรคประจำตัวหรือภาวะบางอย่างแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคนั้นได้ เช่น อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนจากการติดเชื้อวัณโรคอาจส่งผลให้ปอดมีปัญหา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย เป็นต้น

การป้องกันอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน

เนื่องจากอาการเหงื่อออกตอนกลางคืนเป็นอาการที่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย การป้องกันจึงทำได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการควบคุมปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด หรือการสูบยาสูบ
  • เปิดหน้าต่าง พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศในห้องนอนเพื่อปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะแก่การนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารรสจัด หรือการดื่มน้ำอุ่นในช่วงเวลาก่อนเข้านอน
  • ไปพบแพทย์ตั้งแต่มีอาการเนิ่น ๆ โดยเฉพาะในกรณีที่มีโรคประจำตัว หรือภาวะความผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ