บุหรี่ไฟฟ้า เรื่องที่ควรรู้และระวังก่อนตัดสินใจสูบ

บุหรี่ไฟฟ้า (E-Cigarettes หรือ Vaping) คืออุปกรณ์ใช้สูบบุหรี่ที่ใช้แบตเตอรี่ในการสร้างความร้อนและสารในไอระเหย จึงไม่มีควันจากการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป และได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่ต่างจากการสุบบุหรี่ปกติ และนำไปสู่โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอื่น ๆ 

บุหรี่ไฟฟ้าประกอบไปด้วยสารต่าง ๆ เช่น นิโคติน (Nicotine) โพรไพลีนไกลคอล (Propylene Glycol) กลีเซอรีน แม้จะไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) แต่เมื่อสูบเข้าไปในปอด ร่างกายจะได้รับนิโคติน และสารพิษอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อตัวผู้สูบและคนรอบข้าง ในปัจจุบัน การซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศไทย

บุหรี่ไฟฟ้า

ส่วนประกอบของบุหรี่ไฟฟ้า

ส่วนประกอบหลักของบุหรี่ไฟฟ้าแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่ (Battery) ตัวที่ทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และตลับเก็บน้ำยา (Cartridge)

บุหรี่ไฟฟ้าจะทำงานได้ไม่เต็มรูปแบบถ้าขาดน้ำยาสำหรับบุหรี่ไฟฟ้า (E-Liquid หรือ E-Juice) ซึ่งบรรจุอยู่ในตลับเก็บน้ำยาเพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการทำความร้อนก่อนกลายเป็นไอที่ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูบเข้าไปในปอด ส่วนผสมที่พบมากในน้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice มีดังนี้

นิโคติน (Nicotine) 

นิโคตินเป็นสารสกัดจากใบยาสูบและเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ปกติทั่วไป นิโคตินจะทำให้ร่างกายเสพติดการใช้บุหรี่ และจะเข้าไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ 

ระดับนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ เปอร์เซ็นต์ มิลลิกรัม และระดับความเข้มข้น ได้แก่ ระดับสูง ระดับกลาง และระดับต่ำ

โพรไพลีนไกลคอล (Propylene Glycol) 

โพรไพลีนไกลคอลเป็นสารสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่องค์การอาหารและยา (FDA) ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง รวมถึงนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างไอหรือหมอกสำหรับเวทีการแสดงต่าง ๆ แต่เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ดวงตาและปอดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง

กลีเซอรีน (Glycerine)

กลีเซอรีนเป็นสารที่ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น แต่มีรสชาติหวานเล็กน้อย องค์การอาหารและยา (FDA) ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย เช่นเดียวกันกับโพรไพลีนไกลคอล

สารแต่งกลิ่นและรส (Flavoring)

สารแต่งกลิ่นและรสในบุหรี่เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั่วไป มีความปลอดภัยเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย ตัวอย่างเช่น สารไดอะซิติล (Diacetyl) อาจเป็นสาเหตุของปัญหาระบบทางเดินหายใจและปอด

นอกจากนี้ ในน้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า อาจมีโลหะหนัก ได้แก่ นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส โครเมียม และแคดเมียม รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ประเภทของบุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ แต่แบ่งได้ 3 รูปแบบ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบที่ 1 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Cigalike มีรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งรูปทรงและขนาดที่คล้ายกับบุหรี่ปกติทั่วไป แต่จะมีส่วนที่ทำให้เกิดไอและความร้อนเพิ่มเข้ามา
  2. บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบที่ 2 หรือที่รู้จักกันในชื่อ eGos มีลักษณะคล้ายบุหรี่ปกติทั่วไปเช่นกัน แต่มีขนาดใหญ่กว่า หรือมีรูปทรงที่แตกต่างกันออกไป และมีตัวถังที่สามารถถอดออก และเติม E-Liquid หรือ E-Juice ที่มีระดับนิโคติน หรือรสและกลิ่นต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
  3. บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบที่ 3 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Mods มีลักษณะคล้ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบ eGos แต่มีขนาดใหญ่กว่า และสามารถปรับแรงดันไฟฟ้า ขนาดของตัวที่ทำให้เกิดไอและความร้อน รวมถึงขนาดและปริมาณของ E-Liquid หรือ E-Juice ได้ตามความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน

ความนิยมและความเชื่อของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เพราะมีหลากหลายรูปแบบ พกพาสะดวก มีกลิ่นและรสหลากหลาย แต่การได้รับสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองของวัยรุ่น นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปอดและระบบทางเดินหายใจอีกด้วย

คนอีกกลุ่มที่สนใจใช้บุหรี่ไฟฟ้าคือผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ และในหลายประเทศการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึงประเทศไทยด้วย หนึ่งในตัวแปรสำคัญคือปริมาณนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่ได้เช่นเดียวกันกับที่พบในบุหรี่ปกติทั่วไป 

การใช้นิโคตินเพื่อเลิกบุหรี่ หรือที่เรียกว่าการให้นิโคตินทดแทน (Nicotine Replacement Therapy) จะใช้ในกรณีที่ผู้ต้องการเลิกบุหรี่เข้ารับคำปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากมีความเสี่ยงและข้อจำกัดในการใช้ โดยอาจอยู่ในรูปของหมากฝรั่งนิโคติน แผ่นแปะนิโคติน หรือยาเม็ดนิโคติน ซึ่งควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ผลเสียต่อสุขภาพของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้ามีความแตกต่างจากการใช้บุหรี่ปกติทั่วไป เช่น ไม่มีควันจากการเผาไหม้เหมือนในบุหรี่ปกติทั่วไป จึงไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) หรือสารพิษอื่น ๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้เข้าสู่ร่างกาย และอาจมีปริมาณสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายในระดับที่ต่ำกว่าบุหรี่ปกติทั่วไป

อย่างไรก็ตาม บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ เนื่องจากมีสารเคมีหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น นิโคติน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่ทำให้เกิดอาการเสพติดการสูบบุหรี่ โลหะหนัก และสารเคมีอื่น ๆ ทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายผู้สูบและคนใกล้ชิดหลายด้าน แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีควันก็ตาม โดยโทษของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีดังนี้

  • ส่งผลเสียต่อสมอง สมาธิ ความคิด และความจำแย่ลง เกิดความผิดปกติทางอารมณ์
  • ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) 
  • ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองแตก
  • เกิดอาการไอแห้ง หายใจหอบ เกิดโรคหืด หรือทำให้อาการหอบหืดแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด 
  • เกิดโรคหลอดลมฝอยตีบตัน (Popcorn Lung/Bronchiolitis Obliterans) ซึ่งเกิดจากการหายใจเอาสารไดอะซิติล สารแต่งกลิ่นและรสในบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการไอแห้ง หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก เนื่องจากหลอดลมฝอยในปอดหนาขึ้นและตีบตัน
  • เกิดปัญหากับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย ปอดและสมองได้รับความเสียหาย
  • เป็นอันตรายต่อเด็ก เนื่องจากการกินหรือกลืนนิโคตินเหลวอาจทำให้เสียชีวิตได้

ผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ที่เริ่มทดลองสูบด้วยการใช้บุหรี่ไฟฟ้า อาจทำให้เกิดการเสพติดนิโคตินเหลว และนำไปสู่การสูบบุหรี่ปกติทั่วไปในอนาคต 

ผลเสียต่อร่างกายข้างต้นยังไม่รวมถึงการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้รับปริมาณนิโคตินเกินขนาด การผสมสารเสพติดชนิดอื่นร่วมกับนิโคตินเหลว หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นช่องทางการใช้สารเสพติดชนิดอื่นเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งอื่น ๆ ที่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือมาตรฐานการผลิต 

อันตรายอื่นที่อาจเป็นไปได้คือ นิโคตินเหลวในบรรจุภัณฑ์หากเก็บรักษาไม่ถูกต้องหรือเก็บไว้นานอาจมีเชื้อราหรือเชื้อโรคก่อตัวขึ้น ทำให้ผู้สูบได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายในขณะใช้บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้า หากเก็บอุปกรณ์ไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง สัมผัสกับโลหะ เช่น เหรียญ กุญแจ หรือเครื่องประดับ นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดประกายไฟและระเบิดได้

บุหรี่ไฟฟ้ากับกฏหมายประเทศไทย

บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ยังไม่สามารถซื้อขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายประเทศไทย มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายผ่านตลาดมืดหรือหรือทางอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ขายหรือให้บริการโดยมีค่าตอบแทน รวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ที่นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย และยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ เช่น สถานพยาบาล สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โรงเรียน สนามเด็กเล่น สถานที่ออกกําลังกาย และสถานที่สาธารณะอื่น ๆ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ปกติ ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

หลายคนเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะแม้จะไม่มีควัน แต่มีสารเคมีอื่นอีกหลายชนิดที่อันตรายต่อสุขภาพ จึงไม่ควรสูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง หากต้องการเลิกบุหรี่ ไม่ควรใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทน โดยสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับคำแนะนำในการเลิกบุรี่อย่างเหมาะสม