รำมะนาดหรือโรคปริทันต์อักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเหงือกและอวัยวะรอบฟันและทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลให้เหงือกเกิดอาการแดง บวมและเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี รำมะนาดอาจทำลายกระดูกรอบรากฟันและอาจส่งผลให้ฟันโยกหรือฟันหลุดได้
โรคปริทันต์อักเสบหรือที่เรียกกันว่ารำมะนาดเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นรำมะนาด เช่น สุขภาพช่องปากไม่ดี การสูบบุหรี่ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การมีคนในครอบครัวเคยเป็นรำมะนาดมาก่อน ร่างกายขาดวิตามินซี และป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวานหรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
อาการของรำมะนาด
แบคทีเรียหลายชนิดอาศัยอยู่ภายในช่องปาก หากไม่ดูแลรักษาความสะอาดช่องปาก อาจทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตและสะสมตัวกลายเป็นคราบจุลินทรีย์และคราบหินปูน ซึ่งส่งผลให้การทำความสะอาดฟันและเหงือกยากขึ้น แบคทีเรียที่อยู่บริเวณฟันอาจแพร่กระจายเข้าสู่เหงือกและก่อให้เกิดอาการอักเสบอย่างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเป็นโรครำมะนาด
โดยอาการของรำมะนาดมีดังนี้
- เลือดออกตามไรฟันง่ายขณะแปรงฟันหรือขณะใช้ไหมขัดฟัน
- เหงือกมีสีแดงเข้มหรือม่วงเข้ม
- เหงือกร่น บวม และอักเสบ
- ปากหรือลมหายใจมีกลิ่น
- ฟันห่างหรือมีช่องว่างลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมเกิดขึ้นระหว่างฟัน
- รู้สึกเจ็บเมื่อเคี้ยวอาหาร
- มีหนองหรือฝีเกิดขึ้นบริเวณเหงือก
- ฟันโยกหรือฟันหลุด
แนวทางการรักษารำมะนาด
เมื่อมีอาการรำมะนาดเกิดขึ้น ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา นอกจากจะนำไปสู่ปัญหาฟันโยกหรือฟันหลุดแล้ว รำมะนาดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย
การรักษารำมะนาดมักเน้นไปที่การขจัดคราบหินปูนหรือหาแบคทีเรียที่สะสมอยู่บนเหงือกและอวัยวะรอบฟัน โดยวิธีการรักษารำมะนาดอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการรำมะนาด ซึ่งวิธีการรักษารำมะนาด มีดังนี้
- การขูดหินปูน ทันตแพทย์อาจขูดคราบจุลินทรีย์และคราบหินปูนออกจากฟัน เพื่อให้ทำความสะอาดช่องปากง่ายขึ้น
- การเกลารากฟัน ทันตแพทย์อาจเกลารากฟันเพื่อกำจัดคราบหินปูนและแบคทีเรียบริเวณรากฟันที่อยู่ใต้เหงือก อีกทั้งยังช่วยให้ผิวรากฟันเรียบขึ้นและอาจป้องกันไม่ให้คราบหินปูนหรือแบคทีเรียกลับมาสะสมซ้ำ
- การกินยาปฏิชีวนะ หากการอักเสบไม่ดีขึ้น ทันตแพทย์อาจให้กินยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อบริเวณเหงือก โดยยาอาจอยู่ในรูปแบบน้ำยาบ้วนปาก ยาสำหรับทาหรือยาเม็ดสำหรับรับประทาน
- การผ่าตัด หากรำมะนาดมีอาการรุนแรง ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดศัลยกรรมเหงือก (Periodontal surgery) เพื่อกำจัดแบคทีเรียที่สะสมลึกอยู่ใต้เหงือก ช่วยให้การทำความสะอาดช่องปากง่ายยิ่งขึ้นและลดโอกาสการเกิดโรคเกี่ยวกับเหงือกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการรักษารำมะนาดควรรักษาความสะอาดภายในช่องปาก ซึ่งอาจทำได้โดยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้งและใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งเพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์หรือเศษอาหารที่ติดตามฟันและงดการสูบบุหรี่
นอกจากรักษาความสะอาดภายในช่องปากแล้ว ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพช่องปากทุก ๆ 6 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดรำมะนาดและอาจช่วยป้องกันไม่ให้รำมะนาดกลับมาเป็นซ้ำได้ในอนาคต