ฟันเหยิน (Overjet)

ความหมาย ฟันเหยิน (Overjet)

ฟันเหยิน (Overjet) คือภาวะที่ฟันหน้าด้านบนยื่นออกจากปากหรือครอบปิดฟันหน้าด้านล่าง ซึ่งมักไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากไม่มีอาการมากจนเกินไป ฟันเหยินอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและกระโหลกศีรษะ รวมทั้งพฤติกรรมที่ส่งผลต่อรูปฟัน เช่น การดูดนิ้วและการใช้ลิ้นดันฟัน

คนที่มีอาการฟันเหยินเพียงเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ แต่อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพและทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ หากต้องการให้ฟันเรียงตัวสวยงาม หรือคนที่มีฟันเหยินรุนแรงควรไปปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการจัดฟัน

ฟันเหยิน

อาการฟันเหยิน

อาการฟันเหยินขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ซึ่งอาจสังเกตได้จากรูปหน้าที่ผิดปกติ เช่น หน้าสั้น หน้ากว้าง หน้าอูม และมีร่องใต้คาง รวมทั้งอาจเห็นเหงือกขณะยิ้มหรือพูด พูดไม่ชัดเจน กัดหรือเคี้ยวอาหารลำบาก ส่วนลักษณะที่ปรากฏในช่องปาก ได้แก่ ฟันบนสบคร่อมฟันล่าง ส่วนโค้งบริเวณเพดานปากตื้น มีร่องที่เกิดจากฟันหน้าล่างสบกับเพดานปาก และฟันหน้าล่างซ้อนเก

สาเหตุของฟันเหยิน

ฟันเหยินเป็นภาวะสบฟันผิดปกติที่อาจเกิดจากสาเหตุเดียวหรือหลายสาเหตุร่วมกัน ดังนี้

  • พันธุกรรม ฟันเหยินเป็นลักษณะหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้
  • ความผิดปกติของกระดูกใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกเบ้าฟัน กระดูกขากรรไกร และฐานกะโหลกส่วนหลัง
  • ความผิดปกติของฟัน เช่น ฟันหน้าขึ้นเบียดกัน การสูญเสียฟันหน้า รูปร่างฟันผิดปกติ และเหงือกอักเสบ ซึ่งทำให้ฟันส่วนหลังเกิดการเคลื่อนตัวเบียดฟันส่วนหน้าจนยื่นออกมา
  • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้าที่ใช้บดเคี้ยวอาหาร ส่งผลให้กระดูกขากรรไกรล่างถูกดึงรั้งเข้าด้านใน กระดูกขากรรไกรบนจึงคร่อมกระดูกขากรรไกรล่าง
  • พฤติกรรมที่ทำจนเป็นนิสัย โดยเฉพาะพฤติกรรมในวัยเด็ก เช่น การดูดนิ้ว การดูดริมฝีปาก และการใช้ลิ้นดุนฟัน

การวินิจฉัยฟันเหยิน

ทันตแพทย์มักวินิจฉัยฟันเหยินจากการตรวจดูการสบฟันของผู้ป่วย และอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์ช่องปาก การพิมพ์ฟัน และการเอกซเรย์กะโหลกศีรษะด้านข้าง ซึ่งช่วยให้ระบุได้ว่าภาวะนี้เกิดจากความผิดปกติของฟันหรือความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

การรักษาฟันเหยิน

ภาวะฟันเหยินเพียงเล็กน้อยมักไม่จำเป็นต้องรักษา แต่รายที่มีอาการรุนแรงควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการจัดฟัน ในเด็กที่ฟันยังมีการเจริญเติบโตมักรักษาด้วยการใช้เครื่องมือจัดฟัน เพื่อดึงฟันส่วนหน้าให้ต่ำลงร่วมกับถอนฟันส่วนหลังออก อย่างไรก็ตาม หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ควรรอให้เด็กโตขึ้นก่อน

สำหรับผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นที่ยังมีการเจริญเติบโตได้อีกเพียงเล็กน้อย ทันตแพทย์มักรักษาด้วยการจัดฟันหน้า ซึ่งอาจต้องมีการผ่าตัดกระดูกขากรรไกรร่วมด้วย โดยมีรายละเอียดการรักษาฟันเหยิน ดังนี้

การใช้เครื่องมือจัดฟัน 

การใช้เครื่องมือจัดฟันจะช่วยแก้ปัญหาฟันเหยิน การเรียงตัวของฟัน และการสบฟัน หลัก ๆ แล้วสามารถแบ่งเครื่องมือจัดฟันได้เป็น 2 ประเภท คือเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น และเครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ แต่ละประเภทจะมีเครื่องมือให้เลือกตามปัญหาของฟันและความต้องการส่วนบุคคล เช่น

  • การจัดฟันแบบโลหะ 

การจัดฟันแบบนี้เป็นมาตรฐานที่ได้รับความนิยม ทันตแพทย์จะติดเครื่องมือแบบโลหะไว้ที่ผิวด้านหน้าของฟัน และใส่ลวดไว้ในร่องแบร็คเก็ต (Brackets) ที่ติดอยู่บนผิวฟันแต่ละซี่ 

ในช่วงแรกที่ใส่เครื่องมืออาจรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองในปาก และเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ติดกับตัวฟัน ทำให้ไม่สามารถถอดออกขณะรับประทานอาหารได้ และต้องระวังหากรับประทานอาหารที่แข็งหรือเหนียว เพราะอาจทำให้เหล็กจัดฟันหลุดได้

  • การจัดฟันแบบใส

การจัดฟันแบบใสเป็นการจัดฟันอีกรูปแบบที่ไม่ต้องติดเครื่องมือใด ๆ มักใช้เวลารักษาสั้นกว่า และไม่จำเป็นต้องมาพบทันตแพทย์ถี่ ตัวเครื่องมือทำจากพลาสติกมีความบางและใส ออกแบบเฉพาะบุคคล โดยสวมครอบฟันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง 

เวลาสวมใส่แทบจะไม่สังเกตเห็นว่ากำลังจัดฟัน ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บขณะใส่ และสามารถถอดเครื่องมือออกขณะรับประทานอาหาร จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีเศษอาหารติดหรือเครื่องมือหลุดขณะรับประทานอาหาร และทำความสะอาดได้ง่าย 

คนที่มีปัญหาฟันเหยินสามารถปรึกษาทันตแพทย์ถึงการเลือกวิธีการจัดฟันที่เหมาะสม โดยทันตแพทย์จะช่วยวางแผนการรักษาตามปัญหาของแต่ละคน เช่น เคลื่อนย้ายฟัน ปรับกล้ามเนื้อ และขากรรไกรให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

การผ่าตัด 

ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดดึงกระดูกขากรรไกรบนเข้าหรือดึงกระดูกขากรรไกรล่างออก ซึ่งมักใช้รักษาฟันเหยินที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โดยเฉพาะผู้ที่กระดูกขากรรไกรบนยื่นออกมามากเกินไป และผู้ที่มีกระดูกขากรรไกรล่างส่วนท้ายยาว เป็นเหลี่ยม หรือมีระยะห่างระหว่างจมูกกับคางน้อยกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือจัดฟันและการผ่าตัดมักมีราคาสูง และมีประโยชน์และข้อควรพิจารณาต่างกันไป จึงต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย ประโยชน์ และแนวทางในการรักษาให้ดีก่อนตัดสินใจก่อนตัดสินใจรักษาฟันเหยินด้วยวิธีใดก็ตาม 

นอกจากนี้ ควรเลือกรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมที่ได้มาตรฐาน และมีทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน ซึ่งจะช่วยแนะนำหรือให้คำปรึกษาในการดูแลรักษาฟันได้ทั้งก่อนและหลังการทำฟัน

ภาวะแทรกซ้อนของฟันเหยิน

ฟันเหยินอาจทำให้อ้าปากลำบาก เหงือกอักเสบ และข้อต่อขากรรไกรผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดและมีเสียงดังขณะอ้าปากหรือหุบปาก ฟันหน้าล่างสบเข้าเพดานปาก ทำให้มีอาการระคายเคืองและเจ็บปวด ฟันสึกจากการบดหรือการขบเน้นฟัน และปวดศีรษะ เป็นต้น

การป้องกันฟันเหยิน

ฟันเหยินเป็นภาวะการสบฟันผิดปกติซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม จึงไม่มีวิธีการป้องกันที่แน่ชัด แต่อาจหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้โครงสร้างเหงือกและฟันผิดปกติ เช่น ไม่ดูดนิ้ว ไม่ดูดริมฝีปาก และไม่ใช้ลิ้นดุนฟัน หรือดูแลไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมเหล่านี้ รวมทั้งเข้ารับการรักษาฟันเหยินตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็อาจช่วยลดระดับความรุนแรงของอาการ และทำให้การรักษาได้ผลเป็นที่น่าพอใจด้วย