จัดฟันแบบใส ทางเลือกใหม่สู่รอยยิ้มที่มั่นใจ

การจัดฟันแบบใสเป็นการใช้แม่พิมพ์พลาสติกแบบใสครอบฟัน เพื่อให้ฟันเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ต้องการทีละน้อย ซึ่งเป็นเทคนิคการจัดฟันที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน เนื่องจากสังเกตเห็นเครื่องมือจัดฟันได้ยากจึงช่วยให้พูดหรือยิ้มได้อย่างมั่นใจมากขึ้นระหว่างจัดฟัน ทั้งยังถอดออกได้เมื่อต้องการรับประทานอาหาร ทว่าผู้ที่จัดฟันจำเป็นต้องมีวินัยสูง เพราะควรใส่เครื่องมืออย่างน้อย 20-22 ชั่วโมง/วัน

จัดฟันแบบใส

ข้อแตกต่างระหว่างเครื่องมือจัดฟันแบบใสกับเครื่องมือจัดฟันโลหะ

เครื่องมือจัดฟันแบบโลหะเป็นการจัดฟันที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันมากที่สุด โดยทันตแพทย์จะใช้กาวแบบพิเศษเพื่อติดแบร็คเก็ตกับฟันแต่ละซี่ แล้วใส่ลวดโลหะและใช้ห่วงยางเล็ก ๆ ยึดลวดกับแบล็คเก็ตแต่ละอันไว้ด้วยกัน จากนั้นจึงดึงลวดให้รัดแน่นขึ้นเพื่อเคลื่อนย้ายฟันทีละน้อยจนฟันเรียงตัวเป็นระเบียบ และผู้ที่จัดฟันอาจต้องไปพบทันตแพทย์เดือนละครั้งตลอดระยะเวลาที่จัดฟัน เพื่อเปลี่ยนขนาดของเส้นลวดหรือดึงลวดให้แน่นขึ้น

ส่วนเครื่องมือจัดฟันแบบใสมีลักษณะเป็นแม่พิมพ์พลาสติกใสสำหรับครอบฟัน 2 ชิ้น แต่ละชิ้นมีรูปร่างคล้ายแผงฟันด้านบนและด้านล่างซึ่งทำขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อให้เหมาะกับผู้จัดฟันแต่ละราย ในขั้นแรกทันตแพทย์อาจกรอฟันเพื่อสร้างช่องว่างระหว่างฟันแต่ละซี่ และให้ผู้ที่จัดฟันใส่แม่พิมพ์เพื่อเคลื่อนย้ายฟันไปในทิศทางที่ต้องการ ผู้ที่จัดฟันด้วยเครื่องมือแบบใสจำเป็นต้องเข้าพบทันตแพทย์เพื่อเปลี่ยนแม่พิมพ์ชุดใหม่ทุก 2-3 สัปดาห์หรือ 1 เดือนเพื่อขยับฟันเข้าไปทีละน้อย ซึ่งกระบวนการจัดฟันแบบใสอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 10-24 เดือน ฟันจึงเข้ารูปตามที่กำหนดไว้ โดยเครื่องมือจัดฟันชนิดนี้สามารถถอดออกได้ จึงควรถอดเครื่องมือออกก่อนรับประทานอาหาร และก่อนดื่มเครื่องดื่มที่อาจทิ้งคราบไว้บนแม่พิมพ์อย่างกาแฟหรือชา รวมถึงควรถอดออกมาทำความสะอาดเป็นประจำด้วย ทั้งนี้ ผู้จัดฟันควรใส่แม่พิมพ์ไว้ 20-22 ชั่วโมง/วันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการจัดฟัน

ผู้ที่เหมาะกับการจัดฟันแบบใส

หากมีปัญหาในการเคี้ยวเพราะฟันสบกันไม่พอดี หรือต้องการจัดฟันให้เรียงสวยเพื่อเสริมความมั่นใจ ควรไปปรึกษาทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญในด้านการจัดฟันโดยเฉพาะ เพื่อให้แพทย์พิจารณาและแนะนำวิธีการจัดฟันที่เหมาะสมกับโครงสร้างภายในช่องปาก โดยผู้ใหญ่และช่วงวัยเจริญพันธุ์เป็นช่วงอายุที่เหมาะแก่การจัดฟันมากที่สุด เนื่องจากร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ต่างจากเด็กที่ยังอยู่ในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโต ซึ่งมีโครงสร้างภายในช่องปากที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างจัดฟันได้ และส่งผลให้ทันตแพทย์วางแผนการรักษาได้ยากขึ้น

ส่วนการจัดฟันแบบใส แม้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดฟัน แต่ก็เป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาฟันเกหรือฟันห่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนผู้ที่มีฟันเก ฟันสบลึก ฟันสบกันแบบไขว้ หรือขากรรไกรล่างยื่นชนิดรุนแรง อาจต้องใช้วิธีการรักษารูปแบบอื่น ๆ

ข้อดีและข้อเสียของการจัดฟันแบบใส

เครื่องมือจัดฟันแบบใสมีลักษณะเป็นพลาสติกโปร่งใส เมื่อครอบลงไปบนฟันจึงสังเกตเห็นได้ยาก ซึ่งต่างกับเครื่องมือจัดฟันแบบโลหะที่มองเห็นเป็นสีเงินได้อย่างชัดเจน จึงอาจช่วยให้ผู้ที่จัดฟันแบบใสพูดหรือยิ้มได้อย่างมั่นใจมากขึ้น และผู้ที่จัดฟันยังสามารถถอดเครื่องมือชนิดนี้ออกได้เมื่อต้องการรับประทานอาหารหรือแปรงฟัน ซึ่งช่วยให้ผู้จัดฟันรักษาสุขภาพช่องปากของตัวเองได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจัดฟันแบบใสมักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจัดฟันแบบโลหะ อีกทั้งแม่พิมพ์ยังเป็นวัสดุที่ทำจากพลาสติกจึงแตกหักได้ง่ายกว่า นอกจากนั้น เครื่องมือจัดฟันชนิดนี้ยังสร้างแรงกดที่ฟันน้อยกว่าเครื่องมือจัดฟันแบบโลหะ จึงอาจต้องใช้เวลาในการจัดฟันนานกว่าอีกด้วย

ผลข้างเคียงของการจัดฟันแบบใส

โดยทั่วไปการจัดฟันแบบใสนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่การกรอฟันก่อนใส่เครื่องมือและการเคลื่อนตัวของฟันขณะจัดฟันอาจส่งผลกระทบบางประการ ดังนี้

  • การกรอฟันทำให้เกิดช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างฟันแต่ละซี่ จึงอาจทำให้เศษอาหารติดค้างได้ง่ายและเกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย หากแปรงฟันไม่สะอาดหรือไม่ใช้ไหมขัดฟันอาจเสี่ยงเกิดฟันผุได้
  • การเคลื่อนย้ายฟันไปในทิศทางที่ต้องการทำให้กระดูกในบริเวณที่ฟันเคลื่อนตัวค่อย ๆ สลายไปทีละน้อยและเกิดกระดูกใหม่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งกระบวนการข้างต้นอาจทำให้รากฟันสั้นลงอย่างถาวร และอาจส่งผลให้ฟันเคลื่อนได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยและรากฟันที่สั้นลงมักไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ ตามมา
  • หลังจากจัดฟันจนจบคอร์ส ผู้ที่ละเลยการใส่รีเทนเนอร์เพื่อคงสภาพฟันอาจเสี่ยงเกิดฟันล้ม ซึ่งเป็นการที่ฟันกลับไปเรียงตัวไม่เป็นระเบียบหรือผิดรูปหลังจากจัดฟันเสร็จ และอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการจัดฟันใหม่อีกครั้ง

การทำความสะอาดเครื่องมือจัดฟันแบบใส

เครื่องมือจัดฟันแบบใสครอบอยู่เหนือแผงฟันบนและล่างเกือบตลอดเวลา จึงควรถอดออกมาทำความสะอาดเป็นประจำเพื่อสุขอนามัยที่ดีของช่องปาก โดยวิธีการทำความสะอาดแม่พิมพ์ที่ถูกต้อง มีดังนี้

  • ทำความสะอาดแม่พิมพ์ทันทีที่ถอดออกมา โดยล้างแม่พิมพ์ขณะยังเปียก เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ล้างเอาสิ่งสกปรกออกได้ยากขึ้น
  • ใช้แปรงสีฟันชนิดขนนุ่มกับน้ำอุ่นที่ผสมน้ำยาล้างจานปริมาณเล็กน้อยแปรงทำความสะอาดแม่พิมพ์เบา ๆ โดยไม่ควรใช้ยาสีฟันทำความสะอาดแม่พิมพ์เพราะอาจมีฤทธิ์กัดกร่อนพลาสติกได้
  • ใช้ก้านสำลีขนาดเล็กเช็ดแม่พิมพ์บริเวณร่องที่ยากต่อการทำความสะอาดด้วยแปรงสีฟัน
  • แพทย์อาจแนะนำให้ใช้สารละลายพิเศษทำความสะอาดแม่พิมพ์โดยเฉพาะ เพื่อกำจัดคราบฝังแน่นที่ทำความสะอาดได้ยาก

ปรึกษาทันตแพทย์ก่อนแช่แม่พิมพ์กับน้ำยาบ้วนปากหรือน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม และปฏิบัติตามที่ทันตแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดเสมอ