สิ่งที่ควรรู้ก่อนผ่าตัดกราม

การตัดกรามหรือการผ่าตัดขากรรไกร เป็นกระบวนการผ่าตัดศัลยกรรมที่จะช่วยปรับลักษณะของขากรรไกรและฟันให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสวยงามของกราม ช่องฟัน และใบหน้าโดยรวมให้สมส่วนมากยิ่งขึ้นด้วย

การตัดกรามควรทำหลังจากช่วงอายุที่ร่างกายหยุดการเจริญเติบโตไปแล้ว โดยในเพศหญิงจะเป็นช่วงอายุประมาณ 13–15 ปี และในเพศชายจะเป็นช่วงอายุประมาณ 16–18 ปี นอกจากนี้ ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดกรามต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี และมีวุฒิภาวะมากเพียงพอที่จะสามารถยอมรับผลลัพธ์ของการผ่าตัด รวมถึงภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดด้วย

สิ่งที่ควรรู้ก่อนผ่าตัดกราม

ประโยชน์ของการผ่าตัดกราม

การผ่าตัดกรามอาจมีวัตถุประสงค์ในการรักษาได้หลายประการ ดังนี้

  • ช่วยให้การกัดและการเคี้ยวอาหารทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ช่วยลดการสึกหรอและความเสียหายของฟันที่ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลาหลายปี
  • ช่วยแก้ไขปัญหาฟันบนยื่นกว่าฟันล่าง ฟันล่างยื่นกว่าฟันบน หรือฟันสบกันแบบไขว้
  • ช่วยแก้ไขปัญหาการยิ้มเห็นเหงือกเนื่องจากริมฝีปากเปิดขึ้นจนเห็นเหงือกมากเกินไป หรือปัญหาการยิ้มไม่เห็นฟันเนื่องจากฟันถูกริมฝีปากบังเอาไว้
  • ช่วยแก้ไขความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับขากรรไกร
  • ช่วยแก้ไขความไม่สมดุลของใบหน้า ช่วยเพิ่มคางให้กับผู้ที่ไม่มีคาง หรือทำให้ใบหน้าสมมาตรกัน
  • ช่วยรักษาใบหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจนเสียหาย หรือแก้ไขความผิดปกติของใบหน้า
  • ช่วยรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

การเตรียมพร้อมก่อนผ่าตัดกราม

การเตรียมพร้อมก่อนผ่าตัดกรามในเบื้องต้นคือการปรึกษากับศัลยแพทย์ถึงผลลัพธ์ของการผ่าตัดกรามที่คนไข้ต้องการ โดยแพทย์จะแนะนำและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ เช่น ประโยชน์ในระยะยาว ความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจขึ้นได้ ระยะเวลาในการพักฟื้น และการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจของคนไข้ที่อาจไม่คุ้นชินกับรูปหน้าใหม่หลังการผ่าตัดด้วย

จากนั้นแพทย์จะประเมินลักษณะขากรรไกรของคนไข้เพื่อพิจารณาเทคนิคการผ่าตัดและจัดตำแหน่งของขากรรไกรที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการของคนไข้มากที่สุด 

เมื่อได้ข้อสรุปแล้วว่าควรใช้การผ่าตัดแบบใดจึงเริ่มตรวจประเมินคนไข้ เช่น ตรวจร่างกาย ถ่ายภาพใบหน้าและลักษณะของขากรรไกรก่อนผ่าตัด ตรวจประเมินกระดูกด้วยการถ่ายภาพเอกซเรย์ รวมทั้งการพิมพ์ฟันเพื่อใช้ประกอบการวางแผนผ่าตัดด้วย

นอกจากนี้ ก่อนถึงการผ่าตัดจริงแพทย์จะรักษาปัญหาฟันผุ โรคเหงือก และทำความสะอาดช่องปากให้เรียบร้อยเพื่อลดการอักเสบของเหงือกที่อาจตามมา และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด เช่น การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ รวมถึงยาหรืออาหารเสริมที่ควรหลีกเลี่ยง

กระบวนการผ่าตัดกราม

การผ่าตัดกรามส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดภายในช่องปาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นบริเวณใบหน้า โดยแพทย์จะผ่าตัดกระดูกขากรรไกรและจัดตำแหน่งให้เหมาะสมหรือสวยงามมากยิ่งขึ้น เมื่อจัดตำแหน่งเรียบร้อยแล้วจะยึดกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งใหม่ด้วยน็อตและแผ่นดามกระดูก ซึ่งน็อตที่ใช้ในการยึดกระดูกนี้จะเป็นน็อตขนาดเล็กที่สามารถผสานเข้ากับโครงสร้างของกระดูกได้เมื่อเวลาผ่านไป

ในบางกรณี แพทย์อาจใช้กระดูกจากร่างกายส่วนอื่น ๆ ของคนไข้ เช่น กระดูกซี่โครง กระดูกสะโพก หรือกระดูกขาในการผ่าตัดเพื่อช่วยเสริมขากรรไกร โดยตัวอย่างการผ่าตัดกรามมีทั้งการตัดกรามส่วนบน  การตัดกรามส่วนล่าง และการตัดกรามทั้งส่วนบนและส่วนล่างหรือที่เรียกว่าการศัลยกรรมคาง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันดังนี้

1. การตัดกรามส่วนบน

การตัดกรามส่วนบนมักใช้แก้ไขปัญหาขากรรไกรบนถอยร่นไปด้านหลัง การยิ้มแล้วเห็นฟันมากเกินหรือน้อยเกินไป รวมถึงปัญหาการสบฟันแบบไขว้ หรือการสบฟันที่มีช่องว่างระหว่างฟันหน้าด้วย โดยแพทย์จะผ่าตัดกระดูกบริเวณเหนือฟัน เพื่อให้ขากรรไกรส่วนบนทั้งหมด รวมถึงเพดานปากและฟันบนสามารถย้ายตำแหน่งและเคลื่อนมารวมกันได้

2. การตัดกรามส่วนล่าง 

การตัดกรามส่วนล่างมักใช้แก้ไขปัญหาขากรรไกรล่างถอยร่นไปด้านหลัง โดยแพทย์จะผ่าตัดบริเวณหลังฟันกรามและตามแนวยาวของกระดูกขากรรไกร เพื่อให้ขากรรไกรส่วนหน้าสามารถเคลื่อนมารวมตัวกัน และเมื่อขากรรไกรเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งใหม่เรียบร้อยแล้วก็จะยึดด้วยน็อตไว้จนกว่าแผลผ่าตัดจะหายดี

3. การศัลยกรรมคาง

การศัลยกรรมคางอาจใช้แก้ไขปัญหาในกรณีที่คนไข้มีลักษณะกรามส่วนล่างถอยร่นเข้าไปอย่างรุนแรง ส่งผลให้คางมีขนาดเล็กจนเกินไป โดยแพทย์จะตัดกระดูกคางแล้วนำไปยึดในตำแหน่งใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแพทย์อาจปรับเปลี่ยนลักษณะของขากรรไกรและปรับโครงสร้างของคางร่วมด้วย

การพักฟื้นหลังจากผ่าตัดกราม

คนไข้จำเป็นต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1–2 วันหลังจากผ่าตัดกราม และหลังจากนั้นต้องกลับไปพักฟื้นที่บ้านต่ออีกประมาณ 3–6 สัปดาห์

หลังการผ่าตัดหากพบว่าการสบกันของฟันมีลักษณะเปลี่ยนแปลง ควรไปพบศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดทันที โดยแพทย์อาจใช้ยางช่วยปรับการสบของฟันให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องจนกว่ากระบวนการรักษาตัวของกระดูกจะเรียบร้อย ดังนั้น ในช่วงแรกผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ต้องเคี้ยว เพื่อไม่ให้กระทบต่อการสบของฟัน

สำหรับผู้ที่รักษาควบคู่ไปกับการจัดฟัน ส่วนใหญ่ทันตแพทย์จะติดเครื่องมือจัดฟันให้ก่อนการผ่าตัด โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 9–18 เดือนเพื่อปรับให้ฟันเรียงตัวสวยงาม และนำเครื่องมือออกก่อนการผ่าตัด จากนั้นจึงกลับมาใส่เครื่องมือจัดฟันอีกครั้งประมาณ 4–8 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด ซึ่งการจัดฟันครั้งหลังนี้มักเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่แผลผ่าตัดจะหายสนิทพอดี

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดกราม

การผ่าตัดกรามอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ซึ่งศัลยแพทย์จะพูดคุยและทำความเข้าใจกับผู้ที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดกรามถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังต่อไปนี้

  • การเสียเลือดมาก ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดแทบทุกประเภท
  • การติดเชื้อ ซึ่งมักพบได้ไม่บ่อยในการผ่าตัดขากรรไกร
  • การคืนตัวของกระดูก ซึ่งอาจส่งผลให้ฟันกลับไปสบกันแบบผิดปกติเหมือนเดิม
  • ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร
  • การแตกหักของกระดูกบริเวณที่ถูกผ่าตัด
  • เส้นประสาทได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการชาชั่วระยะหนึ่งแล้วค่อย ๆ ดีขึ้น หรืออาจเกิดอาการชาอย่างยาวนานร่วมกับอาการปากเบี้ยวก็ได้เช่นกัน
  • ภาวะทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้าที่มักเกิดขึ้นฉับพลันหลังการผ่าตัด ซึ่งในบางกรณีอาจเกิดจากการที่คนไข้ไม่พอใจกับผลลัพธ์หรือยังไม่คุ้นชินกับรูปกรามใหม่