ฟันร้าว

ความหมาย ฟันร้าว

ฟันร้าว เป็นภาวะที่เกิดรอยร้าวขึ้นที่ฟัน โดยผู้ป่วยอาจปวดฟันในขณะที่เคี้ยวอาหารหรือรับประทานอาหารที่เย็นจัดหรือร้อนจัด ซึ่งฟันร้าวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุ การรับประทานอาหารที่แข็ง การนอนกัดฟัน หรืออาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้สูญเสียฟันไปได้ ซึ่งโดยทั่วไปการรักษาฟันร้าวจะขึ้นอยู่กับลักษณะของรอยร้าวและบริเวณที่มีฟันร้าว

อาการฟันร้าว

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบสัญญาณบ่งชี้ว่ามีฟันร้าว แต่เมื่อมีอาการเกิดขึ้น อาจรู้สึกปวดฟันแบบเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อเคี้ยวหรือกัดอาหาร ปวดฟันเป็นพัก ๆ แต่ปวดอย่างต่อเนื่อง รู้สึกเสียวฟันเมื่อกินอาหารที่ร้อน เย็น หรือหวาน และอาจเหงือกบวมในบริเวณรอบ ๆ ฟันซี่ที่มีรอยร้าว

ทั้งนี้ ฟันร้าวอาจแบ่งออกได้หลายประเภทตามลักษณะอาการของฟันซี่ที่ร้าว ดังนี้

  • ผิวเคลือบฟันร้าว มักเป็นรอยร้าวที่เล็ก ตื้น และส่งผลต่อผิวเคลือบฟันด้านนอก ซึ่งฟันร้าวลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ทั่วไปในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการปวดและไม่จำเป็นต้องรักษา
  • ปุ่มฟันแตก เกิดขึ้นเมื่อฟันที่ใช้บดเคี้ยวแตกออก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณที่อุดฟัน แต่มักไม่ส่งผลต่อประสาทฟันและไม่ทำให้เกิดอาการปวดมากนัก โดยอาจรักษาได้ด้วยการอุดฟันหรือการครอบฟัน
  • ฟันร้าวถึงรากฟัน เกิดขึ้นเมื่อฟันที่ใช้บดเคี้ยวเกิดรอยร้าวเป็นแนวดิ่งลงไปถึงรากฟัน แต่ไม่ทำให้ฟันแยกออกจากกัน โดยรอยร้าวอาจขยายออกไปอย่างช้า ๆ หากรอยร้าวยังขยายไปไม่ถึงประสาทฟัน ผู้ป่วยอาจรักษาฟันซี่ดังกล่าวได้ด้วยการรักษารากฟันรวมถึงการครอบฟัน เพื่อป้องกันการขยายตัวของรอยร้าว แต่หากรอยร้าวกระจายไปยังรอยต่อของเหงือกและฟันแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องถอนฟันซี่นั้นออกไป
  • ฟันแยก เป็นรอยร้าวที่เกิดบนผิวฟันลงไปถึงใต้รอยต่อของเหงือก มักเกิดจากภาวะฟันร้าวที่สะสมมานานและอาจทำให้ฟันซี่นั้นแยกออกจากกัน ซึ่งผู้ป่วยอาจเข้ารับการรักษาเพื่อรักษาฟันบางส่วนเอาไว้
  • รากฟันแตกในแนวดิ่ง เป็นรอยร้าวที่ขยายจากรากฟันขึ้นมายังฟันที่ใช้บดเคี้ยว โดยรอยร้าวลักษณะนี้มักแสดงอาการเพียงเล็กน้อยจึงทำให้สังเกตได้ยาก แต่หากฟันซี่นั้นเกิดการติดเชื้ออาจช่วยให้สังเกตอาการได้ชัดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องถอนฟันออกไป แต่หากยังอยู่ในขั้นที่สามารถรักษาฟันเอาไว้ได้ แพทย์อาจผ่าตัดรากฟันเพื่อรักษาในกรณีนี้

1885 ฟันร้าว rs

สาเหตุของฟันร้าว

สาเหตุที่อาจทำให้เกิดฟันร้าว ได้แก่

  • การใช้ฟันฉีกอาหารหรือเคี้ยวอาหารที่แข็ง เช่น น้ำแข็ง ถั่ว ลูกอม ข้าวโพดที่ยังไม่คั่ว เป็นต้น
  • อุณหภูมิภายในปากเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ซึ่งอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่ร้อนจัดตามด้วยอาหารที่เย็นจัดเพื่อดับความร้อนในปาก
  • การกัดฟัน
  • มีรอยอุดฟันขนาดใหญ่ จนทำให้ความเเข็งแรงของฟันลดลง
  • อุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา การหกล้ม การชกต่อย เป็นต้น
  • อายุ โดยภาวะฟันร้าวมักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

การวินิจฉัยฟันร้าว

แพทย์อาจตรวจประเมินภาวะฟันร้าวตามวิธีดังต่อไปนี้

  • สอบถามข้อมูลเบื้องต้น โดยแพทย์อาจสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมที่อาจกระทบต่อการใช้ฟัน เช่น เคี้ยวอาหารที่แข็งบ่อย ๆ หรือมักกัดฟันหรือไม่ เป็นต้น
  • ให้ลองกัดสิ่งของ ผู้ป่วยที่มีฟันร้าวอาจรู้สึกปวดฟันขณะที่กัดแล้วปล่อยสิ่งของนั้น ๆ
  • ใช้เครื่องมือตรวจฟัน แพทย์อาจใช้เครื่องมือตรวจผิวฟัน เพื่อดูว่าเครื่องมือนั้นสะดุดขอบรอยร้าวของฟันหรือไม่
  • ย้อมฟัน เพื่อให้เห็นรอยร้าวชัดเจนขึ้น
  • ใช้ Probe ตรวจสอบ ทันตแพทย์อาจใช้เครื่องมือทันตกรรมชนิดนี้เพื่อตรวจหาอาการบวมที่เหงือก โดยมีประโยชน์ในการช่วยหารอยแตกของฟันในแนวดิ่งที่อาจทำให้เหงือกระคายเคืองด้วย
  • เอกซเรย์ฟัน วิธีนี้อาจไม่ได้ช่วยหารอยร้าว แต่อาจบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพโพรงประสาทฟันที่อาจเกิดขึ้นจากรอยร้าวที่ฟัน

การรักษาฟันร้าว

วิธีรักษาฟันร้าวอาจขึ้นอยู่กับลักษณะรอยร้าวที่ฟัน บริเวณที่มีฟันร้าว หรือขนาดของฟันซี่ที่ร้าว หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็ว อาจทำให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติ และไม่มีอาการปวดจากการเคี้ยวหรือกลืนอาหารเป็นเวลาหลายปี ซึ่งการรักษาอาจแบ่งเป็นวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • การตรวจติดตามอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจมีรอยร้าวที่เล็กมากบริเวณเคลือบฟัน ซึ่งหากอาการเหล่านี้ไม่ส่งผลต่อลักษณะฟันหรือก่อให้เกิดความเจ็บปวด แพทย์อาจเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยเป็นระยะ โดยไม่ต้องใช้ยารักษา ทำหัตถกรรม หรือให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดใด ๆ
  • การอุดฟัน เป็นการใช้วัสดุอุดฟันอุดที่รอยแตกเพื่อซ่อมแซมฟันบริเวณที่มีรอยร้าว
  • การครอบฟัน แพทย์อาจนัดให้ผู้ป่วยมาพบหลายครั้งเพื่อรับการครอบฟัน โดยในช่วงแรกแพทย์อาจให้ใส่ที่ครอบฟันชั่วคราวก่อน หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นที่ครอบฟันถาวร ซึ่งที่ครอบฟันอาจใช้งานได้ตลอดชีวิตหากได้รับการดูแลรักษาอย่างดี
  • การรักษารากฟัน หากรอยร้าวขยายไปถึงประสาทฟัน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรักษารากฟันโดยนำโพรงประสาทฟันที่ถูกทำลายออกไปและซ่อมแซมความแข็งแรงของฟัน ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อที่โพรงประสาทฟันได้
  • การถอนฟัน หากโครงสร้างฟัน เส้นประสาทฟัน หรือรากฟันที่อยู่ข้างใต้เกิดความเสียหายรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยถอนฟันออกไป

ทั้งนี้ หากบริเวณฟันซี่ที่มีรอยร้าวเกิดการติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจมีไข้ ปวดฟันเวลาเคี้ยวอาหาร เหงือกบวม ปวดบวมที่ต่อมน้ำเหลือง หรือลมหายใจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ซึ่งในกรณีนี้ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ และหากเชื้อลุกลามจนเกิดหนองในช่องปาก แพทย์อาจผ่าตัดระบายหนองออก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อนของฟันร้าว

หากมีรอยร้าวเป็นวงกว้าง รากฟันอาจได้รับผลกระทบจนทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งเชื้ออาจกระจายไปสู่กระดูกและเหงือกที่อยู่รอบ ๆ ฟันซี่ที่ร้าว ดังนั้น หากผู้ป่วยพบสัญญาณหรืออาการที่สงสัยว่าอาจเกิดจากฟันร้าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาโดยเร็วที่สุด

การป้องกันฟันร้าว

แม้การเกิดรอยร้าวที่ฟันอาจป้องกันไม่ได้โดยสมบูรณ์ แต่วิธีดังต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงได้

  • รักษาสุขอนามัยช่องปากโดยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง และเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเหงือกและฟันทุก ๆ 6 เดือน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็ง
  • ไม่ขบฟันหรือกัดฟัน หากผู้ป่วยมีอาการกัดฟันขณะนอนหลับ ควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมจากแพทย์ และขอรับรีเทนเนอร์หรือฟันยางมาสวมใส่เพื่อป้องกันฟันขณะนอนหลับ
  • ใส่ฟันยางหรือหน้ากากป้องกันเมื่อต้องเล่นกีฬาที่มีการปะทะ

นอกจากนี้ การเข้ารับการรักษาฟันที่ร้าวตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากอาจช่วยป้องกันการสูญเสียฟันได้ ดังนั้น หากสงสัยว่ามีฟันร้าว เบื้องต้นควรทำความสะอาดช่องปากโดยบ้วนปากด้วยน้ำอุ่น ประคบเย็นบริเวณแก้มด้านนอกเพื่อป้องกันอาการบวม หรืออาจรับประทานยาไอบูโพรเฟนเพื่อลดอาการปวดบวม หลังจากนั้นให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา