พลาสเตอร์ ปิดแผลอย่างถูกวิธี

พลาสเตอร์ คือ แผ่นปิดแผลที่ทำจากผ้าก๊อซที่มีแถบกาวอยู่ด้านหลัง ช่วยดูดซับของเหลวจากบาดแผลทำให้แผลแห้งและสมานตัวเร็วขึ้น ช่วยกดแผลทำให้อาการปวดลดลง และช่วยป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อตามมาได้

เนื่องจากพลาสเตอร์มีหลายประเภทที่แตกต่างกันทั้งรูปร่างและขนาด การเลือกใช้พลาสเตอร์ให้เหมาะสมกับชนิดของบาดแผล และการศึกษาขั้นตอนการปิดพลาสเตอร์อย่างถูกต้องจะช่วยดูแลให้แผลหายเร็วขึ้นได้

พลาสเตอร์

ขั้นตอนการใช้พลาสเตอร์ปิดแผล

เมื่อเกิดแผล ควรล้างทำความสะอาดแผลและปิดพลาสเตอร์อย่างถูกวิธี เพื่อช่วยลดความรุนแรงของบาดแผล และช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ ตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด แล้วจึงสวมถุงมือก่อนใช้แหนบคีบเศษดินหรือสิ่งสกปรกออกจากบาดแผล
  • ล้างแผลให้สะอาดด้วยการเปิดน้ำให้ไหลผ่านบริเวณบาดแผล เพื่อขจัดสิ่งสกปรก ฝุ่นผง และเชื้อแบคทีเรีย
  • หากแผลสกปรกมาก อาจจำเป็นต้องใช้ผ้าสะอาดถูแผลเบา ๆ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดและมีเลือดออกขณะทำความสะอาดแผลได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการขัดล้างแผลแรงเกินไป เพราะอาจทำให้แผลเปิดและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
  • ใช้ผ้าสะอาดซับแผลให้แห้ง แล้วใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ทาลงบริเวณที่เป็นแผลบาง ๆ ก่อนปิดแผลด้วยพลาสเตอร์

พลาสเตอร์กับชนิดของแผล

สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประเทศสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Family Physicians) ได้ให้คำแนะนำในการใช้พลาสเตอร์ในแต่ละประเภท ดังนี้

  • พลาสเตอร์แบบแถบกาวหรือผ้าก๊อซ ควรใช้พลาสเตอร์ชนิดนี้กับแผลบนฝ่ามือ หัวเข่า และบริเวณอื่นที่เสียดสีกับเสื้อผ้าหรือสัมผัสกับสิ่งสกปรกได้ง่าย หากแผลมีขนาดเล็กและไม่ได้อยู่ในบริเวณดังกล่าว อาจไม่จำเป็นต้องปิดพลาสเตอร์ เนื่องจากแผลจะแห้งเร็วและหายได้เองแม้ไม่ใช้พลาสเตอร์ปิดแผลไว้
  • พลาสเตอร์ชนิดพิเศษแบบปิดแน่นหรือกึ่งปิดแน่น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้พลาสเตอร์ชนิดนี้กับแผลที่มีขนาดใหญ่ เพื่อคงความชุ่มชื้นและลดการเกิดรอยแผลเป็น

โดยพลาสเตอร์แต่ละชนิดเหมาะกับการใช้งานแตกต่างกันไปตามลักษณะ ประเภท และบริเวณที่เกิดแผล ทั้งนี้ ผู้ใช้ควรเลือกพลาสเตอร์ให้เหมาะสม โดยพิจารณาจากบาดแผลที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • แผลเปิด บาดแผลที่ฉีกขาดเล็กน้อยสามารถใช้พลาสเตอร์แบบผีเสื้อปิดตามแนวขวาง แต่หากเป็นแผลยาว ลึก หรือมีเลือดออกมาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาและเย็บปิดบาดแผลอย่างเหมาะสม
  • แผลบนใบหน้า หากแผลมีขนาดเล็กอาจไม่จำเป็นต้องปิดพลาสเตอร์ หรืออาจใช้พลาสเตอร์ปิดแผลแบบแถบกาว แต่หากแผลมีขนาดใหญ่และลึกมาก อาจจำเป็นต้องเย็บแผลเพื่อห้ามเลือด ลดการติดเชื้อ และช่วยให้แผลสมานตัวเร็วขึ้น
  • แผลจากของมีคมบาดมือหรือเท้า แผลชนิดนี้มีโอกาสสัมผัสสิ่งสกปรกมากกว่าแผลบริเวณอื่น ๆ และอาจเสียดสีกับถุงเท้าหรือรองเท้าจนเกิดการระคายเคืองได้ ดังนั้น ควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์และเปลี่ยนพลาสเตอร์ทุกครั้งที่เริ่มเปียกหรือสกปรก แต่หากแผลลึกมาก ควรไปพบแพทย์ เพราะแผลอาจเสี่ยงติดเชื้อได้
  • แผลบนข้อนิ้ว นิ้วมือ และส้นเท้า การปิดแผลบริเวณเหล่านี้อาจทำให้พลาสเตอร์หลุดออกได้ง่าย เนื่องจากเป็นอวัยวะส่วนที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ควรปิดแผลไว้เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่าง ๆ โดยควรใช้พลาสเตอร์รูปทรงนาฬิกาทราย หรือตัวเอช (H) ซึ่งเหมาะกับการปิดแผลตามข้อต่อของร่างกายและแผลบริเวณปลายนิ้วมือ และช่วยป้องกันการเกิดรอยย่นซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้พลาสเตอร์หลุดออกได้ง่าย
  • เข่าหรือข้อศอกถลอก อาจปิดรอยแผลถลอกบริเวณหัวเข่าหรือข้อศอกด้วยพลาสเตอร์ขนาดใหญ่ หรือพลาสเตอร์ปิดแผลแบบแถบกาวที่มี 4 แฉก เนื่องจากพลาสเตอร์ชนิดนี้ติดแน่นและป้องกันการหลุดออกได้ดี นอกจากนี้ อาจใช้พลาสเตอร์แบบเหลว ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยหยุดเลือด ปกป้องแผลจากน้ำและสิ่งสกปรกเพื่อลดการติดเชื้อ
  • แผลถลอกขนาดใหญ่ การทายาฆ่าเชื้อหรือใช้พลาสเตอร์ที่สามารถเพิ่มความชุ่มชื้นจะช่วยให้แผลลักษณะนี้หายเร็วขึ้น หากแผลไม่ตกสะเก็ดและยังเป็นแผลสดอยู่ ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ปิดพลาสเตอร์อย่างสม่ำเสมอ และสังเกตว่าแผลมีการติดเชื้อหรือไม่
  • แผลพุพอง แผลที่มีตุ่มน้ำอาจไม่จำเป็นต้องรักษาหรือปิดพลาสเตอร์ เนื่องจากแผลชนิดนี้สามารถหายเองได้ หากมีแผลพุพองบริเวณที่เกิดการเสียดสีได้ง่าย เช่น ฝ่าเท้า อาจใช้ผ้าก๊อซเนื้อนุ่มปิดแผลเพื่อป้องกันการกดทับ หากตุ่มน้ำแตกและของเหลวไหลออกจากแผลแล้ว จึงค่อยใช้พลาสเตอร์ปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • แผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก หากอาการไม่รุนแรงมากสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง โดยควรล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเย็นแล้วใช้ยาฆ่าเชื้อทาบาง ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ห้ามใช้น้ำมันหรือแป้งทาลงบนแผลเด็ดขาด จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าก๊อซแล้วใช้เทปกาวปิดทับเพื่อยึดไม่ให้ผ้าก๊อซที่ปิดไว้หลุด แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้พลาสเตอร์ปิดแผลชนิดนี้เพราะมีเนื้อกาวเหนียวที่อาจสัมผัสกับบาดแผล   

เปลี่ยนพลาสเตอร์อย่างไร 

พลาสเตอร์ช่วยป้องกันแผลจากการติดเชื้อ และช่วยดูดซับของเหลวจากบาดแผล ดังนั้น เมื่อพลาสเตอร์สกปรกหรือโดนน้ำ ควรรีบเปลี่ยนพลาสเตอร์ทันที โดยให้ลอกพลาสเตอร์ออกอย่างช้า ๆ แล้วปิดพลาสเตอร์ใหม่ลงบนแผล อาจใช้เทปกาวปิดลงบนพลาสเตอร์หากต้องการให้พลาสเตอร์ติดทนขึ้น และควรเปลี่ยนพลาสเตอร์ทุกวัน เพื่อรักษาแผลให้สะอาด ลดโอกาสการติดเชื้อ และช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น

เมื่อไรควรไปพบแพทย์ 

เมื่อมีบาดแผลที่กำลังฟื้นฟู ควรระมัดระวังไม่ให้พลาสเตอร์ปิดแผลเปียกน้ำหรือสกปรก รวมถึงสังเกตบาดแผลและเฝ้าระวังการติดเชื้ออยู่เสมอ ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการที่เป็นสัญญาณการติดเชื้อดังต่อไปนี้

  • ปวดบริเวณแผล
  • แผลบวมแดง และมีหนองไหล
  • มีเลือดออกมาจากแผลมากผิดปกติ
  • แผลมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือลึกขึ้น
  • มีรอยแดงเป็นเส้นบนแผลและรอบ ๆ แผล
  • มีไข้

นอกจากนี้ หากพบอาการแพ้กาวพลาสเตอร์ เช่น คันและรู้สึกแสบร้อนบริเวณแผล ควรเปลี่ยนมาใช้ผ้าก๊อซปิดแผลแทนการใช้พลาสเตอร์