5 สมุนไพรแก้กรดไหลย้อน ตัวช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น

คนที่เป็นกรดไหลย้อนมักมีอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว กลืนลำบาก และเจ็บหน้าอกเรื้อรัง ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าสมุนไพรแก้กรดไหลย้อนที่เรามักมีติดบ้านกันอยู่แล้วบางชนิดอาจช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนให้ดีขึ้นได้

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นโรคกรดไหลย้อนมากขึ้นอาจเพราะมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ รับประทานอาหารไม่ตรงเวลาหรือรับประทานแล้วเข้านอนทันที ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ร่างกายจึงต้องหลั่งกรดออกมาย่อยอาหารในตอนกลางคืน ประกอบกับท่านอนที่ไม่เหมาะสม ทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่ลำคอจนเกิดอาการกรดไหลย้อน

มาทำความรู้จักประโยชน์ของ 5 สมุนไพรแก้กรดไหลย้อนเหล่านี้กัน

กรดไหลย้อน

1. ขิง

ขิงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกาย และช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ในร่างกาย ตั้งแต่อาการคลื่นไส้ไปจนถึงกรดไหลย้อน โดยประกอบด้วยสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic Compounds) ที่ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองในทางเดินอาหารและลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร จึงอาจช่วยลดการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารเข้าสู่หลอดอาหาร 

ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่รับรองว่าขิงช่วยรักษาโรคกรดไหลย้อน แต่การจิบน้ำขิงอุ่น ๆ สักแก้วอาจช่วยให้รู้สึกสบายท้องมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานขิงมากเกินไป เพราะอาจทำให้อาการกรดไหลย้อนแย่ลง และผู้ป่วยที่รับประทานยาเบาหวานและยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

2. ขมิ้นชัน

ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรแก้กรดไหลย้อนที่คนนิยมใช้ เนื่องจากมีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น ช่วยบรรเทาอาการโรคลำไส้อักเสบ ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยบรรเทาอาการโรคกระเพาะอาหาร กระตุ้นการหลั่งเมือกมาเคลือบกระเพาะอาหาร ยับยั้งการหลั่งน้ำย่อย และช่วยสมานแผล 

ขมิ้นชันมีสารประกอบเคอร์คูมิน (Curcumin) ที่ช่วยต้านการอักเสบ ต้านการเกิดมะเร็ง และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีเยี่ยมอีกด้วย ขมิ้นชันหาซื้อได้ง่ายทั้งแบบแคปซูลและแบบเม็ด ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการรับประทาน

3. กล้วย

กล้วยอาจเป็นอีกตัวช่วยที่สามารถลดอาการแสบร้อนกลางอกได้ เพราะเป็นผลไม้ที่มีค่าเป็นด่าง (Alkaline) ซึ่งช่วยเคลือบเยื่อบุด้านในหลอดอาหารที่ระคายเคือง และมีใยอาหารเพคติน (Pectin) สูง ซึ่งช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายดี เพียงรับประทานกล้วยสุกเป็นประจำทุกวัน  ก็จะช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนและป้องกันอาการท้องผูกได้ แถมอิ่มเบา ๆ สบายท้องอีกด้วย

4. มัสตาร์ด (Mustard)

มัสตาร์ดเป็นเครื่องเทศที่ใช้ปรุงอาหาร เมล็ดมัสตาร์ดอุดมด้วยสารกลูโคไซโนเลตส์ (Glucosinolates) ที่ทำให้มัสตาร์ดมีกลิ่นและรสจัด ศาสตร์แพทย์แผนโบราณอย่างอายุรเวทใช้มัสตาร์ดในการรักษากรดไหลย้อน โดยเชื่อว่าคุณสมบัติที่เป็นด่างของมัสตาร์ดอาจช่วยรักษาสมดุลของกรดในกระเพาะอาหารได้ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะยืนยันถึงประสิทธิภาพของการใช้มัสตาร์ดในการรักษาโรค หากต้องการรับประทานควรอยู่ในปริมาณที่พอดี และไม่นำมาทดแทนการรักษาหลัก

5. น้ำว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์เย็นและมีสรรพคุณต้านการอักเสบ จะรับประทานเพื่อสุขภาพหรือใช้ทาผิวรักษาแผลสดก็ได้ ผลการวิจัยหนึ่งระบุว่าน้ำว่านหางจระเข้อาจบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้เช่นเดียวกับยาแผนโบราณบางชนิดโดยไม่มีรายงานผลข้างเคียง 

ทั้งนี้ เพื่อให้รับประทานได้ง่ายและได้รสชาติที่ดีขึ้น อาจชงน้ำว่านหางจระเข้ผสมกับน้ำผลไม้ต่าง ๆ ที่ไม่เป็นกรด เพราะน้ำผลไม้ที่เป็นกรดอาจกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญในการบรรเทาอาการจากกรดไหลย้อนคือ การปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม โดยไม่ควรเข้านอนขณะที่ยังอิ่มอยู่ ไม่รับประทานอาหารปริมาณมากหรือเร็วเกินไป หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด และผลไม้ที่มีกรดมาก 

หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อน แม้จะรับประทานสมุนไพรแก้กรดไหลย้อนก็อาจไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้