ผดขึ้นหน้า กับเรื่องที่ควรรู้

ผดขึ้นหน้าหรือผดร้อน (Miliaria) คือ ผดผื่นคันที่ปรากฏขึ้นเป็นแถบบนใบหน้า ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง นอกจากบริเวณใบหน้าแล้ว ในผู้ใหญ่ อาจพบผดขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่มีรอยย่นเป็นชั้น หรือบริเวณผิวหนังที่เกิดการเสียดสีกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายบ่อย ๆ ส่วนในเด็ก มักพบผดขึ้นตามลำคอ ไหล่ หน้าอก รักแร้ ข้อพับศอก หรือขาหนีบ

ผดขึ้นหน้า

แม้ไม่ใช่อาการป่วยที่ร้ายแรง แต่ผดขึ้นหน้าก็สร้างปัญหาทำให้เกิดอาการคัน รู้สึกไม่สบายตัว และสูญเสียความมั่นใจไปไม่น้อยเลยทีเดียว และเนื่องด้วยสภาพอากาศเมืองไทยที่อยู่ในเขตร้อนชื้น หลายคนจึงอาจวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาผดขึ้นหน้า อย่างไรก็ดี หากเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผดขึ้นหน้า ย่อมเป็นโอกาสที่ดีในการเตรียมความพร้อมป้องกัน รับมือ หรือรักษา เมื่อต้องเผชิญปัญหานี้ด้วยตนเอง

ทำความรู้จักกับ ผดขึ้นหน้า

ผดขึ้นหน้า แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ตามระดับความรุนแรงของอาการและความลึกของการอุดตัน ได้แก่

  • มิลิอาเรีย คริสตัลลินา (Miliaria Crystallina) เป็นผดชนิดรุนแรงน้อยที่สุด เกิดอาการขึ้นที่ชั้นผิวด้านบนสุด โดยผดจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ที่แตกออกโดยง่าย
  • มิลิอาเรีย รูบรา หรือ ผดแดง (Miliaria Rubra)  เกิดอาการขึ้นที่ผิวหนังชั้นนอกส่วนที่ที่ลึกลงไป มีลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคันหรือชายิบ ๆ ตามผิวหนังในบริเวณที่เกิดผด
  • มิลิอาเรีย โพรฟันดา (Miliaria Profunda) เกิดอาการขึ้นที่ผิวหนังชั้นใน หรือชั้นหนังแท้ มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดงระเรื่อ ซึ่งเป็นเหงื่อที่อุดตันอยู่ภายในชั้นผิว มีลักษณะคล้ายตุ่มผิวหนังในขณะที่ขนลุก ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว คันยิบ ๆ หรือเจ็บปวดคล้ายถูกเข็มตำ
  • มิลิอาเรีย พัสตูโลซา หรือ ผดหนอง (Miliaria Pustulosa) เป็นการอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณที่เป็นผด ผดที่เกิดจะปรากฏเป็นตุ่มที่มีหนองอยู่ภายใน

สาเหตุของผดขึ้นหน้า

ผดขึ้นหน้ามีสาเหตุมาจากความผิดปกติของต่อมเหงื่อ หากเราอยู่ในที่ที่ร้อนและมีความชื้นสูงจนผลิตเหงื่อออกมามากกว่าปกติ อาจทำให้เกิดการอุดตันของต่อมเหงื่อภายในชั้นผิวหนัง ปรากฏเป็นผดผื่นอักเสบหรือผดผื่นคันขึ้นตามใบหน้า

ส่วนปัจจัยที่อาจมีอิทธิพลทำให้ต่อมเหงื่ออุดตันจนเกิดผดขึ้นหน้า ได้แก่

  • อายุ ในเด็กแรกเกิด ต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงอาจเกิดความเสียหายภายในต่อมเหงื่อ ที่ทำให้เกิดผดผื่นขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทารกที่ต้องอยู่ในตู้อบ มีไข้ หรือสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมจนทำให้เกิดความร้อน
  • สภาพอากาศร้อนชื้น ผู้ที่อยู่ในโซนหรือทวีปที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น มีแนวโน้มความเสี่ยงมีผดขึ้นหน้ามากกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตอบอุ่น
  • การทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง เช่น การออกกำลังกาย การทำงานที่ต้องใช้แรงอย่างหนัก ซึ่งทำให้มีเหงื่อออกมาก
  • ผิวหนังได้รับความร้อนมากเกินไป เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ที่ทำให้เกิดความร้อน หรือเครื่องแต่งกายที่ไม่เปิดให้ผิวหนังระบายเหงื่อและความร้อนออกไปได้ มีไข้สูง นอนอยู่บนเตียงนานเกินไป
  • ผิวหนังถูกปิดทับ เช่น การใช้ยาในรูปแผ่นแปะผิวหนัง
  • ร่างกายไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ เช่น ผู้ที่เคยอยู่ในเขตอากาศอบอุ่น เดินทางไปอยู่อาศัยในพื้นที่เขตอากาศร้อนชื้น ซึ่งอาจเกิดผดผื่นขึ้นตามผิวหนังได้ โดยร่างกายจะปรับตัวและอาการอาจค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้น หรืออาจใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศในพื้นที่ใหม่ได้
  • ป่วยเป็นโรคทางระบบต่อมไร้ท่อ ชนิดซูโดไฮโปอัลโดสเตอโรนิซึม แบบที่ 1 (Type I Pseudohypoaldosteronism) ซึ่งเกิดความผิดปกติของฮอร์โมนมินเนอราโลคอร์ติคอยด์ (Mineralocorticoid) ที่ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือผ่านทางต่อมต่าง ๆ มากเกินไป และมักเกิดผดแดงได้
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการผดขึ้นหน้าได้ เช่น เบททานีคอล (Bethanechol) ที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีเหงื่อออกมาก ไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในรูขุมขน
  • มอร์แวน ซินโดรม (Morvan Syndrome) เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แม้จะมีโอกาสพบได้น้อยมาก แต่อาการป่วยนี้อาจทำให้เกิดผดแดงขึ้นตามผิวหนังได้ โดยมีอาการที่เป็นสัญญาณของโรคเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วตัว นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอน ปวดตามกล้ามเนื้อ น้ำหนักลด และมีภาวะหลั่งเหงื่อมาก
  • แบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียบางชนิดอาจทำให้เกิดผดขึ้นหน้าได้ เช่น สแตฟิโลค็อกซิ (Staphylococci)
  • รังสีอัลตร้าไวโอเลต บางงานวิจัยค้นพบว่า ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับรังสียูวี มีโอกาสเกิดผดชนิดมิเลียเรีย คริสตัลลินา (Miliaria Crystallina)

ผดขึ้นหน้าแบบใด ควรไปพบแพทย์

หากผู้ป่วยมีอาการผดขึ้นหน้าเป็นเวลายาวนานหลายวัน ผดเหล่านั้นมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น เจ็บปวดบริเวณที่เกิดผดมากขึ้น รู้สึกร้อน มีอาการบวมหรือแดงมากขึ้น มีหนองไหลออกมาจากผด ต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณรักแร้ ลำคอ หรือขาหนีบ หรือมีอาการที่บ่งบอกถึงสัญญาณการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษา

ผดขึ้นหน้า รักษา และป้องกันได้อย่างไร

ผดขึ้นหน้าสามารถใช้ยารักษาตามอาการและความรุนแรงของผด โดยต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ ใช้ยาอย่างถูกต้องภายใต้คำสั่งและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ตัวอย่างการใช้ยารักษาผด ได้แก่

  • ครีมทาผิวคาลาไมน์ (Calamine Lotion) ใช้ทาลดอาการคันบริเวณที่เกิดผด แต่อาจเกิดผลข้างเคียงเป็นอาการผิวแห้ง จึงอาจต้องใช้ครีมหรือสารบำรุงที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวในภายหลังด้วย
  • แอนไฮดรัส ลาโนอิน (Anhydrous Lanolin) สารที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ใช้ทาป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผดขึ้นมาอีก
  • สเตียรอยด์ (Steroids) สเตียรอยด์จะช่วยลดอาการอักเสบระคายเคืองของผด ใช้บรรเทาอาการของผดชนิดที่มีความรุนแรงมาก
  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ใช้กำจัดเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะใช้รักษาผดที่เกิดการอักเสบและเป็นหนอง
  • น้ำยาฆ่าเชื้อ (Antiseptic) หรือการใช้สบู่ที่มีส่วนประกอบของน้ำยาฆ่าเชื้อ จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังประสบปัญหาผดขึ้นหน้า หรือผู้ที่ต้องการป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดผดขึ้นบนใบหน้าของตน สามารถทำตามตัวอย่างแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้ เพื่อลดหรือป้องกันการเกิดผดขึ้นหน้าในอนาคต

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน ทาครีมกันแดดหากต้องออกนอกบ้านและสัมผัสกับแสงแดด
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายเกิดความร้อนและมีเหงื่อออกมาก เช่น การออกกำลังกายอย่างหนัก การทำงานที่ต้องออกแรงมาก ๆ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องแต่งกายที่ปกคลุมหนา เสี่ยงต่อการเกิดความร้อนและมีเหงื่อออก โดยควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม ไม่รัดแน่นจนเกินไป ระบายอากาศได้ดี และไม่อับชื้น เช่น ผ้าฝ้าย
  • เพิ่มความเย็นแก่ผิวหนัง อาบน้ำเย็น และอยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น เปิดแอร์ หรือพัดลมระบายอากาศ
  • หากผดขึ้นหน้าเกิดจากภาวะอาการป่วยอื่นที่เป็นสาเหตุนำ ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุก่อน และปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด
  • ผู้ที่เคยมีประวัติผดขึ้นหน้ามาก่อน ควรทาสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวอย่างแอนไฮดรัส ลาโนอิน ก่อนการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องเสียเหงื่อมาก