ปวดก้น (Butt pain)

ความหมาย ปวดก้น (Butt pain)

ปวดก้น (Butt pain) คืออาการปวดบริเวณก้น ซึ่งอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณก้นมากเกินไป การได้รับบาดเจ็บ หรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง ซึ่งอาการปวดก้นส่วนใหญ่อาจดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตัวเอง หากอาการปวดก้นรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ก้นเป็นบริเวณที่ประกอบไปด้วยไขมัน กระดูก และกล้ามเนื้อต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่รองรับน้ำหนักขณะนั่ง หรือช่วยในการเคลื่อนไหว ซึ่งอาการปวดก้นที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้นั่ง ยืน หรือเดินไม่สะดวกได้ ดังนั้น การทราบสาเหตุของอาการปวดก้น อาจช่วยให้รู้วิธีการรักษาอย่างเหมาะสม และช่วยให้อาการปวดก้นดีขึ้นได้

ปวดก้น

สาเหตุของอาการปวดก้น

ปวดก้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น หกล้ม ตกบันได เล่นกีฬา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการช้ำและรู้สึกปวดตามมา นอกจากนี้ อาการปวดก้นยังอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น 

  • ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการหมอนรองกระดูแตกและกดทับของเส้นประสาท และทำให้เกิดอาการปวดร้าวตั้งแต่ก้นจนถึงหลังขา
  • ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis syndrome) ซึ่งอาการมักคล้ายภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่อาจเกิดจากกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสกดทับเส้นประสาทโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากนั่ง ยืน หรือเดินนาน
  • กล้ามเนื้อฉีกขาด เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อบริเวณก้นฉีกขาด ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การออกกำลังกายหนักเกินไป การไม่อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย
  • ถุงของเหลวบริเวณข้อต่ออักเสบ (Ischial bursitis) ถุงของเหลว (Bursa) ที่อยู่ระหว่างเส้นเอ็นและกระดูกบริเวณสะโพกส่วนล่างอาจเกิดการอักเสบ เนื่องจากการนั่งนาน ๆ บนพื้นแข็ง
  • โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่ข้อต่อต่าง ๆ รวมถึงบริเวณสะโพกเสื่อม โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น หรือการมีน้ำหนักเยอะ
  • ภาวะปวดข้อต่ออุ้งเชิงกราน (Sacroiliac joint dysfunction) เป็นภาวะที่ข้อต่อบริเวณอุ้งเชิงกรานเกิดความผิดปกติ เช่น ข้อติด (Joint stiffness) การวางตัวของแนวกระดูกผิดไปจากเดิม

อาการปวดก้น

เนื่องจากอาการปวดก้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น อาการจึงอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุนั้น ๆ ซึ่งนอกจากอาการปวดบริเวณก้นแล้ว ยังอาจมีอาการอื่น ๆ  เช่น

  • ก้นบวม แดง กดแล้วเจ็บ
  • ก้นช้ำ หรือมีเลือดสะสมใต้ผิวหนัง 
  • ปวดก้นเวลาเดินขึ้นบันไดหรือเดินขึ้นที่สูง
  • ปวดสะโพกร้าวลงหลังขา
  • เหน็บชาบริเวณขา
  • กล้ามเนื้อบริเวณก้นหรือสะโพกอ่อนแรง

อาการปวดก้นที่ควรไปพบแพทย์

ควรไปพบแพทย์ หากอาการปวดก้นไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น 

  • อาการปวดก้นส่งผลให้เดิน ยืน นั่ง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ยากหรือไม่ได้เลย
  • ขยับสะโพกแล้วรู้สึกปวด
  • สะโพกหรือขาอ่อนแรง รู้สึกแสบหรือเหน็บชา 
  • กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่
  • มีไข้สูง อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

การวินิจฉัยอาการปวดก้น

อาการปวดก็สามารถวินิจฉัยได้หลายวิธี โดยแพทย์อาจเริ่มจากการตรวจร่างกาย ซักประวัติหรือสอบถามอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับอาการปวดก้น ทั้งนี้ แพทย์อาจทำการวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การทำเอกซเรย์ การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท (Nerve conduction test) เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวดก้นและทำการรักษาต่อไป

การรักษาอาการปวดก้น

การรักษาอาการปวดก้นมักขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการรักษาโดยแพทย์

การรักษาด้วยตัวเอง

ในเบื้องต้นผู้ที่มีอาการปวดก้นสามารถดูแลตนเองได้หลากหลายวิธี เช่น 

  • ประคบเย็นและประคบร้อน เพื่อลดอาการบวมอักเสบและบรรเทาอาการปวดก้น
  • ยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณก้น โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนั่งหลังตรงที่พื้นและเหยียดขาไปด้านหน้า จากนั้นพาดข้อเท้าข้างซ้ายบนเข่าขวา เอนตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย โดยทำค้างไว้ข้างละ 20 วินาที การทำวิธีนี้อาจช่วยคลายกล้ามเนื้อ และบรรเทาอาการปวดก้นได้
  • พักการทำกิจกรรมที่อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อที่ก้น เช่น การวิ่ง การยืน นั่ง หรือเดินนาน ๆ
  • ทายาทาแก้ปวดบริเวณก้น หรือกินยาแก้ปวดต่าง ๆ เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยานาพร็อกเซน 

การรักษาโดยแพทย์

การรักษาอาการปวดก้นโดยแพทย์อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการปวด เช่น

  • การจ่ายยาแก้ปวดที่รุนแรงกว่ายาแก้ปวดทั่วไป
  • การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวดและอักเสบบริเวณก้น
  • การทำกายภาพบำบัด แพทย์อาจแนะนำวิธีออกกำลังกาย รวมไปถึงการทำกายภาพอื่น ๆ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ คลายกล้ามเนื้อ หรือลดอาการปวด 
  • การผ่าตัด หากอาการปวดด้นไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ อาการปวดก้นเรื้อรัง หรืออาการปวดก้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดก้นให้ดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดก้น

อาการปวดก้นอาจส่งผลต่อการนั่ง การยืน หรือการเดินไม่สะดวก ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ อาการปวดก้นหรือสะโพกร้าวลงขาที่เกิดจากการถูกกดทับเส้นประสาท ยังอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น อาการปวดเรื้อรัง เส้นประสาทได้รับความเสียหาย มีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ

การป้องกันอาการปวดก้น

อาการปวดก้นสามารถป้องกันได้หลายวิธีเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น หรือกลับมาเป็นซ้ำ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรพักเพื่อยืน เดินหรือขยับเปลี่ยนท่าเพื่อป้องกันอาการปวดก้น 
  • ปรับท่าทางการนั่งอย่างเหมาะสม ควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง และนั่งให้เท้าสองข้างติดพื้น ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อขาดความสมดุลได้
  • ใช้เบาะรองนั่ง การนั่งบนเบาะรองนั่งอาจช่วยให้นั่งสบายขึ้น และลดการกดทับบริเวณก้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายอาจช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกบริเวณก้น นอกจากนี้ ควรอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะการที่มีน้ำหนักมากเกินไปอาจทำให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย
  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ อาการปวดก้นอาจเกิดจากอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ควรป้องกันปัจจัยที่อาจเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ใส่รองเท้าที่พอดี ไม่วางของเกะกะทางเดินหรือบันได 
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อและกระดูกให้แข็งแรง เช่น อาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี โปรตีน คาร์โบไฮเดรต

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดก้นไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่าอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง การไปพบแพทย์ตั้งแต่ ๆ เนิ่นเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีป้องกันไม่ให้อาการปวดก้นรุนแรงยิ่งขึ้นได้เช่นกัน