กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis Syndrome)

ความหมาย กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis Syndrome)

Piriformis Syndrome หรือกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท เป็นความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสบริเวณก้นใกล้กับสะโพกไปกดทับเส้นประสาทไซอาติกที่อยู่ใกล้กัน ส่งผลให้รู้สึกปวดบริเวณก้นร้าวไปยังขา หากมีอาการรุนแรงมาก อาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการนั่ง เช่น นั่งทำงาน หรือขับรถ เป็นต้น

1513 Piriformis Syndrome Resized

อาการของกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

พิริฟอร์มิส คือ กล้ามเนื้อที่อยู่ภายในก้นใกล้กับสะโพก มีหน้าที่รักษาสมดุลของสะโพกและช่วยให้ต้นขาเคลื่อนไหวไปยังทิศทางต่าง ๆ ได้ จึงจำเป็นต่อการรักษาสมดุลของร่างกายและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้ลำตัวส่วนล่าง หากกล้ามกล้ามเนื้อชนิดนี้ไปกดทับเส้นประสาทไซอาติก ซึ่งเป็นเส้นประสาทขนาดใหญ่ที่พาดผ่านขาทั้ง 2 ข้าง อาจส่งผลให้เกิดอาการ ดังต่อไปนี้

  • ชาและปวดก้นร้าวไปยังขาทั้ง 2 ข้าง
  • รู้สึกเจ็บเมื่อใช้มือกดบริเวณก้น
  • ปวดหลังช่วงล่าง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อต้องนั่งเป็นเวลานานหรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวลำตัวส่วนล่าง เช่น วิ่ง หรือขึ้นบันได เป็นต้น หากมีอาการรุนแรงมากก็อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้

สาเหตุของกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

โดยปกติ กลุ่มอาการนี้มักเกิดจากการอักเสบ การบาดเจ็บ การเกิดแผลเป็น หรือภาวะเลือดออกที่กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส อันเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • เคลื่อนไหวร่างกายส่วนล่างผิดท่า
  • ออกกำลังกายมากเกินไป
  • วิ่งหรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวขาอย่างต่อเนื่อง
  • นั่งเป็นเวลานาน
  • ยกของหนัก
  • เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายส่วนล่าง เช่น ลื่นล้ม ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น

การวินิจฉัยกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

หากความรู้สึกปวดและชาบริเวณก้นหรือขาไม่ดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ หรืออาการปวดเกิดขึ้นเป็นระยะโดยไม่หายไป ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

โดยแพทย์จะวินิจฉัย Piriformis Syndrome ด้วยวิธีการ ดังนี้

  • สอบถามประวัติสุขภาพและการรักษาทางการแพทย์ รวมถึงกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำก่อนเกิดอาการผิดปกติ
  • ตรวจสอบอาการผิดปกติที่พบ และตรวจร่างกายเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม อาการปวดบริเวณก้นและขาอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน เช่น โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท โรคข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อม โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ เป็นต้น ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจบริเวณดังกล่าวด้วยเทคนิคการถ่ายภาพ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้ง เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการสร้างภาพด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นต้น

การรักษากลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงนักรักษาตัวเองแบบประคับประคองจนอาการหายไปเอง โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจกระตุ้นให้อาการปวดกำเริบ
  • ประคบเย็นและประคบร้อนบริเวณก้นและขาทุก 2-3 ชั่วโมง โดยขั้นแรกให้ห่อเจลเก็บความเย็นด้วยผ้าแล้วประคบบริเวณที่ปวด 15-20 นาที จากนั้นจึงใช้ถุงเก็บความร้อนประคบต่อ 15-20 นาที
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน เป็นต้น

หากปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การออกกำลังกาย ออกกำลังกายและยืดกล้ามเนื้อด้วยท่าต่าง ๆ ซึ่งท่ายืดกล้ามเนื้อขั้นพื้นฐานที่สามารถทำได้ มีขั้นตอนดังนี้

  • นอนราบกับพื้นแล้วชันเข่าทั้ง 2 ข้างเป็นท่าเตรียมพร้อม
  • ยกข้อเท้าซ้ายขึ้นแล้ววางพาดไว้บนเข่าขวา
  • ใช้มือดึงเข่าขวาเข้าหาอก แล้วค้างไว้ 5 วินาที
  • ค่อย ๆ วางขากลับไปยังท่าเตรียมพร้อม
  • สลับมายกข้อเท้าขวาในท่าเดียวกัน
  • ทำซ้ำเช่นนี้อีก 1 รอบ

การใช้ยารักษา ฉีดยาที่มีฤทธิ์ช่วยให้กล้ามเนื้อชา หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ

การกระตุ้นเส้นประสาท กระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนังเพื่อลดความเจ็บปวด (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulator) หรือ TENS โดยใช้กระแสไฟฟ้ารบกวนการทำงานของสัญญาณในสมองที่กระตุ้นให้รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดน้อยลง

การผ่าตัด บางกรณีแพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขการกดทับที่เส้นประสาท

ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

โดยปกติ อาการปวดที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ หายไปได้เองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่ก็มีความเสี่ยงที่กล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสจะกดทับเส้นประสาทไซอาติกและสร้างความเสียหายแก่เส้นประสาทอย่างถาวรได้ ดังนั้น หากมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างสูญเสียความรู้สึกหรือไม่มีแรง
  • ไม่สามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะของตัวเองได้

การป้องกันกลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

แม้สาเหตุหนึ่งของ Piriformis Syndrome คือ การออกกำลังกายผิดวิธี แต่ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายด้วยท่าทางที่ถูกต้องในระยะเวลาที่เหมาะสมอาจส่งผลดีต่อร่างกายและช่วยป้องกันกลุ่มอาการนี้ได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำได้ ดังนี้

  • อบอุ่นร่างกายและยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง
  • เพิ่มระดับการออกกำลังกายเพียงทีละน้อย
  • หลีกเลี่ยงการวิ่งบนทางลาดชันหรือพื้นผิวที่ขรุขระ
  • หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนในท่าเดิมเป็นเวลานาน

ผู้ที่เคยเป็น Piriformis Syndrome มาก่อน ควรออกกำลังกายหรือยืดกล้ามเนื้อตามที่แพทย์แนะนำเป็นประจำ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ