บัวหิมะดีต่อสุขภาพจริงหรือ

บัวหิมะมีคุณประโยชน์หลายอย่าง อย่างไรก็ดี บัวหิมะที่คนไทยนิยมเรียกกันนั้นยังหมายถึงผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่บัวหิมะด้วย บัวหิมะ

โดยพืชและผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยที่หลายคนเรียกว่าบัวหิมะนั้น จำแนกออกเป็น 4 อย่าง ได้แก่

  • ดอกบัวหิมะ (Snow Lotus/Saussurea Involucrata) กลีบดอกมีลักษณะคล้ายกลีบบัว ขึ้นได้ดีในที่สูงประมาณ 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป มักนำมาใช้ต้านอาการอักเสบ อีกทั้งยังเชื่อว่าช่วยบำรุงหัวใจและขับสารพิษออกจากร่างกาย
  • ผลบัวหิมะ (Yacon/Smallanthus Sonchifolius) รูปร่างพืชชนิดนี้คล้ายหัวมันเทศ เมื่อกล่าวถึงบัวหิมะชนิดนี้จะหมายถึงส่วนของผล หัว หรือราก โดยหลายคนเชื่อว่าการรับประทานผลบัวหิมะช่วยลดความอ้วนได้ รวมทั้งอาจมีสรรพคุณทางยาในการรักษาปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
  • ครีมบัวหิมะ ครีมนี้มักมีส่วนผสมของโสม ว่านหางจระเข้ การบูร หรือชะมดเช็ด ผู้คนนิยมเรียกครีมชนิดนี้ว่าครีมบัวหิมะ โดยใช้รักษาปัญหาผิวหนังต่าง ๆ เช่น ผื่นคัน แผลสด แผลน้ำร้อนลวก หรือโรคกลากเกลื้อน
  • บัวหิมะธิเบต หรือคีเฟอร์ (Kefir) แท้จริงแล้ว บัวหิมะธิเบตหรือคีเฟอร์คือผลิตภัณฑ์นมหมัก ซึ่งมีแบคทีเรียและยีสต์ มักนำมาใช้รักษาอาการย่อยยาก ระบบทางเดินอาหารไม่ดี แพ้น้ำตาลแลคโทส หรือท้องร่วง

คุณประโยชน์ของบัวหิมะ

บัวหิมะได้ชื่อว่าเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์หลากหลาย บทความนี้จะเน้นเฉพาะคุณประโยชน์ของดอกบัวหิมะ และผลบัวหิมะ ที่ได้รับการกล่าวอ้างเกี่ยวกับสรรพคุณในการเสริมสร้างสุขภาพ โดยมีงานวิจัยที่ศึกษาประเด็นดังกล่าวไว้หลายมุมมอง ดังนี้

สรรพคุณของดอกบัวหิมะ

ต้านโรคมะเร็ง

ดอกบัวหิมะได้รับการกล่าวอ้างว่าอาจช่วยต้านมะเร็ง ซึ่งปรากฏงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ศึกษาประเด็นนี้ งานวิจัยหนึ่งได้ศึกษาคุณประโยชน์ทางยาของดอกบัวหิมะในเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่าสารสกัดจากดอกบัวหิมะอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากในห้องปฏิบัติการ ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นที่ทำการทดลองประสิทธิภาพของสารสกัดเอทิลจากดอกบัวหิมะ ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าดอกบัวหิมะมีสาร Hispidulin ที่อาจช่วยต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหารในห้องปฏิบัติการเช่นกัน

นอกจากนี้ ดอกบัวหิมะยังอาจมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งตับด้วย โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้นำเซลล์มะเร็งตับมาทดสอบกับสารสกัดดอกบัวหิมะในห้องทดลอง เพื่อดูว่าสารสกัดดอกบัวหิมะจะก่อพิษต่อเซลล์มะเร็งหรือไม่ ปรากฏว่าสารสกัดเอทานอลจากดอกบัวหิมะมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งตับ ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้จำเป็นต้องศึกษาต่อไปอีกมาก เนื่องจากงานวิจัยเหล่านั้นเป็นการศึกษาเพียงขั้นต้นในห้องทดลอง จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าดอกบัวหิมะจะต้านมะเร็งในผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บรรเทาอาการข้ออักเสบ

ข้ออักเสบคือภาวะอักเสบบริเวณข้อต่อ ส่งผลให้ผู้ป่วยปวดข้อหรือข้อติดแข็ง ซึ่งอาการจะแย่ลงตามอายุที่มากขึ้น โดยโรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบรูมาตอยด์ จัดเป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้มากที่สุด มีบางคนรับประทานดอกบัวหิมะเพื่อบรรเทาอาการข้ออักเสบ ซึ่งมีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้ว่าดอกบัวหิมะอาจช่วยอาการข้ออักเสบได้บ้าง ดังงานวิจัยหนึ่งได้นำหนูมาทดลอง โดยฉีดสารชนิดหนึ่งเข้าชั้นผิวหนังบริเวณฝ่าเท้าซ้าย เพื่อให้เกิดอาการข้ออักเสบ และให้ดื่มสารสกัดจากดอกบัวหิมะเป็นเวลา 21 วัน ผลปรากฏว่าสารสกัดดอกบัวหิมะลดอาการข้ออักเสบได้ โดยบรรเทาระดับความรุนแรงและอาการบวมที่เท้าของหนู

เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นที่นำหนูที่เป็นข้ออักเสบชนิดหนึ่งมาศึกษา โดยให้หนูกินสารสกัดดอกบัวหิมะ 420 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 40 วัน พบว่าดอกบัวหิมะช่วยลดจำนวนเซลล์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ รวมทั้งชะลอการทำลายข้อ

แม้งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นจะชี้ให้เห็นว่าดอกบัวหิมะช่วยอาการข้ออักเสบ แต่ไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่าจะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคข้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากงานวิจัยที่ยกมานี้เป็นการทดลองกับสัตว์ จึงต้องทำการศึกษากับผู้ป่วยจริงต่อไป เพื่อรับรองความปลอดภัยในการนำมาใช้รักษากับคน ทั้งนี้ การรักษาข้ออักเสบที่ปลอดภัยและได้ผลจริงคือเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ ได้แก่ รับประทานยาบรรเทาอาการและลดการอักเสบ ทำกายภาพบำบัด หรือเข้ารับการผ่าตัดข้อในบางกรณี

ต้านอนุมูลอิสระ

ดอกบัวหิมะถูกอ้างว่าเป็นพืชอีกชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาประเด็นนี้กับหนูทดลอง โดยให้หนูกินสารสกัดแอลกอฮอล์จากดอกบัวหิมะติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และให้ทดลองว่ายน้ำ เพื่อดูว่าดอกบัวหิมะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายของหนูทดลองอย่างไร ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าหนูทดลองมีระดับกรดแลคติกในเลือดลดลงหลังได้รับสารสกัดแอลกอฮอล์มากกว่าหนูทดลองในกลุ่มควบคุม ซึ่งหมายความว่า ดอกบัวหิมะอาจช่วยต้านอาการเมื่อยล้ากล้ามเนื้อได้ อีกทั้งยังมีฤทธิ์ทำลายสารอนุมูลอิสระด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าดอกบัวหิมะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในคน ประเด็นดังกล่าวจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยทำการทดลองกับกลุ่มคนจำนวนมากในระยะยาว เพื่อดูว่าดอกบัวหิมะมีสรรพคุณทางยาในการต้านอนุมูลอิสระได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

บรรเทาอาการแพ้ความดันอากาศในที่สูง

อาการแพ้ความดันอากาศในที่สูง (Altitude Sickness) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอเมื่อขึ้นไปอยู่ที่ที่มีความกดอากาศสูง ส่งผลให้ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และนอนไม่หลับ ผู้ที่ไม่คุ้นเคยและต้องขึ้นไปในที่สูงประมาณ 2,438 เมตร หรือ 8,000 ฟุตขึ้นไปอย่างกะทันหันมักเกิดภาวะนี้ได้ง่าย ดอกบัวหิมะได้ชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่นำมาใช้ในภาวะขาดออกซิเจน งานวิจัยชิ้นหนึ่งจึงนำดอกบัวหิมะและพืชสมุนไพรที่ขึ้นในแถบชิงไห่ทิเบตมาศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณดังกล่าว โดยให้หนูทดลองได้รับสารสกัดจากดอกบัวหิมะและพืชสมุนไพรอื่น ๆ และเข้าไปอยูในแบบจำลองที่มีความกดอากาศคล้ายกับการอยู่ในที่สูง ปรากฏว่าหนูที่กินสารสกัดดอกบัวหิมะมีอัตราการตายจากภาวะความกดอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหันลดลง ทั้งนี้ ดอกบัวหิมะยังเป็นพืชที่มีฤทธิ์รักษาภาวะขาดออกซิเจนได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับพืชสมุนไพรอื่น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้จำเป็นต้องศึกษากับคนต่อไป เพื่อรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการนำดอกบัวหิมะมาใช้ในผู้ป่วยแพ้ความดันอากาศในที่สูง

บรรเทาอาการอักเสบของผิวหนัง

ดอกบัวหิมะได้ชื่อว่ามีคุณสมบัติแก้ปวดและบรรเทาอาการอักเสบ โดยมีงานวิจัยหนึ่งให้หนูทดลองที่ผิวหนังบวมกินบัวหิมะเพาะเลี้ยงเป็นเวลา 7 วัน พบว่าช่วยลดอาการบวมได้ และยังทดลองให้หนูที่โดนความร้อนลวกผิวกินบัวหิมะเพาะเลี้ยง แล้วพบว่าหนูเหล่านั้นมีอาการปวดแผลน้อยลงเช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว แผลไฟไหม้หรือถูกน้ำร้อนลวกจะทำให้เกิดอาการปวดและบวมแดง จึงอาจเป็นไปได้ว่าดอกบัวหิมะมีสรรพคุณบรรเทาอาการที่เกิดจากแผลเหล่านี้ด้วย

เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวทดลองกับสัตว์ จึงควรมีการศึกษาโดยตรงกับคน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับสรรพคุณของดอกบัวหิมะในการนำมารักษาแผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก

 

สรรพคุณของผลบัวหิมะ

ลดความอ้วน การบริโภคบัวหิมะอาจส่งผลดีต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่ประสบภาวะอ้วน ประเด็นนี้ได้มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้ผู้หญิงอ้วนและมีระดับไขมันในเลือดสูงเล็กน้อยบริโภคไซรัปจากบัวหิมะที่มีสาร Fructooligosaccharides ในปริมาณที่ต่างกัน โดยให้รับประทานไซรัปที่มีสาร Fructooligosaccharides วันละ 0.29 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือรับประทานไซรัปที่มีสาร Fructooligosaccharides วันละ 0.14 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าการบริโภคไซรัปบัวหิมะทุกวันเป็นเวลา 120 วัน ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการทดลองมีน้ำหนักตัว รอบเอว และดัชนีมวลกายลดลง อีกทั้งกระตุ้นให้ขับถ่ายสม่ำเสมอ และส่งผลเชิงบวกต่อระดับไขมันไม่ดีในเลือด โดยการบริโภคไซรัปบัวหิมะที่มีสาร Fructooligosaccharides วันละ 0.14 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จัดเป็นปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร ถึงอย่างนั้น ระดับไขมันในเลือดและระดับกลูโคสหลังอดอาหารของผู้รับประทานไซรัปบัวหิมะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ต้องการรับประทานบัวหิมะหรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของบัวหิมะสำหรับลดความอ้วน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากพืชชนิดนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อภาวะสุขภาพบางอย่าง หรืออาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิด ทั้งนี้ วิธีลดความอ้วนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพทำได้ด้วยตนเอง โดยเลือกรับประทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการ เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงเกินไป รวมทั้งออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ

แก้ท้องผูกและบำรุงลำไส้ ท้องผูกนับเป็นปัญหาสุขภาพที่ทำให้มีอุจจาระแข็ง โดยอาการของโรคจะรุนแรงแตกต่างกันไป มักเกิดจากปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความเครียด ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป หรือดื่มน้ำและรับประทานไฟเบอร์ ไม่เพียงพอ

การบริโภคผักผลไม้ที่มีกากใยสูงจะป้องกันท้องผูกได้ บัวหิมะเองนั้นได้ชื่อว่ามีสรรพคุณในการบรรเทาอาการดังกล่าว งานวิจัยหนึ่งได้ทดสอบคุณประโยชน์ของบัวหิมะในการรักษาอาการท้องผูก พบว่าผู้ป่วยท้องผูกที่ได้รับสาร Fructooligosaccharides ของบัวหิมะวันละ 10 กรัม จากการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารบัวหิมะติดต่อกัน 30 วัน ขับถ่ายได้มากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ท้องผูกน้อยลง รวมทั้งมีแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้เพิ่มขึ้นและแบคทีเรียชนิดไม่ดีลดลง

นอกจากนี้ บัวหิมะอาจช่วยบำรุงลำไส้สำหรับผู้คนทั่วไป ดังปรากฏในงานวิจัยที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมการทดลองสุขภาพดีจำนวน 16 ราย บริโภคบัวหิมะวันละ 20 กรัม เป็นเวลา 2 สัปดาห์  พบว่าบัวหิมะช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น โดยขับถ่ายได้บ่อยและอุจจาระไม่แข็งตัว อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดอาการท้องอืดอันเป็นผลข้างเคียงรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการบริโภคบัวหิมะหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้จากบัวหิมะควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากงานวิจัยที่ยกมานี้เป็นการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งต้องรับประทานบัวหิมะในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับสรรพคุณทางยาโดยปราศจากผลข้างเคียงอื่น

รักษาเบาหวาน สรรพคุณทางยาของบัวหิมะอีกประการหนึ่งที่ได้รับการกล่าวอ้างคือช่วยควบคุมอาการโรคเบาหวาน เนื่องจากบัวหิมะมีสารโพลีแซคคาไรด์ซึ่งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ประเด็นนี้มีการนำมาศึกษา โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้สกัดสารโพลีแซคคาไรด์จากพืช 3 อย่าง ได้แก่ สมุนไพรจีนอึ้งคี้ เห็ดนางรม และบัวหิมะ เพื่อเปรียบเทียบสรรพคุณทางยาของสารโพลีแซคคาไรด์จากพืชทั้งหมดว่าช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือไม่ พบว่าสารอาหารที่ได้จากสมุนไพรจีนอึ้งคี้ เห็ดนางรม และบัวหิมะ ล้วนมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยบัวหิมะมีสรรพคุณดังกล่าวน้อยกว่าสมุนไพรจีนอึ้งคี้และเห็ดนางรม

อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจชี้ชัดว่าสารโพลีแซคคาไรด์ที่ได้จากบัวหิมะมีสรรพคุณรักษาอาการเบาหวานได้จริง เนื่องจากงานวิจัยนี้ทำการศึกษาในห้องทดลอง จำเป็นต้องศึกษาวัดผลในผู้ป่วยจริงต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการบริโภคบัวหิมะเพื่อหวังสรรพคุณทางยาดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากสารอาหารบางอย่างจากบัวหิมะอาจทำปฏิกิริยากับภาวะสุขภาพหรือยารักษาโรคบางอย่าง อีกทั้งยังไม่ปรากฏปริมาณยาของบัวหิมะสำหรับใช้ควบคุมอาการโรคเบาหวานที่นำมาใช้รักษาได้อย่างปลอดภัย

เสริมสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน โดยทั่วไปแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ปกป้องร่างกายไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำลายได้ โดยสิ่งแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อรา แบคทีเรีย สารพิษ สารเคมี หรือยาต่าง ๆ โดยระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ปกป้องสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เมื่อเข้ามาในร่างกาย เรียกว่าการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาคุณประโยชน์ของบัวหิมะที่ส่งผลต่อการตอบสนองภูมิคุ้มกัน โดยแบ่งเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 2-5 ปี เป็น 2 กลุ่ม และให้เด็กกลุ่มหนึ่งรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของบัวหิมะเป็นเวลา 18 สัปดาห์ติดต่อกันทุกวัน พร้อมเข้ารับการตรวจเลือดและตรวจอุจจาระ พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีระดับสารภูมิคุ้มกันในร่างกายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้วัดประสิทธิภาพการตอบสนองดังกล่าวจากการตรวจเลือดและอุจจาระ ไม่ได้พิจารณาปัจจัยอื่นที่แสดงว่าเด็กมีภูมิคุ้มกันดีขึ้นจริงและชัดเจนกว่า เช่น พิจารณาว่าเด็กป่วยเป็นไข้หวัดน้อยลงหรือไม่หลังรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของบัวหิมะ ผลการศึกษานี้จึงอาจชี้ให้เห็นว่าระดับสารภูมิคุ้มกันร่างกายของเด็กเพิ่มขึ้นหลังเข้ารับการทดลอง แต่ไม่อาจสรุปได้ว่าบัวหิมะมีสรรพคุณในการเสริมสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกาย

รับประทานบัวหิมะอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

มีการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณของดอกบัวหิมะและผลบัวหิมะอย่างหลากหลาย โดยผลการศึกษาของงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นสรรพคุณของบัวหิมะทั้ง 2 ชนิด อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการรับประทานดอกบัวหิมะเพื่อหวังสรรพคุณทางยาดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน เนื่องจากยังไม่ปรากฏงานวิจัยที่ศึกษาคุณประโยชน์ของดอกบัวหิมะที่ส่งผลต่อคนโดยตรง จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าดอกบัวหิมะจะรักษาโรคได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ดอกบัวหิมะอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิด หรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อภาวะสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

ส่วนผู้ที่ต้องการบริโภคผลบัวหิมะเพื่อบำรุงสุขภาพก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเช่นกัน โดยควรจำกัดปริมาณที่ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับคุณประโยชน์อย่างปราศจากผลข้างเคียง เนื่องจากยังปรากฏแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับผลข้างเคียงและปริมาณบัวหิมะที่เหมาะสมไม่มากนัก

งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้สูงอายุที่บริโภคแป้งบัวหิมะแช่แข็งแห้ง ซึ่งผสมสาร Fructooligosaccharides 7.4 กรัม เป็นเวลา 9 สัปดาห์ มีระดับกลูโคสลดลงโดยปราศจากผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นที่เปรียบเทียบคุณสมบัติของโสมเปรูหรือมาคา (Maca) และผลบัวหิมะ พบว่าผู้ที่รับประทานอาหารเสริมผลบัวหิมะผสมยาไซลิมารินในอัตราส่วนวันละ 2.4 กรัม ต่อ 0.8 กรัมต่อวัน ไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ ตามมา จะเห็นได้ว่าการรับประทานผลบัวหิมะเพื่อหวังสรรพคุณทางยานั้นต้องคำนึงถึงปริมาณที่ได้รับเป็นสำคัญ เนื่องจากงานวิจัยที่ยกมานี้ต่างระบุปริมาณของผลบัวหิมะที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง อาจกล่าวได้ว่าอาหารเสริมผลบัวหิมะอาจเป็นสารอาหารที่มีสรรพคุณทางยาหากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม