น้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) คือ ภาวะที่น้ำตาลภายในเลือดหรือกลูโคส (Glucose) อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติ อย่างใจสั่น ตัวเย็น เหงื่อออก และหมดสติ ในบางกรณีอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายร้ายแรง และหากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดขณะตั้งครรภ์ก็อาจส่งผลต่อทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ พบได้ 3 รูปแบบหลัก ๆ รูปแบบแรกเป็นผลมาจากโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) รูปแบบที่สองเกิดจากโรคเบาหวานที่เป็นโรคประจำตัวของคุณแม่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รูปแบบที่สามคือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ในคุณแม่ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด คุณแม่ควรรู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการและวิธีรับมือกับผลกระทบจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ 

น้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน

น้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์เป็นอันตรายไหม?

ในทางการแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยว่าคุณแม่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ก็ต่อเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ภาวะดังกล่าวอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อไปนี้

  • ใจสั่นและชีพจรเต้นเร็ว
  • เหงื่อออกมาก ตัวซีด
  • รู้สึกหิวมากกว่าปกติ
  • มือสั่น ตัวสั่น
  • ชาบริเวณรอบปาก
  • เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
  • รู้สึกเครียด หงุดหงิด หรือสับสน
  • อ่อนเพลีย และตาพร่ามัว

โดยทั่วไปภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์มักไม่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ อาการเหล่านี้อาจดีขึ้นเองเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนอยู่ในระดับปกติ โดยอาจมาจากการรับประทานอาหารหรือการใช้ยาเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด แต่หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์รุนแรงก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายทั้งต่อคุณแม่และทารกแรกเกิดที่มีภาวะดังกล่าวหลังคลอด เช่น ชัก หมดสติ โคม่า หรือเสียชีวิต เป็นต้น

แม้ว่าภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ชนิดไม่รุนแรงจะดีขึ้นเองได้ แต่งานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งชี้ว่า หากคุณแม่เป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ต้องพึ่งพาอินซูลินอาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำชนิดรุนแรง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของความผิดปกติด้านพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตอาการและความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่เสมอ

น้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร? 

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์นั้นพบได้ทั่วไป แต่หากคุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือมีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัวตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ก็อาจมีความเสี่ยงของภาวะดังกล่าวมากขึ้น ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์หรือสัญญาณของโรคเบาหวาน อย่างปัสสาวะบ่อยขึ้น กระหายน้ำ และรู้สึกเหนื่อยอย่างรุนแรง คุณแม่ควรไปพบแพทย์

ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ได้ แต่พบว่าพฤติกรรมและปัจจัยบางอย่างสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น

  • ใช้ยาโรคเบาหวานมากเกินไป

พฤติกรรมนี้อาจเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ โดยปกติ แพทย์จะสั่งจ่ายยาโรคเบาหวาน ทั้งในรูปแบบยารับประทานหรือยาฉีดให้กับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งยานี้จะออกฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารไม่ให้พุ่งสูงจนเป็นอันตราย แต่ในทางกลับกัน การใช้ยาเกินขนาดและการใช้ยาโรคเบาหวานบางชนิดอย่างไม่ถูกวิธีก็อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงจนเกิดภาวะนี้

  • รับประทานอาหารไม่เพียงพอ

ในขณะตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่ต้องใช้พลังงานมากขึ้นในการอุ้มท้อง และต้องแบ่งพลังงานให้กับเจ้าตัวน้อยในครรภ์ด้วย ดังนั้นการรับประทานอาหารน้อยเกินไปหรือลืมรับประทานอาหารก็อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ

  • ออกกำลังกายหนักเกินไป

แม้ว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้คุณแม่แข็งแรงและลดอาการกวนใจจากการตั้งครรภ์ได้ แต่การออกกำลังกายจะดึงน้ำตาลในเลือดเพื่อแปลงไปเป็นพลังงาน ดังนั้น เมื่อออกกำลังกายหนักหรือต่อเนื่องนานเกินไปก็อาจส่งผลน้ำตาลในเลือดค่อย ๆ ลดลงและเกิดภาวะดังกล่าวได้ในที่สุด

นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำทางอ้อม อย่างอาการแพ้ท้องในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และอาการป่วยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้รู้สึกเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อย หรือทำให้คลื่นไส้อาเจียนจนส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

วิธีรับมือและป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์

แม้ว่าส่วนใหญ่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจะไม่เป็นอันตรายต่อทารก หากรู้สึกถึงความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของน้ำตาลในเลือดต่ำ คุณแม่ควรหาที่นั่งพักเพื่อลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุจากการเป็นลม และรับมือด้วยวิธีต่อไปนี้ เพื่อป้องกันอาการที่อาจรุนแรงขึ้น

1. เพิ่มน้ำตาลในเลือดทันที

อย่างที่ได้พูดถึงไปเล็กน้อยว่าน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต อย่างแป้งและน้ำตาล ซึ่งน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมได้เร็วกว่าแป้งจึงทำให้เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วกว่า เมื่อรู้สึกว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ คุณแม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล อย่างลูกอม น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง และขนมอื่น ๆ ที่มีน้ำตาล รวมทั้งควรพกอาหารหรือเครื่องดื่มเหล่านี้ติดตัวไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

แต่ทว่าการรับประทานน้ำตาลมากไปอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน ดังนั้น คุณแม่ควรเตรียมอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 15–20 กรัมต่อหน่วยบริโภคเพื่อความปลอดภัยในการรับประทานและความสะดวกในการใช้ เช่น น้ำส้มคั้น 180 มล.(มิลลิลิตร) น้ำอัดลม 180 มล. นมสด 240 มล. หรือกล้วย 1 ผล

สำหรับคุณแม่ที่อาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายกลูคากอน (Glucagon) ที่ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด กลูคากอนมักมาในรูปของเข็มฉีดยาแบบปากกาเพื่อสะดวกต่อการใช้ ดังนั้น หากแพทย์สั่งจ่ายกลูคากอน คุณแม่ควรพกติดตัวไว้เสมอ

หากคุณแม่มีเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หลังรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มเพื่อปฐมพยาบาล หรือหลังใช้ยากลูคากอนราว 15 นาที ควรเจาะวัดระดับน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ หรือคุณแม่อาจจำเป็นต้องทำซ้ำจนกว่าน้ำตาลในเลือดจะเข้าสู่ระดับปกติ

2. ตรวจน้ำตาลในเลือด

สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวาน แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ใช้เครื่องตรวจวัดน้ำตาล ซึ่งมักจะใช้เจาะเลือดจากปลายนิ้วเพื่อตรวจระดับน้ำตาลภายในเลือด โดยความถี่ในการตรวจอาจแบ่งตามชนิดของโรคเบาหวาน ดังนี้

  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรตรวจเลือดในช่วงก่อนและหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ
  • โรคเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ควรตรวจเลือดทั้งช่วงก่อนและหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ รวมทั้งก่อนนอน

เกณฑ์ปกติของระดับน้ำตาลแต่ละช่วงมีดังนี้

  • ก่อนอาหารเช้าและก่อนนอน ระหว่าง 60–95 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • หลังอาหาร 1 ชั่วโมง น้อยกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • หลังอาหาร 2 ชั่วโมง น้อยกว่า 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • เวลา 02.00–04.00 น. มากกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

3. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

ไม่ว่าคุณแม่จะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ คุณแม่ควรดูแลตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ เท่าที่สามารถทำได้ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ รับประทานแป้งและน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวาน ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด รักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และควันบุหรี่

4. ทำตามคำแนะนำของแพทย์

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์และไปพบแพทย์ แพทย์จะแนะนำวิธีดูแลตนขณะตั้งครรภ์ให้กับคุณแม่ และอาจสั่งจ่ายอาหารเสริมเพื่อบำรุงครรภ์ คุณแม่ควรดูแลตนเองตามที่แพทย์แนะนำ ใช้อาหารเสริมตามที่แพทย์สั่ง และไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอาจจำเป็นต้องดูแลตนเองมากกว่าคุณแม่คนอื่น ๆ หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตนเอง มีวินัยในการรับประทานอาหาร ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตามที่แพทย์แนะนำ และใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

เพียงเท่านี้คุณแม่ก็สามารถรับมือและลดความเสี่ยงของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าหากคุณแม่พบอาการผิดปกติของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อย่างใจสั่น มือสั่น ตัวสั่น

เหงื่อออกมาก ตัวซีด และชาบริเวณรอบปาก หรืออาการของการเจ็บป่วยอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างเหมาะสม