เป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ รับมืออย่างไร เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย ?

สำหรับผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน อาจต้องวางแผนการตั้งครรภ์ให้ดี ดูแลตนเองเป็นพิเศษ และควรได้รับการรักษาควบคุมอาการจากแพทย์อย่างใกล้ชิดก่อนตั้งครรภ์ เพราะการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยและทารกในครรภ์ โดยทั่วไป แม้คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานจะคลอดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติ แต่หากควบคุมอาการป่วยไม่ดี โรคเบาหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดปัญหาสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น แท้งบุตร เด็กพิการ หรือเด็กตัวใหญ่เกินมาตรฐาน เป็นต้น

เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ rs
ความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานและทารกในครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 หรือ 2 อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรและคลอดบุตรยาก เนื่องจากทารกในครรภ์อาจมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติซึ่งทารกทั่วไปจะมีน้ำหนักแรกเกิดหลังคลอดประมาณ 2.5-4 กิโลกรัม หากผู้ป่วยประสบปัญหานี้ แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยคลอดก่อนกำหนดหรือผ่าท้องคลอด นอกจากนี้ โรคเบาหวานอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนี้

  • ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า หรือพิการแต่กำเนิด  
  • ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเสียชีวิตหลังคลอด
  • ทารกมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้นหลังคลอด โดยเฉพาะปัญหาหัวใจและระบบประสาท เช่น มีปัญหาด้านการหายใจ น้ำตาลในเลือดต่ำ หัวใจทำงานผิดปกติ เป็นต้น
  • ทารกมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน หรือโรคเบาหวานเมื่อโตขึ้น

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์อย่างไร ?

ผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานควรเตรียมตัวรับมือกับการตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง ดังนี้

พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เป็นขั้นตอนแรกของการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ โดยแพทย์อาจพูดคุยและให้คำแนะนำต่อไปนี้

  • ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยวางแผนการตั้งครรภ์กับสูตินรีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านภาวะครรภ์เสี่ยง ผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน นักโภชนาการ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • รักษาอาการแทรกซ้อน หากผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะความดันโลหิตสูง หรือมีสัญญาณปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจ ตา เส้นประสาท ไต หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากโรคเบาหวาน ควรได้รับการรักษาหรือควบคุมอาการของโรคก่อนการตั้งครรภ์ เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อสุขภาพขณะตั้งครรภ์ได้
  • เปลี่ยนยา ก่อนตั้งครรภ์แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนจากการรับประทานยาเป็นการฉีดอินซูลิน หรือปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาด้วยวิธีอื่น รวมทั้งอาจปรับเปลี่ยนยาที่ใช้บางชนิดหากผู้ป่วยกำลังใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วย

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เป็นวิธีป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดช่วง 2-3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อให้มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับคนปกติ หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีในช่วงสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตร และอาจส่งผลกระทบต่อสมอง ไขสันหลัง และหัวใจของทารก ซึ่งเป็นเหตุให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้

ควบคุมน้ำหนัก พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนตั้งครรภ์ เพราะการลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ส่วนการเพิ่มน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดปัญหาทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยได้

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถรับประทานอาหารเพื่อเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ได้ตามปกติ รวมทั้งควรรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชร่วมด้วย หากมีปัญหาการควบคุมระดับน้ำตาลหรือต้องการลดน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ ควรปรึกษานักโภชนาการเพื่อวางแผนกำหนดปริมาณและสารอาหารต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับภาวะของผู้ป่วย

เลิกสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อตัวคุณแม่และทารกทั้งก่อนคลอด ขณะคลอด และหลังคลอด เนื่องจากสารนิโคติน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และสารพิษอื่น ๆ ในบุหรี่จะถูกดูดซึมสู่ร่างกายผ่านกระแสเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่และทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน ทารกมีจังหวะการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น ทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย เพิ่มโอกาสภาวะแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด หรือทารกเสียชีวิตก่อนคลอด และอาจทำให้ทารกมีแนวโน้มเผชิญปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและการหายใจ ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด และอาจมีภาวะปัญญาอ่อนได้

รับประทานวิตามินเตรียมตั้งครรภ์ ก่อนตั้งครรภ์ 1 เดือน ว่าที่คุณแม่ควรรับประทานวิตามินรวมที่มีส่วนประกอบของกรดโฟลิคอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อลดความเสี่ยงของทารกไม่ให้เผชิญภาวะพิการทางสมอง ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติของแขนขา ปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ และภาวะไม่มีรูทวารหนัก โดยกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้รับประทานกรดโฟลิคปริมาณ 400 ไมโครกรัมเป็นประจำทุกวันก่อนตั้งครรภ์และตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถหาซื้อวิตามินดังกล่าวได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้วิตามินและอาหารเสริมใด ๆ เสมอ

ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายด้วยแอโรบิกระดับปานกลางตามแบบที่ตนชื่นชอบและสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน เช่น เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการฉีดอินซูลิน นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ต้องใช้อินซูลินแบบปั๊มเพื่อปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกายควรปรึกษาแพทย์ถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย

จัดการความเครียด ภาวะเครียดอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้น ควรรับมือควบคุมความเครียดให้ดีขณะเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวผู้ป่วยเองและทารกในครรภ์ในอนาคต

คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานกับการคลอดบุตร

ในขณะคลอดบุตร แพทย์จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างเจ็บท้องคลอด เพื่อให้การคลอดบุตรเป็นไปอย่างปลอดภัย ดังนั้น ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือกับทีมแพทย์ เพื่อช่วยให้การคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น โดยกำลังใจจากคนรักจะช่วยคลายความกังวลของคุณแม่ระหว่างคลอดได้ ซึ่งอาจให้สามีหรือญาติสนิทอยู่เป็นกำลังใจในห้องคลอดได้ตามดุลยพินิจของแพทย์

หลังคลอดบุตร ควรให้ลูกดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าการให้นมบุตรสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานของทารกได้ และคุณแม่ควรดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีหลังคลอด โดยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมด้วยการออกกำลังกายแต่พอดี และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ