นอนอ้าปาก สาเหตุ ความเสี่ยง และวิธีดูแลรักษา

นอนอ้าปากเป็นอาการหายใจทางปากขณะนอนหลับ บางคนอาจน้ำลายไหล และมีอาการคอแห้งเมื่อตื่นนอนด้วย การนอนอ้าปากเกิดจากอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติในร่างกายบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถหายใจทางจมูกได้ตามปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

นอนอ้าปากเป็นอาการที่พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยทั่วไปมักเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวเมื่อมีอาการคัดจมูก ซึ่งทำให้หายใจทางจมูกไม่สะดวก และอาการนอนอ้าปากจะหายไปเมื่ออาการคัดจมูกหายดีแล้ว อย่างไรก็ตาม คนที่นอนอ้าปากบ่อย ๆ หรือเรื้อรังอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่ควรได้รับการรักษา

นอนอ้าปาก

อันตรายจากการนอนอ้าปาก

โดยปกติแล้ว คนเราควรหายใจเข้าและออกทางจมูก เนื่องจากภายในจมูกจะมีขนจมูกที่ช่วยกรองฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าสู่ทางเดินหายใจ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและปรับอุณหภูมิของอากาศที่จะเข้าสู่ปอดส่วนการหายใจทางปากเกิดขึ้นเฉพาะบางกรณี เช่น เมื่อออกกำลังกายอย่างหนักแล้วหายใจทางจมูกอย่างเดียวไม่ทัน หรือมีโรคบางอย่างที่ทำให้หายใจทางจมูกไม่สะดวก

อย่างไรก็ตาม การหายใจทางปากตลอดเวลาและการนอนอ้าปาก อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายด้านตามมา โดยในเด็กอาจทำให้ฟันเก ขากรรไกรและใบหน้าผิดรูป พักผ่อนไม่เพียงพอ และมีพัฒนาการที่ไม่เป็นไปตามวัย

ส่วนผู้ใหญ่ที่นอนอ้าปากอาจทำให้เกิดปัญหาปากแห้งอย่างรุนแรง มีกลิ่นปาก ฟันผุ มีโรคเหงือก พูดไม่ชัด เคี้ยวอาหารลำบาก นอนกรน เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือทำให้อาการของโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหืด รุนแรงขึ้นด้วย

สังเกตอาการนอนอ้าปาก

หลายคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองนอนอ้าปากแทนการหายใจทางจมูกในขณะหลับ ซึ่งคนที่นอนอ้าปากอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เหล่านี้

  • นอนกรน
  • ปากแห้ง คอแห้ง เสียงแหบ
  • น้ำลายไหล โดยอาจสังเกตเห็นที่มุมปาก คาง และปลอกหมอน
  • มีกลิ่นปาก
  • รู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม ตื่นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น อ่อนเพลียเรื้อรัง ง่วงนอนตอนกลางวัน
  • ความจำแย่ลง คิดอะไรไม่ค่อยออก ผลการเรียนและการทำงานแย่ลง
  • ขากรรไกรผิดรูป ฟันไม่สบกันดี ฟันเหยินหรือยื่น ทำให้พูดไม่ชัด และรูปหน้าผิดปกติ
  • ในเด็กอาจร้องไห้บ่อยตอนกลางคืน ต่อมทอนซิลโต และมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กคนอื่น

สาเหตุของการนอนอ้าปาก

การนอนอ้าปากเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. อาการคัดจมูก

นอนอ้าปากจากอาการคัดจมูกมักเกิดจากการคั่งของน้ำมูกภายในโพรงจมูก พบมากในผู้ที่เป็นหวัด และโรคติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ รวมไปถึงโรคภูมิแพ้ ทำให้หายใจทางจมูกไม่สะดวก และต้องหายใจทางปากช่วยในขณะหลับ เมื่อรักษาอาการคัดจมูกจากโรคเหล่านี้จนหายดี จะช่วยให้อาการนอนอ้าปากหายไปด้วย

2. ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต

ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ (Adenoids) ต่อมน้ำเหลืองในทางเดินหายใจส่วนบน อยู่บริเวณลำคอและหลังโพรงจมูก ทำหน้าที่ดักจับและกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ 

หากต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต จะทำให้หายใจไม่สะดวก ทำให้ต้องนอนอ้าปากเพื่อหายใจทางปากขณะหลับ รวมถึงมีอาการอื่น เช่น หายใจมีเสียง นอนหลับไม่เพียงพอ และหยุดหายใจขณะหลับ

3. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คือภาวะที่ทางเดินหายใจตีบแคบลงจากการหย่อนตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อในลำคอ ทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจเป็นช่วงสั้น ๆ ตลอดทั้งคืน ซึ่งความถี่และระยะเวลาของการหยุดหายใจแต่ละครั้งของผู้ป่วยจะแตกต่างกันไป รวมถึงมีอาการนอนอ้าปาก นอนกรน หลับไม่สนิท และสะดุ้งตื่นกลางดึก

4. ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated Nasal Septum)

ผนังกั้นช่องจมูกเป็นประกอบด้วยกระดูกและกระดูกอ่อนที่แบ่งโพรงจมูกออกเป็นฝั่งซ้ายและขวา แต่การเจริญของผนังกั้นช่องจมูกที่ผิดปกติแต่กำเนิด หรือการได้รับแรงกระแทกที่จมูก อาจทำให้ผนังกั้นช่องจมูดคดไปด้านใดด้านหนึ่งได้ และส่งผลให้การหายใจผ่านช่องจมูกไม่สะดวก มีอาการคัดจมูกง่าย และต้องนอนอ้าปาก เพื่อช่วยในการหายใจขณะหลับ

5. ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps) 

ริดสีดวงจมูกคือภาวะที่เยื่อบุโพรงจมูกหรือไซนัสโตผิดปกติ จนกลายเป็นก้อน หากมีขนาดใหญ่จะทำให้หายใจไม่สะดวก รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในรูจมูก คัดจมูก มีน้ำมูกไหล นอนอ้าปาก และนอนกรน

นอกจากนี้ การนอนอ้าปากอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ความเครียดและวิตกกังวลเรื้อรัง และความผิดปกติทางพันธุกรรมแต่กำเนิดที่ทำให้ไม่สามารถหายใจทางจมูกได้ตามปกติ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ และการอุดตันของรูบริเวณหลังโพรงจมูก (Choanal Atresia)

คำแนะนำในการรับมือกับอาการนอนอ้าปาก

การปรับพฤติกรรมบางอย่างจะช่วยบรรเทาและป้องกันอาการนอนอ้าปากได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ปรับเปลี่ยนท่านอน การนอนตะแคงอาจช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น เหมาะสำหรับคนที่มีอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่วนการนอนหงายจะช่วยลดอาการคัดจมูก และทำให้นอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น 
  • ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ เพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองสะสม และกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้และคัดจมูก
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศในห้องนอน เพื่อช่วยกรองฝุ่นละออง และช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นขณะหลับ
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือก่อนนอน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก โดยชะล้างน้ำมูกที่เหนียวข้นและสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก
  • ดื่มน้ำมาก ๆ อาบน้ำอุ่น หรือสูดไอน้ำร้อน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก
  • ฝึกหายใจทางจมูกในระหว่างวัน โดยสูดลมหายใจเข้าออกทางจมูกช้า ๆ ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยแก้นิสัยชอบหายใจทางปากได้
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย โยคะ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ และฟังเพลง 
  • ลดน้ำหนัก คนที่มีน้ำหนักตัวมากมักมีอาการนอนกรนและเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น สเปรย์หรือยาบรรเทาอาการคัดจมูก ยาแก้แพ้สำหรับผู้เป็นโรคภูมิแพ้

ทั้งนี้ บางคนเชื่อว่าการใช้เทปปิดปาก (Mouth Taping) หรือแผ่นแปะจมูก (Nasal Strip) ขณะหลับจะช่วยลดอาการนอนอ้าปากและนอนกรนได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาที่ยืนยันได้ว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะได้ผลจริง และยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น ระคายเคืองผิวหนัง และทำให้หายใจติดขัดได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

หากอาการนอนอ้าปากไม่ดีขึ้นหลังดูแลตัวเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาเพิ่มเติม เช่น ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ใช้เครื่องอัดแรงดันอากาศแรงดันบวก (CPAP) สำหรับคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และการผ่าตัดกรณีที่มีอาการรุนแรง หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับโครงสร้างจมูกที่ทำให้หายใจทางจมูกไม่สะดวก