ที่ทารักแร้ เลือกตัวช่วยกำจัดกลิ่นกายอย่างเหมาะสม

ที่ทารักแร้ คือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยระงับเหงื่อและลดกลิ่นกายบริเวณใต้วงแขน เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งที่ทารักแร้ที่วางขายทั่วไปในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น แบบแท่ง สเปรย์ โรลออน เจล ครีม โดยในแต่ละผลิตภัณฑ์อาจมีส่วนประกอบที่ช่วยระงับกลิ่นที่แตกต่างกัน

กลิ่นตัวเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการหลั่งเหงื่อของร่างกายรวมกับแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนัง โดยพบมากที่รักแร้และซอกพับอื่น ๆ การใช้ที่ทารักแร้จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดเหงื่อและกลิ่นกายใต้วงแขนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ทารักแร้

รู้จักประเภทของที่ทารักแร้

ที่ทารักแร้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามกลไกการออกฤทธิ์ในการระงับกลิ่นที่รักแร้ ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น (Deodorants) 

ที่ทารักแร้ประเภทนี้มักมีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ที่จะเปลี่ยนสภาพผิวให้มีความเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งช่วยกำจัดแบคทีเรียที่อาจทำให้ใต้วงแขนมีกลิ่นได้ และมักจะมีน้ำหอมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งช่วยกลบกลิ่นตัวให้จางลง โดยที่ไม่ได้ช่วยลดปริมาณเหงื่อ การใช้ที่ทารักแร้ประเภทนี้จะยังทำให้มีเหงื่อออกตามปกติ

2. ผลิตภัณฑ์ลดการหลั่งของเหงื่อ (Antiperspirants)

ที่ทารักแร้ประเภทนี้มีส่วนประกอบหลักคือ สารกลุ่มเกลืออะลูมิเนียม เช่น อะลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium Chloride) และอะลูมิเนียมเซอร์โคเนียม (Aluminium Zirconium) ซึ่งมีคุณสมบัติระงับและปิดกั้นการทำงานของต่อมเหงื่อ จึงป้องกันไม่ให้เหงื่อออกมาจากรูขุมขน เมื่อเหงื่อออกน้อยลงจะทำให้กลิ่นที่รักแร้ลดลงด้วย

หากใช้ที่ทารักแร้ที่หาซื้อได้ทั่วไปแล้ว ยังพบปัญหากลิ่นตัวแรง ควรไปปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดจากภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) แพทย์อาจสั่งจ่ายยาหรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป

การเลือกและวิธีใช้ที่ทารักแร้

ที่ทารักแร้มีหลายรูปแบบ เช่น โรลออน แท่ง ครีม สเปรย์ เจล ผง ซึ่งอาจเป็นผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นหรือลดการหลั่งเหงื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบางผลิตภัณฑ์อาจช่วยทั้งระงับกลิ่นและลดการหลั่งเหงื่อได้ในผลิตภัณฑ์เดียวกัน ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวกและความชอบของแต่ละคน โดยแนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่แห้งเร็ว และไม่ทิ้งคราบขาวหรือเหลืองบนเสื้อผ้า

โดยวิธีใช้ที่ทารักแร้ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพคือ ทาที่ทารักแร้ที่ผิวใต้วงแขนประมาณ 2–4 ครั้ง หลังจากหลังอาบน้ำด้วยสบู่ที่อ่อนโยนหรือสบู่ฆ่าเชื้อและเช็ดบริเวณใต้วงแขนจนแห้งดีแล้ว จากนั้นรอให้แห้งแล้วจึงสวมเสื้อผ้า เมื่อใช้เสร็จให้ปิดฝาให้สนิท เก็บในที่แห้งและเย็น เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพ

กรณีที่ใช้ผลิตภัณฑ์ลดการหลั่งเหงื่อ ควรใช้ก่อนนอนหลังอาบน้ำ เพราะร่างกายจะผลิตเหงื่อน้อยลงในขณะหลับ การใช้ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อก่อนนอนจะช่วยให้ที่ทารักแร้สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังและช่วยระงับเหงื่อได้ดีขึ้น

ข้อควรระวังในการใช้ที่ทารักแร้

การใช้ที่ทารักแร้อาจทำให้บางคนเกิดอาการระคายเคือง เนื่องจากรักแร้เป็นบริเวณที่ผิวบอบบาง โดยมีข้อแนะนำในการเลือกใช้ที่ทารักแร้เพื่อป้องกันการเกิดอาการระคายเคือง มีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ที่ทารักแร้ที่มีส่วนผสมของสารผลัดเซลล์ผิว เช่น AHA และสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ พาราเบน และน้ำหอม โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย หรือมีโรคผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ (Eczema) 
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ลดการหลั่งของเหงื่อที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของการอุดตัน และการเกิดซีสต์ที่รักแร้ จึงควรล้างออกให้สะอาดและขัดผิวบริเวณรักแร้เป็นประจำ
  • หากใช้ที่ทารักแร้แล้วมีอาการระคายเคือง เช่น ผิวแดง แสบร้อน มีตุ่มแดงขึ้นที่รักแร้ อาจเป็นอาการของโรคผื่นระคายสัมผัส ควรไปพบแพทย์และตรวจหาสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ที่ทารักแร้ที่มีสารเหล่านี้
  • ผู้มีโรคต่อมเหงื่ออักเสบ (Hidradenitis Suppurativa) ไม่ควรใช้ที่ทารักแร้ที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียม เพราะอาจทำให้ต่อมเหงื่ออักเสบรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ บางคนอาจกังวลว่าการใช้ที่ทารักแร้ที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ และมะเร็งเต้านม ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ชี้ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการใช้ที่ทารักแร้ที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมอาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์และมะเร็งเต้านม

นอกจากการใช้ที่ทารักแร้ ควรดูแลความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง และหลังออกกำลังกาย โดยอาจใช้สบู่ที่อ่อนโยนหรือสบู่ที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี กำจัดขนรักแร้ และหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีกลิ่นฉุน ซึ่งจะช่วยลดกลิ่นตัวได้ดีขึ้น