กลิ่นตัวคืออะไรและจัดการได้อย่างไร

กลิ่นตัว คือกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่มักเกิดขึ้นในช่วงวัยหนุ่มสาว เป็นผลมาจากต่อมเหงื่อที่ทำงานมากขึ้น เพื่อควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมากโดยเฉพาะที่บริเวณรักแร้ ฝ่ามือ เท้า หรือขาหนีบในระหว่างออกกำลังกาย รวมถึงการทำกิจกรรมในที่ที่มีอากาศร้อน เมื่อเหงื่อสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังจึงทำให้เกิดกลิ่นตัวหรือกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น

กลิ่นตัว

สาเหตุของการเกิดกลิ่นตัว

ผิวหนังของมนุษย์จะประกอบไปด้วยต่อมเหงื่อที่สำคัญ 2 ต่อมด้วยกัน คือต่อมเอกไครน์ และต่อมอะโพไครน์ ซึ่งแต่ละต่อมจะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ต่อมเอกไครน์ (Eccrine Gland) เป็นต่อมที่อยู่บนผิวหนัง มีหน้าที่ผลิตเหงื่อเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเพื่อคลายความร้อนในร่างกาย ในเหงื่อจะมีน้ำและเกลือเป็นส่วนประกอบหลัก และจะระเหยเมื่ออุณหภูมิในร่างกายเย็นตัวลง
  • ต่อมอะโพไครน์ (Apocrine Gland) เป็นต่อมที่อยู่ในบริเวณที่มีขนขึ้นมาก เช่น รักแร้ หรือขาหนีบ จะผลิตของเหลวสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมออกมาเมื่อเกิดความเครียด และเมื่อสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังจะทำให้เกิดกลิ่นขึ้น

รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว เช่น เพศชายในช่วงเข้าสู่วัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีเหงื่อออกมากและทำให้เกิดกลิ่นตัวได้มากกว่าเพศหญิง การมีน้ำหนักตัวเกิน การรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรงหรืออาหารที่มีรสเผ็ด การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้า ภาวะร่างกายหลั่งเหงื่อมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) ภาวะสุขภาพบางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดกลิ่นตัวที่แตกต่างกันออกไปได้ เช่น กลิ่นคล้ายผลไม้จะเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน กลิ่นคล้ายสารฟอกขาวอาจเป็นสัญญาณของโรคตับหรือโรคไต เป็นต้น

วิธีการป้องกันและกำจัดกลิ่นตัว การมีเหงื่อออกมากและกลิ่นตัวเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเอง โดยปกติกลิ่นตัวสามารถจัดการได้ด้วยการกำจัดแบคทีเรียบนผิวหนังที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว โดยเฉพาะที่บริเวณรักแร้ให้สะอาดและไม่เปียกชื้น โดยสามารถรักษากลิ่นตัวให้หายได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก ทำความสะอาด และกำจัดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง หลังอาบน้ำควรเช็ดตัวให้แห้ง เพราะแบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีความเปียกชื้น
  • ดูแลความสะอาดของรักแร้ รักแร้เป็นอวัยวะที่มีต่อมอะโพไครน์เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว ควรอาบน้ำและทำความสะอาดบริเวณรักแร้ให้สะอาดโดยใช้สบู่ หรือผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงเล็มหรือโกนขนรักแร้เป็นประจำ เพื่อทำให้เหงื่อระเหยได้ไวขึ้น ลดการสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรีย และควรดูแลใต้วงแขนเสมอให้แห้งจะช่วยลดการเกิดกลิ่นตัวได้
  • สารระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium Chloride) เพื่อลดการผลิตเหงื่อ ซึ่งหากสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดกลิ่นตัว โดยทาที่รักแร้เป็นประจำทุกคืนในช่วงก่อนเข้านอนแล้วล้างออกในตอนเช้า หากปริมาณเหงื่อลดลงอาจปรับการใช้งานเป็นวันเว้นวัน หรือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ยาดับกลิ่นตัว (Deodorant) จะช่วยกำจัดกลิ่นตัว แต่ไม่สามารถลดการผลิตเหงื่อได้ ยาระงับกลิ่นตัวส่วนใหญ่จะมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งจะปรับสภาพผิวให้มีความเป็นกรดมากขึ้น และลดการเกิดปฏิกิริยากับแบคทีเรีย หรือยาระงับกลิ่นตัวที่มีส่วนผสมของน้ำหอมจะช่วยปกปิดกลิ่นเหงื่อหรือกลิ่นตัวได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด หมั่นทำความสะอาดเสื้อผ้าเป็นประจำ ไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำโดยไม่ซัก เปลี่ยนชุดหลังออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก รวมถึงเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน หรือผ้าไหม จะช่วยระบายอากาศและทำให้เหงื่อระเหยได้ไวขึ้น
  • ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน หรืออาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หัวหอม ผงกระหรี่ หรือเนื้อแดง จะสามารถซึมออกมาทางรูขุมขน ทำให้เหงื่อมีกลิ่น และเกิดกลิ่นตัวได้
  • ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ความเข้มข้น 3% ผสมน้ำ 1 ถ้วยแล้วเช็ดในบริเวณที่มีกลิ่นตัว เช่น รักแร้ หรือขาหนีบ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว
  • ปรึกษาแพทย์ หากพบว่ามีเหงื่อหรือกลิ่นตัวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือพบว่ามีเหงื่อออกมากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติในร่างกายที่เรียกว่าภาวะหลั่งเหงื่อมาก (Hyperhidrosis) หรือเป็นผลมาจากการใช้ยาบางชนิด เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป